ศบค.ยังไม่ประกาศ“โควิด”เป็นโรคประจำถิ่น ชี้อัตราตายต้องต่ำกว่า 0.1%

22 เม.ย. 2565 | 14:35 น.
อัปเดตล่าสุด :22 เม.ย. 2565 | 21:35 น.
1.4 k

ศบค.เผยสถานการณ์โควิด-19 ในไทย พบ 21 จังหวัดยังเป็นขาขึ้น ขณะที่ 44 จังหวัด-กรุงเทพฯ "ทรงตัว" และมีเพียง 12 จังหวัดขาลง ยันยังไม่ประกาศเป็นโรคประจำถิ่น ต้องให้อัตราผู้เสียชีวิตต่ำกว่า 0.1% นาน 2 สัปดาห์ติดกัน

22เม.ย.65 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ถึงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยว่า 
 

ประเทศไทยมียอดติดเชื้อโควิดสูงอยู่ 2 ช่วง คือ เม.ย. 2564 และ ม.ค. 2565 ส่วนทิศทางขณะนี้คล้ายกำลังจะลง แต่ผู้เสียชีวิตยังทรงๆ เหมือนดูสูงขึ้นเล็กน้อย ส่วนสถานการณ์ปอดอักเสบยังอยู่เหนือเส้นคาดการณ์สีเขียว ใส่ท่อช่วยหายใจอยู่เหนือเส้นสีเหลือง และผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่เส้นสีเหลือง ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตยังไม่ได้รับวัคซีนและมีโรคประจำตัว

 

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.

 

"ประเทศไทยหลุดออกมาจากบัญชีที่เฝ้าระวังสูงๆ ของสหรัฐอเมริกา ยอดติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่  ล่าสุดวันนี้มีจำนวน 21,808 ราย เสียชีวิต 128 ราย กำลังรักษาตัว 190,780 ราย โดยผู้ที่มีอาการหนัก 1,985 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 913 ราย อัตราการใช้เตียงสีเหลืองและแดง 25.3% หรือ 1 ใน 4 เท่านั้น เนื่องจากใช้ระบบการดูแลแบบ “เจอ แจก จบ” ซึ่งดูแลแล้ว 1,777,974 คน ทำให้เตียงเหลืองและแดงมีเพียงพอ"

อย่างไรก็ดี การไปสู่โรคประจำถิ่นสำคัญอยู่ที่อัตราเสียชีวิต จะต้องต่ำกว่า 0.1% แต่เราอยู่ที่ 0.31% ซึ่งบางกลุ่มจังหวัดบางกลุ่มยังอยู่ในระยะการต่อสู้ เพราะเป็นช่วงขาขึ้น บางจังหวัดทรงตัว และบางจังหวัดขาลง แยกกลุ่มจังหวัดดังนี้

 

พบ 21 จังหวัดอยู่ในกลุ่มของตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ขาขึ้น   ที่ยังต้องต่อสู้กับการแพร่ระบาด ประกอบด้วย  จังหวัดลำพูน  แพร่ ลำปาง พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ สกลนคร บึงกาฬ เลยอุดรธานี ขอนแก่น นครพนม หนองคาย ยโสธร มหาสารคาม ศรีสะเกษ นนทบุรี นครนายก กาญจนบุรี และอุทัยธานี

 

ส่วนกลุ่มที่ 2 พบว่ามี 44 จังหวัด เริ่มทรงตัว ประกอบด้วย กรุงเทพ แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ น่าน เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ พะเยา พิจิตร ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สิงห์บุรี ลพบุรี ตาก สมุทรสงครามสมุทรสาคร ราชบุรี นครปฐม อ่างทอง  สระบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี พัทลุง พังงา ชุมพร ชลบุรี สมุทรปราการ มุกดาหาร ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ระยอง ปราจีนบุรี ตราด สระแก้ว หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครราชสีมา ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์

 

ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นช่วงขาลง พบว่ามี 12 จังหวัด ประกอบด้วย เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี กระบี่ ระยอง ตรัง นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สตูล สงขลา ยะลาปัตตานี และนราธิวาส                      

 

"การจะประกาศโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นนั้น อัตราผู้เสียชีวิตถือเป็นเรื่องที่สำคัญ จะต้องน้อยกว่า 0.1%เป็นรายสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ติดต่อกัน เราไปถึงระยะนั้นแล้วหรือยัง นั่นคือสิ่งที่ต้องพยายามทำให้อัตราผู้เสียชีวิตต่ำมากกว่านี้  เพื่อจะได้นำไปสู่การประกาศเป็นโรคประจำถิ่นต่อไป " นพ.ทวีศิลป์ กล่าวทิ้งท้าย