แพทย์ผิวหนังเตือนสักบริเวณใกล้ตาเสี่ยงอันตรายต่อดวงตาและติดเชื้อ

28 เม.ย. 2565 | 13:27 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2565 | 20:42 น.
1.4 k

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง เตือนสักบริเวณใกล้ตาเสี่ยงอันตรายต่อดวงตาและเสี่ยงต่อการเกิดแผลหรือมีการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนตามมาได้

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวเผยแพร่ว่า วัยรุ่นสักบริเวณขอบตาล่างหรือบริเวณใกล้ดวงตา เป็นการสักแบบแฟชั่น หรือความสวยงามนั้น มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของดวงตามีโอกาสเกิดการติดเชื้อได้ ทั้งระหว่างการสักหรือหลังการสัก โดยเฉพาะถ้าการดูแลแผลหลังการสักทำได้ไม่ดีพอ หรือทำความสะอาดไม่ถูกสุขลักษณะ เครื่องมือหรือเข็มที่ใช้สักไม่สะอาดและไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน ซึ่งส่วนใหญ่การติดเชื้อบริเวณที่เป็นแผลมักเป็นจากเชื้อแบคทีเรีย

 

โดยมีอาการอักเสบ ปวดบวมแดงร้อนเฉพาะจุด หรือเป็นตุ่มหนอง นอกจากนี้ยังสามารถพบการติดเชื้อไวรัสได้เช่นเดียวกันได้แก่ เริม เชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี และเชื้อไวรัส HIV เป็นต้น จึงควรตัดสินใจด้วยความระมัดระวังก่อนการสักทุกครั้ง เพราะอาจมีอันตรายหรือภาวะแทรกซ้อนจากการสักได้

 

ขณะที่แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสักเป็นการทำให้ผิวหนังเกิดบาดแผลและมีเลือดออก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมา ทั้งการติดเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อไวรัส นอกจากนี้อาจพบการแพ้สีที่ใช้สัก มีโอกาสเกิดแผลเป็นนูนคีลอยด์ เกิดก้อนเนื้อที่เรียกว่า แกรนูโลมา ซึ่งเป็นการเกิดปฏิกิริยาของร่างกายที่มีต่อสีที่ใช้สักซึ่งร่างกายถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม

ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่สักจำนวนมากมี การเปลี่ยนใจหรือเสียใจที่สัก ทำให้ต้องมาลบรอยสักซึ่งใช้ทั้งเวลาในการลบและต้องลบหลายครั้ง ทำให้เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก จึงควรพิจารณาให้ดีก่อนทำการสัก

 

 

เตือนสักขอบตา

 

อันตรายจากการสัก

การติดเชื้อ

  • เชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีอาการ ปวดบวมแดงร้อนหรือมีตุ่มหนอง
  • การติดเชื้อมัยโคแบคทีเรียที่ไม่ใช่เชื้อวันโรค

(nontuberculous mycobacteria, NTM)

  • เชื้อไวรัส เช่น ไวรัสตับอักเสบบีและซี ไวรัส HIV

อาการแพ้สีที่ใช้สัก

  • พบลักษณะมีผื่นแดงคันบริเวณรอยสัก

อาการทางผิวหนังอื่นๆ

  • แผลเป็นนูน หรือคีลอยด์
  • ตุ่มนูนแกรนูโลมา ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่มีต่อสีที่ใช้ สักซึ่งร่างกายถือว่าป็นสิ่งแปลกปลอม

คำแนะนำ

  • มีผู้ที่สักจำนวนมากมีการเปลี่ยนใจหรือเสียใจที่สัก ทำให้ต้องมาลบรอยสักซึ้งใช้ทั้งเวลาในการลบและต้อง
  • ลบหลายครั้ง ทำให้เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก
  • จึงควรพิจารณาให้ดีก่อนสัก.

 

กรมการแพทย์