การรักษาโควิดที่บ้านต้องทำอย่างไร แบบไหนเข้าเกณฑ์ รัฐสนับสนุนอะไร อ่านเลย

20 เม.ย. 2565 | 15:19 น.
อัปเดตล่าสุด :20 เม.ย. 2565 | 22:19 น.
2.7 k

การรักษาโควิดที่บ้านต้องทำอย่างไร แบบไหนเข้าเกณฑ์ รัฐสนับสนุนอะไร อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ และแนวทางการปฎิบัติตัวของผู้ป่วย

การรักษาโควิดที่บ้าน (home isolation) เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการรักษาการติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) 

 

ทั้งนี้ เนื่องจากสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ที่ติดเชื้อง่าย ทำให้การแพร่ระบาดกระจายไปอย่างรวดเร็ว 

 

ล่าสุดประเทศไทยได้มีแนวทางการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นแบบผู้ป่วยนอก (Outpatient with Self Isolation : OPSI) หรือ เจอ แจก จบ ตั้งแต่ 1 มี.ค. 2565 เป็นทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับผู้ติดเชื้อ

 

สำหรับแนวทางดังกล่าวนี้่ เป็นมาตรการรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิดด้วยชุดตรวจ ATK หากผลเป็นบวก จะให้การรักษารูปแบบ ผู้ป่วยนอก หรือจะกล่าวก็คือไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่ให้ดูแลรักษาตัวที่บ้านหรือชุมชน (HI/CI) ซึ่งจะมีการให้ความรู้ในการดูแลแยกกักตัวเอง 

 

และแจกเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อกลับกรณีมีอาการมากขึ้น หรือมีข้อสงสัยที่ต้องการสอบถามกระบวนการเหล่านี้ ถือว่าได้เข้าสู่ระบบบริการสุขภาพเรียบร้อย โดยจะได้รับการดูแลติดตามประเมินอาการภายใน 48 ชั่วโมง
 

โดยแพทย์จะจ่ายยา 3 สูตร ได้แก่

 

  • ยารักษาตามอาการ เช่น วิตามินซี ยาลดไข้ ลดน้ำมูก แก้ไอ 
  • ยาฟ้าทะลายโจร
  • ยาฟาวิพิราเวียร์

 

อย่างไรก็ตาม การให้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจแพทย์ที่พิจารณาว่าจะให้ยาแบบใด ต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับคนไข้ 

 

การรักษาโควิดที่บ้านต้องทำอย่างไร

 

สำหรับกรณีผู้มีความเสี่ยงสูง ผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว สามารถใช้ระบบการดูแลดังกล่าวได้เช่นกัน แต่ต้องอยู่ที่การพิจารณาของแพทย์เป็นหลัก

 

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมี แนวคิดของ Home Isolation อยู่แล้ว เนื่องจากเตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพอ ประกอบกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล หรืออยู่โรงพยาบาลในระยะเวลาสั้น ๆ และไปพักฟื้นต่อที่บ้านหรือสถานที่ที่รัฐจัดให้

 

Home Isolation หรือการแยกกักตัวที่บ้านสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ในเกณฑ์ดังนี้

  • ผู้ป่วยโควิด-19 ที่กำลังรอ admit หรือรอเข้ารับการรักษาตัวที่ รพ. ซึ่งแพทย์พิจารณษแล้วว่า สามารถรักษาตัวที่บ้านได้
  • ผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวใน รพ. หรือสถานที่ที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 10 วันและแพทย์พิจารณาว่าสามารถทำ Home Isolation ต่อได้

ผู้ที่เข้าเกณฑ์ในการทำ Home Isolation

 

  • เป็นผู้ติดเชื้อที่สบายดี หรือไม่มีอาการ ( asymptomatic cases)
  • มีอายุน้อยกว่า 60 ปี
  • มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
  • ต้องไม่มีภาวะอ้วน หรือดัชนีมวลกาย >30 กก./ม.2 หรือ น้ำหนักตัว >90 กก.
  • ไม่มีโรคร่วม ดังต่อไปนี้ โรคปอกอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ,โรคไตเรื้อรัง (CKD ระยะที่ 3,4) โรคหัวใจและหลอดเลือด,โรคหลอดเลือดสมอง,โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ หรือโรคอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
  • อยู่คนเดียวหรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน
  • ยินยอมแยกตัวในที่พักของตัวเอง
     

การปฎิบัติตัวของผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อทำ Home Isolation

 

  • ห้ามออกจากที่พัก และห้ามผู้ใดมาเยี่ยมบ้าน
  • ห้ามเข้าใกล้หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่น โดยต้องเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร
  • แยกห้องพัก ของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น หากแยกไม่ได้ควรแยกให้ห่างจากผู้อื่นให้มากที่สุด และความเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท
  • ห้ามรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
  • สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หากไม่ได้อยู่คนเดียว
  • ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลทุกครั้งที่จำเป็นต้องสัมผัสกับของใช้ต่าง ๆ
  • แยกซักเสื้อผ้า และเครื่องนอน ด้วยน้ำและสบู่ หรือผงซักฟอก
  • ควรใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น
  • แยกขยะ โดยมัดปากถุงขยะให้แน่น

 

สิ่งที่ผู้ป่วยโควิด-19 จะได้รับการสนับสนุนเมื่อต้องทำ Home Isolation 

 

การรักษาโควิดที่บ้านต้องทำอย่างไร

 

อุปกรณ์ประเมินอาการ ได้แก่ ปรอทวัดไข้ และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือดแบบหนีบนิ้ว เพื่อประเมินการแลกเปลี่ยนก๊าซในปอดว่าปกติดีหรือไม่ ค่าปกติจะอยู่ที่ประมาณ 97-100% ถ้าตัวเลขอยู่ที่ 94% หรือต่ำกว่านั้น คืออยู่ในภาวะที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะมีแนวโน้มที่เชื้อโควิด-19 จะลงปอด

 

การประเมินอาการผ่านระบบเทเลเมด หรือ การนําเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากร ทางการแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้แบบ Real-timeโดยแพทย์และพยาบาลทุกวัน

 

การให้ยารับประทาน ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์

 

อาหารสามมื้อ

 

การติดตามประเมินอาการ และให้คำปรึกษา

 

หากมีอาการเปลี่ยนแปลงหรือแย่ลงให้แจ้งทีมแพทย์ และรีบนำส่งโรงพยาบาล

 

สิ่งสำคัญ คือ ต้องสังเกตอาการของตัวเอง วัดอุณหภูมิทุกวัน หากอาการแย่ลง เช่น หอบ เหนื่อย ไข้สูง ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ให้รีบติดต่อ รพ.ที่รักษาอยู่ 

 

ทางรพ.จะมีรถไปรับเพื่อนำส่งเข้ารับการรักษาที่ รพ. หรือหากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องเดินทางมา รพ.ด้วยตัวเอง แนะนำให้ใช้รถยนต์ส่วนตัว ไม่ใช้รถสาธารณะ 

 

และต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หากมีผู้ร่วมยานพาหนะไปด้วยให้เปิดหน้าต่างรถเพื่อเพิ่มการระบายอากาศ และเพื่อความปลอดภัยของผู้ที่เดินทางไปด้วย

 

ที่มา : โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์แนชั่นแนล หนองแขม