สังเกตอาการโควิดโอมิครอน BA.2 แพร่เชื้อไวแค่ไหน ติดง่ายหรือไม่ อ่านเลย

29 มี.ค. 2565 | 09:34 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มี.ค. 2565 | 16:34 น.
3.3 k

สังเกตอาการโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 แพร่เชื้อไวแค่ไหน ติดง่ายหรือไม่ อ่านเลย หมอธีระอัพเดทงานวิจัย 6 ข้อ ชี้ปัจจุบันในไทยมีการระบาดต่อเนื่อง กระจายทั่ว

โอมิครอน (Omicron) สายพันธุ์ BA.2 เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ย่อยของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดยมีการพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤษจิกายน 2564 และมีการระบาดในหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ เดนมาร์ก อินเดีย เยอรมนี สวีเดน รวมถึงประเทศไทยในปัจจุบัน 

 

ร.ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า 

 

อัพเดตงานวิจัยเกี่ยวกับ BA.2

 

Chen LL และคณะจากฮ่องกง ศึกษาเปรียบเทียบระดับภูมิคุ้มกัน neutralizing antibody ที่จัดการกับเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron BA.2 กับ BA.1 
พบว่าการดื้อต่อภูมิคุ้มกันนั้น BA.2 ดูจะมีแนวโน้มน้อยกว่า BA.1 อยู่บ้าง

 

ข้อสังเกตที่ได้จากผลวิจัยครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า การแพร่ระบาดของ BA.2 ที่ไวกว่า BA.1 ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิมนั้น น่าจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น ที่ไม่ใช่เรื่องการดื้อต่อภูมิคุ้มกัน ได้แก่ สมรรถนะของตัวไวรัสที่แพร่และ/หรือติดได้ง่ายขึ้น หรือปัจจัยอื่นเกี่ยวกับคน พฤติกรรม และอื่นๆ

ทบทวนความรู้ที่เรามีเกี่ยวกับ BA.2 ในขณะนี้

 

  • ติดไวกว่า BA.1 ราว 30%

 

  • ติดเชื้อแล้วมีปริมาณไวรัสในช่องคอมากกว่า BA.1 ราว 2 เท่า 

 

  • สามารถจับกับตัวรับ ACE2 บนผิวเซลล์ได้ดีกว่า BA.1 

 

สังเกตอาการโควิดโอมิครอน BA.2 แพร่เชื้อไวแค่ไหน ติดง่ายหรือไม่

 

  • อัตราการติดเชื้อไปยังผู้อื่น (secondary attack rate) สูงกว่า BA.1

 

  • ระยะเวลานับจากวันแรกที่คนที่ติดเชื้อคนแรกมีอาการ ไปยังคนที่รับเชื้อมีอาการ (serial interval) สั้นกว่า BA.1

 

  • การดื้อต่อภูมิคุ้มกัน ดูจะน้อยกว่า BA.1 อยู่บ้าง

 

ปัจจุบันในไทยเรา การระบาดต่อเนื่อง กระจายทั่ว ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งในที่ทำงาน ที่บ้าน งานเลี้ยงสังสรรค์ งานแต่งงาน งานศพ งานบวช 

รวมถึงสถานที่ที่มีคนหมู่มาก แออัด ระบายอากาศไม่ดี และที่ชัดเจนมากคือ ระหว่างการกินดื่มร่วมกับผู้อื่น เพราะเป็นช่วงที่ไม่ได้ป้องกันตัว

 

พึงระลึกไว้ว่า แม้ความรุนแรงจะน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่ติดง่าย ป่วยได้ ตายได้ รวมถึงอาจมีโอกาสส่งผลกระทบต่อชีวิตในระยะยาวจากภาวะ Long COVID 

 

ซึ่งจะบั่นทอนสมรรถนะในเรื่องความคิด ความจำ รวมถึงการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจทำให้เกิดโรคเรื้อรังไปตลอดชีวิต

 

ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น 

 

หากไม่สบาย ควรแจ้งคนใกล้ชิด แยกตัว หยุดเรียนหยุดงาน ไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน

 

คนที่ติดเชื้อมาก่อน ควรหมั่นตรวจสอบสุขภาพตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการผิดปกติต่างจากอดีต ควรปรึกษาแพทย์ 

 

และที่สำคัญคือ ติดแล้วมีโอกาสติดซ้ำได้ หากไม่ป้องกันตัว