ทำความรู้จัก โรคไข้หวัดนก หลังจีนพบการติดเชื้อสายพันธุ์ H3N8 ในมนุษย์

27 เม.ย. 2565 | 15:08 น.
อัปเดตล่าสุด :27 เม.ย. 2565 | 21:22 น.
1.5 k

ทำความรู้จัก โรคไข้หวัดนก (Avian Influenza) หลัง จีน พบการติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H3N8 ในมนุษย์เป็นครั้งแรก

สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้รายงานล่าสุดว่า จีน ยืนยันพบการติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H3N8 ในมนุษย์เป็นรายแรก โดยผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธ์ H3N8  เป็นเด็กชายวัยเพียง 4 ขวบ ที่ติดเชื้อจากการสัมผัสไก่ที่เลี้ยงไว้ แต่โอกาสที่จะแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นเป็นไปได้ยาก

 

ทำความรู้จักไข้หวัดนก


โรคไข้หวัดนกคืออะไร

  • โรคไข้หวัดนกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์ที่พบในนกและสัตว์ปีก โดยอาการและความรุนแรงของโรคขึ้นกับสายพันธุ์ของไวรัสและชนิดของสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ สายพันธุ์ที่มีความสำคัญคือ H5N1 ซึ่งทำให้สัตว์ปีกที่ติดเชื้อมีอาการรุนแรงและตายอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกในปี พ.ศ.2547-2549 แต่หลังจากปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมายังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกจนถึงปัจจุบัน

สัตว์ชนิดใดบ้างที่สามารถติดเชื้อไข้หวัดนก

  • ไข้หวัดนกสามารถติดต่อได้ในสัตว์ปีกทุกชนิด ทั้งที่เป็นสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง


โรคไข้หวัดนกติดต่อมาสู่คนได้อย่างไร

  • โรคไข้หวัดนกสามารถติดต่อจากสัตว์ปีกมาสู่คนได้ ทั้งจากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งจากสัตว์ปีกที่ป่วยโดยตรง เช่น อุจจาระ น้ำมูก น้ำลายของสัตว์ปีก หรือเกิดจากการสัมผัสสิ่งแวดล้อม พื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสจากสัตว์ปีกที่ป่วย สำหรับการติดต่อจากคนสู่คนมีโอกาสเกิดได้น้อยมาก 


ผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้หวัดนกมีอาการอย่างไร

  • ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดนก คือผู้ที่มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนก ในช่วง 14 วันก่อนมีอาการ
  • ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดนกมักมีอาการเด่นคือ ไข้ และอาการทางระบบทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่มีอาการไอและหายใจเหนื่อยหอบจากปอดอักเสบ ผู้ป่วยบางรายอาจพบภาวะแทรกซ้อนทางปอดรุนแรงคือระบบทางเดินหายใจล้มเหลว นอกจากนี้อาจพบอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย และอาจพบอาการทางระบบประสาท เช่น ซึม ชัก ในผู้ป่วยที่อาการรุนแรงมากจะมีภาวะการทำงานของหลายอวัยวะล้มเหลวและเสียชีวิตได้
  • กลุ่มผู้ป่วยที่มักจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิต คือ กลุ่มผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง  เบาหวาน โรคหัวใจ โรคตับ โรคไตเรื้อรัง เป็นต้น และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ 

ไข้หวัดนก


 

มีวิธีการวินิจฉัยโรคอย่างไร

  • แพทย์ที่ทำการตรวจรักษาผู้ป่วยที่สงสัยติดเชื้อไข้หวัดนก จะเก็บสิ่งคัดหลั่งจากทางเดินหายใจและอุจจาระ ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในส่วนภูมิภาค และห้องปฏิบัติการเครือข่าย ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



มีวิธีการรักษาอย่างไร

  • ผู้ป่วยที่สงสัยว่าติดเชื้อไข้หวัดนก ควรได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่โดยเร็วที่สุด นอกจากนี้โรงพยาบาลจะต้องมีแนวทางการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อโรค โดยหากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจะต้องใช้ห้องแยกโรค และใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกายอย่างเหมาะสม



การป้องกันทำได้อย่างไร

  • ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนก แต่แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
  • วิธีการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดนกที่ดีที่สุดคือ การหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกและสิ่งคัดหลั่งที่มาจากสัตว์ปีกโดยตรง หากมีการสัมผัสควรใช้สบู่ล้างมือให้สะอาด ส่วนผู้ที่ต้องทำงานกับสัตว์ปีกควรสวมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้ออย่างเหมาะสม เช่น หน้ากากปิดจมูก ถุงมือ แว่นตา รวมทั้งล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดภายหลังสัมผัสสัตว์ปีกหรือเสร็จจากการทำงาน
  • นอกจากนี้อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ในบุคคลที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดนก โดยไม่ได้ใส่อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม.

 

ที่มา: สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย