หมอยืนยัน‘ฟาวิพิราเวียร์’ขาดแคลนหนัก จี้สธ.ทำไมไม่บอกความจริง

29 มี.ค. 2565 | 16:04 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มี.ค. 2565 | 23:18 น.
1.3 k

ชมรมแพทย์ชนบท ยืนยัน ‘ฟาวิพิราเวียร์’ ขาดแคลนหนัก ถาม สธ. ทำไมไม่บอกความจริง แจงฟาวิพิราเวียร์ที่ขาดหนัก ยังไม่เท่าความอึมครึมของข่าวสาร ทั้งเผยแพทย์ชนบทและสังคมไทยเห็นอะไรจากปรากฏการณ์เสียงสะท้อนยาฟาวิพิราเวียร์ขาดแคลน

เพจชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อความระบุ ฟาวิพิราเวียร์ที่ขาดหนัก ยังไม่เท่าความอึมครึมของข่าวสาร

 

“ทำไมหมอไม่ให้ยาฟาวิ ยายผม 60 ปีแล้ว มีเบาหวานด้วย”

 

“ช่วงนี้ยาฟาวิมีน้อยมาก หมอขอสงวนไว้สำหรับคนที่หนักจริงๆนะ”

 

“โรงพยาบาลห่วยๆ ยาฟาวิก็ยังไม่มี ”

 

“มันไม่มียาจริงๆ กินฟ้าทะลายโจรไปก่อน ได้ผลเหมือนกัน หากไม่ดีขึ้นมาโรงพยาบาลได้ตลอด”

 

“ถ้ายายผมพี่ผมเป็นอะไรไป หมอต้องรับผิดชอบ”

 

นี่คือสถานการณ์จริงหน้างาน สืบเนื่องจากความคาดหวังของผู้ป่วยและญาติกับฟาวิพิราเวียร์ที่ขาดแคลนหนัก

 

สถานการณ์ฟาวิพิราเวียร์ที่ขาดหนักทั้งประเทศ ยังไม่ดีขึ้นนับตั้งแต่ที่ชมรมแพทย์ชนบทออกมาบ่นดังๆ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565  และผู้ใหญ่ผู้โตพูดออกสื่อว่า “ไม่จริง ยามีเพียงพอ”

 

ยาฟาวิพิราเวียร์ขาดแคลน

 

แต่ความจริงถ้าลองถามโรงพยาบาลต่างๆดู จะพบมาช่วงเดือนสองเดือนนี้ ฟาวิมีใช้อย่างจำกัดจำเขี่ย  แม้จ่ายยาตามแนวปฏิบัติของกรมการแพทย์ที่ใช้จ่ายเฉพาะคนอายุ 60 ปีขึ้นไปก็ยังไม่พออย่างยิ่ง ขาดหนักจนบางพื้นที่ให้เฉพาะคนที่มีภาวะปอดบวมเท่านั้น

 

ฟาวิพิราเวียร์เป็นยาต้านไวรัส ลดการแบ่งตัวของไวรัส งานวิจัยของศิริราชชัดเจนว่า การทานฟาวิเร็วภายใน 2 วันแรกของการเจ็บป่วย จะช่วยให้โอกาสที่อาการจะหนักลดลง ดังนั้นยาฟาวิหากจะให้ได้ผลดี ต้องทานให้เร็ว การมียาเพียงพอจึงจำเป็น

 

ฟาวิพอไม่พอ ขอให้ สธ.แถลงแบบลงรายละเอียดว่า เหตุที่ฟาวิจึงขาดหนัก การนำเข้าเคมีภัณฑ์สะดุดหรือ องค์การเภสัชผลิตปั๊มเม็ดยาได้สัปดาห์ละกี่เม็ด คงที่ไหม ราคาผลิตเองเม็ดละเท่าไหร่ ข่าวที่ว่าองค์การเภสัชจะเลิกผลิตโดยจะนำเข้าอย่างเดียวจริงไหม ทำไม ขณะนี้นำเข้ามาสัปดาห์ละกี่เม็ด ราคาเม็ดละเท่าไหร่ รวมๆ แล้วแต่ละสัปดาห์จะมีฟาวิให้กระจายได้กี่เม็ด จะกระจายอย่างไร เป็นต้น

การขาดแคลนฟาวิพิราเวียร์เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่สิ่งที่ไม่เข้าใจก็คือ ทำไมกระทรวงสาธารณสุขไม่ออกมาบอกความจริงกับสังคมและโรงพยาบาลต่างๆ และร่วมวางแผนกันให้เปิดเผย

 

สิ่งที่ทุกโรงพยาบาลอยากรู้คือ จะได้รับจัดสรรครั้งละประมาณกี่เม็ด และหลังรับจัดสรรแล้ว อีกกี่วันจึงจะได้มาอีก จะได้บริหารยาให้เหมาะสมกับจำนวนยาที่มี

 

ความยากของแพทย์และบุคลากรสุขภาพในปัจจุบันคือ  ไม่รู้เลยว่ายาฟาวิที่เหลืออยู่ในมือ สมมุติว่า มีเหลือ 2000 เม็ด ซึ่งใช้ได้ 40 คน อีกกี่วันจึงจะได้มาเติม จะได้บริหารยาให้ดีที่สุดในท่ามกลางความขาดแคลน

 

ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์นั้น แม้จะนำเข้ามาแล้ว แต่มีจำนวนน้อย ราคาแพงกว่าฟาวิมาก การจะขอใช้ยายุ่งยาก จึงไม่อาจนำมาทดแทนฟาวิได้

 

การยอมรับความจริงและร่วมวางแผนรับสถานการณ์ที่ขาดแคลนอย่างเปิดอกของ สธ. น่าจะดีกว่าการปล่อยให้อึมครึม ปล่อยให้พื้นที่ไถๆ เอา ตามมีตามเกิดแบบนี้นะครับ ไถมาร่วมเดือนเดือน  ชักจะไถไม่ไหวแล้ว คนไข้ไม่เข้าใจ ก็ทะเลาะกับแพทย์พยาบาลทุกวัน

 

รอบนี้อย่าบอกนะว่า “ยาฟาวิมีเพียงพอ” ปัญหามีไว้แก้ ขอแค่บอกความจริงกับสังคม แล้วแก้ปัญหาไปด้วยกัน

 

นอกจากนี้ล่าสุด ชมรมแพทย์ชนบท ยังได้โพสต์เฟซบุ๊ก นำเสนอข้อคิดเห็นว่า “แพทย์ชนบทและสังคมไทยเห็นอะไรจากปรากฏการณ์เสียงสะท้อนยาฟาวิพิราเวียร์ขาดแคลน

 

ชมรมแพทย์ชนบท

 

เมื่อแพทย์ชนบทสะท้อนเสียงภาวะการขาดแคลนฟาวิพิราเวียร์ เมื่อวันจันทร์ที่ 28 มีนาคม 2565 (เมื่อวาน) ซึ่งเป็นเสียงสะท้อนจากผู้ปฏิบัติงานโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ  และเมื่อสิ่งที่สะท้อนเป็นความจริง จึงมีการแชร์และการคอมเม้นท์ทั้งในเพจชมรมแพทย์ชนบทและเพจอื่นๆอย่างหนาแน่น เสียงสะท้อนของประชาชนนั้นยิ่งชัดเจนว่า  ที่ผ่านมาในเดือนมีนาคม โรงพยาบาลต่างๆมียาฟาวิที่จำกัดและไม่เพียงพอจริง 

 

แต่ปรากฏการณ์สะท้อนกลับก็ชัดเจนว่า  ผู้หลักผู้ใหญ่ของกระทรวงบางคนไม่ยอมรับเสียงสะท้อนความจริงจากพื้นที่ มีปฏิกิริยาเชิงอำนาจ บอกทันควันว่ายาเพียงพอ เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณกดทับต่อข้าราชการไม่ให้ออกมาบอกความจริง แทนที่จะเปิดกระบวนการร่วมแก้ปัญหาฉันพี่ฉันน้อง เพื่อสู้กับโอไมครอนที่ระบาดหนัก

 

วันนี้องค์การเภสัชกรรมออกมาแถลง ว่ามีส่งมอบยาครบตามจำนวนที่กระทรวงสาธารณสุขสั่งซื้อมา  ภาพรวม สธ.แจ้งว่ายาไม่ขาด มีพอ ทั้งในวันที่ 28 มีนาคม มีในสต็อค 22.8 ล้านเม็ด (จริงๆคงน้อยกว่าน้อย เพราะ key ตัดสต็อคไม่ทัน)  มีการใช้ฟาวิอยู่ที่วันละ 2 ล้านเม็ด หรือเท่ากับ 40,000 คนต่อวัน (โดยทั่วไปจะได้ยาคนละ 50 เม็ด) ส่วนองค์การเภสัชกรรมส่งมอบยาได้เฉลี่ยเท่ากับวันละกี่เม็ด สม่ำเสมอแค่ไหน อันนี้แถลงไม่ชัดเจน บอกเพียงว่าสำรองยาสั่งมา 110 ล้านเม็ดในช่วงโอไมครอนนี้

 

ขอเรียนให้ผู้ใหญ่ในกระทรวงทราบว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลต่างๆก็จ่ายยาฟาวิพิราวียร์ตามแนวทางเวชปฏิบัติของกรมการแพทย์อยู่แล้ว ไม่ได้จ่ายมั่วหรือจ่ายทุกราย จะจ่ายยาเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ผู้ที่มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์และคนที่มีอาการมากเช่นไข้สูงต่อเนื่อง ออกซิเจนในเลือดลดลง เป็นต้น ซึ่งโดยรวม จะมีประมาณ 20-25% ของผู้ติดเชื้อที่ควรต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ตามเกณฑ์ 

 

ดังนั้นหากมียาเข้าระบบวันละ 1 ล้านเม็ด จะดูแลผู้ป่วยได้ 20,000 คน  เรามี 1,000 โรงพยาบาลรัฐ แปลว่าในแต่ละวันเฉลี่ยจะมียาฟาวิสำหรับผู้ป่วยได้วันละ 20 คนต่อโรงพยาบาลซึ่งน้อยมาก หากมียาเข้าระบบ 2 ล้านเม็ดและสม่ำเสมอจริง เฉลี่ยแต่ละโรงพยาบาลรัฐก็จะมียาใช้ 40 รายต่อวัน ไม่ได้มากมายอะไรกับการระบาดที่หนักหน่วงในขณะนี้ 

 

ดังนั้น ภาพรวมที่ว่ายาพอนั้นก็จริงจากตัวเลข แต่ความจริงคือมีความขาดแคลนกว้างขวางในหลายพื้นที่  และที่สำคัญคือ ไม่รู้ว่าอีกกี่วันยาจะมาเติมให้อีก

 

อย่างไรก็ตาม ทางชมรมแพทย์ชนบทก็เห็นสัญญาณที่ดีของพี่ๆผู้บริหารในกระทรวง ที่เร่งช่วยกันแก้ปัญหา และเชื่อว่าปัญหายาฟาวิพิราเวียร์ขาดแคลนจะยุติลงในอนาคตอันใกล้นี้

 

เพราะปัจจุบันเรายังมีอีกหลายปัญหาที่ไม่เคยเกิดก็เกิด  อาทิ แม้แต่พาราเซตามอล ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอก็ขาดแคลน สั่งซื้อแล้วไม่มีของจะส่งให้กับโรงพยาบาล ต้องรอคิว ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นเลยในอดีตห้าสิบปีที่ผ่านมา