วัคซีนต้านโควิด19 ใหม่ของ Moderna ป้องกันโอมิครอนได้จริงหรือไม่ อ่านเลย

21 เม.ย. 2565 | 10:08 น.
อัปเดตล่าสุด :21 เม.ย. 2565 | 17:08 น.
9.7 k

วัคซีนต้านโควิด19 ใหม่ของ Moderna ป้องกันโอมิครอนได้จริงหรือไม่ อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยเผยผลทดลองประสิทธิภาพกับอาสาสมัคร

วัคซีนต้านโควิด19 มีการพัฒนามาอย่างต่อเยนื่อง  ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 (Covid-19) สายพันธุ์ดั้งเดิมจนมาถึงปัจจุบัน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อสู่กับการกลายพันธุ์ของโควิดได้

 

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ข่าวล่าสุด วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ของ Moderna ได้ผลดีกว่าวัคซีนเดิม 2.2 เท่าตัว

 

หลังจากที่บริษัทต่างๆ ได้วิจัยพัฒนาจนสามารถจดทะเบียนการฉีดวัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉิน(EUA) ได้เป็นจำนวนมาก และมีการฉีดวัคซีนไปแล้วนับหมื่นล้านโดส

 

แต่เนื่องจากไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคโควิด เป็นไวรัสสารพันธุกรรมเดี่ยว ซึ่งมีการกลายพันธุ์ได้ง่ายและบ่อยเป็นธรรมชาติ

 

ขณะนี้มีการกลายพันธุ์ไปแล้วมากกว่า 1000 สายพันธุ์ แม้จะมีเพียงไม่ถึง 10 สายพันธุ์ ที่มีลักษณะกระทบต่อการติดเชื้อและก่อความรุนแรง แต่ก็มีผลกระทบต่อประสิทธิผลของวัคซีนด้วย

 

ดังนั้นนโยบายของบริษัทวัคซีนต่างๆที่ผลิตวัคซีนรุ่นที่หนึ่ง โดยใช้สารพันธุกรรมของไวรัสดั้งเดิมหรือไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่น จึงมีการวิจัยพัฒนาต่อเนื่องกันมาโดยตลอด

โดยการพัฒนาวัคซีนแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ

 

  • พัฒนาเป็นวัคซีน 1 สายพันธุ์ แต่เป็นสารพันธุกรรมของไวรัสใหม่ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน

 

  • เป็นวัคซีนหลายสายพันธุ์ เช่น ในกรณีของ Moderna ที่ทำวัคซีน 2 สายพันธุ์ (Bivalent) โดยใช้สายพันธุ์เดิมบวกกับสายพันธุ์ใหม่

 

รายงานล่าสุดของ Moderna ซึ่งได้ทำวิจัยเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง วัคซีน 2 สายพันธุ์โดยใช้สารพันธุกรรมของไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่นรวมกับสายพันธุ์เบต้านั้น

 

วัคซีนต้านโควิด19 ใหม่ชนิด 2 สายพันธุ์ Moderna กันโอมิครอนได้หรือไม่

 

จากการทดลองในอาสาสมัคร 895 ราย โดย 300 ราย ฉีด 50 ไมโครกรัม และ 595 ราย ฉีดแบบ 100 ไมโครกรัม

 

พบว่าระดับภูมิคุ้มกันขึ้นสูงพอๆกันและมีผลข้างเคียงใกล้เคียงกัน

 

โดยเมื่อเปรียบเทียบระดับภูมิคุ้มกันต่อไวรัส Omicron (โอมิครอน) ของวัคซีนใหม่ (mRNA 1273.211) เทียบกับวัคซีนเดิม (mRNA 1273)
 

พบว่าวัคซีนใหม่มีประสิทธิผลภูมิคุ้มกัน (NAb) ต่อไวรัส Omicron สูงกว่าวัคซีนเดิม 2.20 เท่า ที่หนึ่งเดือนหลังฉีด และ 2.15 เท่า ที่หกเดือนหลังฉีด

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ วัคซีนสองสายพันธุ์ดังกล่าวซึ่งใช้สารพันธุกรรมของอู่ฮั่นกับเบต้า แต่สามารถรับมือกับไวรัสเดลตาและโอมิครอนได้ด้วย

 

โดยพบข้อเท็จจริงว่า วัคซีนใหม่ดังกล่าวซึ่งรวมสารพันธุกรรมของไวรัสเบต้า 9 ตำแหน่งที่กลายพันธุ์นั้น จะมี 4 ตำแหน่งที่ตรงกับของไวรัส Omicron

 

ในขณะเดียวกัน ทางผู้บริหารระดับสูงได้ให้ข่าวเพิ่มเติมว่า ทางบริษัทกำลังทดลองวัคซีนสองสายพันธุ์อีกชนิดหนึ่ง (mRNA 1273.214) ซึ่งเป็นการรวมสารพันธุกรรมของไวรัสอู่ฮั่นดั้งเดิมกับโอมิครอนเข้าด้วยกัน

 

คาดว่าวัคซีนใหม่ล่าสุดจะมีข้อมูลออกมาในกลางปีนี้ และน่าจะทำให้มีประสิทธิผลสูงขึ้นไปอีก เพราะวัคซีนใหม่นี้ จะครอบคลุมตำแหน่งการกลายพันธุ์มากถึง 32 ตำแหน่งในส่วนหนามหรือ S-protein ของ Omicron

 

นับเป็นการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่และยืดเยื้อ  ระหว่างความรู้ของมนุษย์ กับการเปลี่ยนแปลงของไวรัส ที่เกิดต่อเนื่องกันมานานกว่า 2 ปีแล้ว

 

คงต้องเอาใจช่วย และติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด