สงกรานต์ 2566 : เปิดขั้นตอน"สรงน้ำพระ"อย่างถูกวิธี พร้อมคาถาเสริมมงคล

12 เม.ย. 2566 | 21:09 น.
อัปเดตล่าสุด :12 เม.ย. 2566 | 21:34 น.
23.8 k

เปิดขั้นตอน"สรงน้ำพระ" อย่างถูกวิธี พร้อมคาถาเสริมสิริมงคล ต้อนรับปีใหม่ไทย"วันสงกรานต์ 2566" รวบรวมให้แล้ว ที่นี่

วันสงกรานต์ หรือประเพณีขึ้นปีใหม่ของไทย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ตรงกับเดือน 5  ของทุกปี และถือเป็นโอกาสที่สมาชิกในครอบครัวจะใช้เวลาว่างในช่วงวันหยุด "เทศกาลสงกรานต์" อยู่พร้อมหน้ากันและร่วมสืบสานประเพณีทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิการรดน้ำ การเข้าวัดทำบุญ และที่ขาดไม่ได้เลยคือการ "สรงน้ำพระ" เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับตัวเอง

 

“การสรงน้ำพระ” ศาสนาพุทธ ใช้คำว่า ถวายเครื่องเถราภิเษก หรือการทำความเคารพ การสรงน้ำพระด้วยจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ย่อมนำมาซึ่งผลบุญความสุขใจ เบิกบานใจ ความสะอาดของจิตใจ ความเป็นมงคลแก่ตนเอง และครอบครัว รวมถึงแผ่ผลบุญให้บรรพบุรุษ ญาติมิตร สรรพสัตว์และเจ้ากรรมนายเวรได้อีกด้วย

 

สรงน้ำพระ มี 2 แบบ คือ 

 

1.การสรงน้ำพระภิกษุสามเณร  อันเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าจะใช้แบบเดียวกับอาบน้ำ คือ การใช้ขันตักรดที่ตัวท่าน หรือที่ฝ่ามือ แล้วแต่ความนิยม นอกจากนี้ยังมีการถวายผ้าสบงหรือถวายผ้าไตรตามแต่ศรัทธาด้วย

 

2.การสรงน้ำพระพุทธรูป  ซึ่งอาจเป็นกรณีการสรงน้ำพระพุทธรูปที่อยู่ในบ้าน หรือการจัดเป็นขบวนแห่  และอัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานในที่ๆอันเหมาะ โดยการสรงน้ำพระจะใช้น้ำที่มีเครื่องหอม น้ำอบ  หรือน้ำปรุงต่าง ๆประพรมที่องค์พระ 

 

 

สงกรานต์ 2566 : เปิดขั้นตอน\"สรงน้ำพระ\"อย่างถูกวิธี พร้อมคาถาเสริมมงคล

วิธีสรงน้ำพระที่บ้าน และวิธีทำความสะอาดพระพุทธรูป มีดังนี้

 

1.ขั้นตอนอัญเชิญพระพุทธรูปมาเช็ดทำความสะอาด ให้กล่าวคำขอขมาก่อน เพื่อขอให้ท่านอภัยในสิ่งที่เราทำอาจไม่ถูกไม่ควร หรือเพื่อไม่ให้เกิดโทษภัยนั่นเอง  ซึ่งตามความเชื่อในบางบ้าน จะมีการเตรียมเครื่องขอขมาใช้ในการไหว้ ได้แก่ ขัน 5  ธูป 5 ดอก ดอกไม้ ขาว 5 คู่ เทียน ขาว 5 คู่ เงิน 5 บาท.หรือจะเพิ่มหมากพลู 5 คำ บุหรี่ 5 ตัว เป็นต้น

 

เริ่มด้วยการตั้งนะโม 3 จบ ก่อนกล่าวคำขอขมา

ระตะนัตตะเย ปะมาเทนะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง

สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ โน ภันเต

 

คำแปล : กายกรรม 3, วจีกรรม 4, มโนกรรม 3, ที่ข้าพเจ้าได้ประมาทพลาดพลั้งในพระรัตนตรัย ด้วยความตั้งใจก็ดี ไม่ตั้งใจก็ดี ต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี ขอพระรัตนตรัยได้โปรดยกโทษให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด

