ครม.เคาะ "ภูกระดึง-ภูเขียว-น้ำหนาว" ขึ้นทะเบียนมรดกอาเซียน

29 มี.ค. 2565 | 16:52 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มี.ค. 2565 | 00:00 น.

มติครม.ล่าสุด 29 มี.ค. 65 เห็นชอบขึ้นทะเบียน “อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เป็นมรดกอาเซียน ตามรอย 7 อุทยานแห่งชาติ

วันที่ 29 มี.ค. 65 น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบการนำเสนอ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน 

 

ซึ่งตามขั้นตอน ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะจัดส่งเอกสารนำเสนอพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียนให้ศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อส่งเอกสารนำเสนอให้แก่คณะผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบและประเมินพื้นที่ 

 

และเสนอคณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพพิจารณา ก่อนนำเข้าที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม และที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การรับรองการขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกแห่งอาเซียนต่อไป

สำหรับลักษณะโดดเด่นของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง และที่เป็นไปตามเกณฑ์การพิจารณาขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียน มีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้คือ

 

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง

 

ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ จังหวัดเลย ซึ่งปกคลุมไปด้วยป่าตามธรรมชาติมากกว่าร้อยละ 98  และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชพันธุ์หายาก เช่น หญ้าดอกลำโพง ผักชีภูกระดึง  กุหลาบขาว กุหลาบแดง เป็นต้น

 

รวมทั้งมีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น เลียงผา ลิ่นชวา เต่าเหลือง ค่างแว่นถิ่นเหนือ ชะนีมือขาว โดยอุทยานแห่งชาติภูกระดึงมีลักษณะเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด ที่มีลักษณะโดดเด่นเพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน

 

นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีกิจกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญคือ กิจกรรมสรงน้ำพระพุทธเมตตา

 

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว

 

ตั้งอยู่บริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าร้อยละ 96.65  และมีความหลากหลายทางธรณีวิทยาและลักษณะของถ้ำ โดยพื้นที่ที่มีความโดดเด่น

 

เช่น  ถ้ำครอบ ถ้ำใหญ่น้ำหนาว และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืชหายาก เช่น จำปีศรีเมืองไทย กระโถนพระฤษี สนสามพันปี รวมทั้งยังมีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น แมวลายหินอ่อน เลียงผา เนื้อทราย เสือลายเมฆ  

 

และในพื้นที่ยังมีประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญ เช่น ประเพณีการแขวนทุง(แขวนธง) ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นต้น

ทั้งนี้ในปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนจำนวน 7 แห่ง ได้แก่

  1. อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
  2. อุทยานแห่งชาติตะรุเตา
  3. กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลันและอ่าวพังงา
  4. กลุ่มป่าแก่งกระจาน ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี
  5. อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง
  6. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง
  7. อุทยานแห่งชาติเขาสก