 

2.ขั้นตอนทำความสะอาดพระพุทธรูป เมื่อสวดขอขมากรรมเสร็จแล้ว อัญเชิญพระพุทธรูปมาเช็ดทำความสะอาด ด้วยผ้าผืนใหม่หรือฟองน้ำสะอาดทีละองค์ หากเป็น ‘กรอบรูป’ ให้ใช้ฟองน้ำชุบน้ำบิดหมาดทำความสะอาดแทน หากเป็น ‘พระเครื่อง’ ควรหากล่องเก็บใส่ไว้ให้เป็นระเบียบ

 

3.เมื่อทำความสะอาดเสร็จแล้ว ให้อัญเชิญพระพุทธรูปไปประดิษฐานชั่วคราวบนโต๊ะ โดยมีพานหรือถาดรอง และ ประดับโต๊ะด้วยดอกไม้หอม หรือพวงมาลัยให้สวยงาม

 

4.เตรียมเครื่องหอม โดยการโรยดอกไม้หอม พวงมาลัย น้ำหอม น้ำอบ หรือน้ำปรุง ใส่ในขันน้ำสะอาดไว้สำหรับสรงน้ำพระ

 

5.ทำความสะอาดที่ประดิษฐานองค์พระประจำบ้าน เช่น หิ้งพระ โต๊ะหมู่บูชา และสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับที่ประดิษฐานองค์พระให้สะอาดสะอ้าน

 

6. ชวนสมาชิกในบ้านตั้งจิตอธิษฐานและร่วมสรงน้ำพระ โดยนำขันน้ำที่ใส่เครื่องหอมเตรียมไว้ สรงที่องค์พระพุทธรูปให้ครบทุกองค์ 
 

เมื่อถึงเวลาสรงน้ำพระพุทธรูป ให้เริ่มด้วยการตั้งนะโม 3 จบ และกล่าวคำอธิษฐานสรงน้ำพระ ดังนี้

อิมินา สิญฺจะเนเนวะ โรโค โสโก อุปัททะโว นิพพันตุ สัพพะโส เอเต สุขี โหนตุ นิรันตะรัง

 

คำแปล : เดชะ ข้าสรงน้ำ พระชุ่มฉ่ำตลอดกาล ทุกข์โศกโรคภัยพาล อันตรธาน เป็นสุข เทอญ ก่อนจะอธิษฐานขอพรต่างๆ

 

หลังจากกล่าวคำอธิษฐานเสร็จแล้ว จึงตักน้ำสรงพระพุทธรูปด้วยความเคารพ และอัญเชิญพระพุทธรูปกลับสู่โต๊ะหมู่บูชา

 

"สรงน้ำพระ" ได้บุญอย่างไร ?

เว็บไซต์ วัดตระพังทอง เมืองเก่าสุโขทัย อธิบายเกี่ยวกับการสรงน้ำพระเอาไว้ว่า บุญ คือ ความสุขใจ เบิกบานใจ ชุ่มชื่นใจ ความสะอาดของจิตใจ อันเกิดจากความเลื่อมใสในสิ่งที่ตนเคารพ  แล้วกระทำการบูชา  ดังพระบาลีว่า "นัตถิ จิตเต ปะสันนัมหิ อัปปะกา นามะ ทักขิณา เมื่อจิตเลื่อมใสแล้ว จะได้ผลบุญไม่น้อย

 

"การสรงน้ำพระ" เป็นการกระทำที่เกิดจากจิตที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยต้องการถวายน้ำอบน้ำหอม อันเป็นอามิสบูชา อีกนัยหนึ่งเป็นการแสดงมุทิตาจิตในท่านผู้เป็นที่เคารพ ซึ่งพระภิกษุสงฆ์ก็จัดอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพทางด้านจิตใจ เพราะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ สืบสานหลักธรรมนำเผยแผ่ สาธุชนสำนึกในคุณงามความดีของท่าน จึงถวายการเคารพบูชาด้วยการสรงน้ำ เป็นผลแห่งกุศลกรรมรูปแบบหนึ่ง 

 

อ้างอิง : วัดตระพังทอง เมืองเก่าสุโขทัย , วัดป่ามหาชัย จังหวัดนครพนม