ติดโควิดแล้วจะติดอีกไหม ติดซ้ำใน 1 เดือนเป็นได้หรือไม่ เกิดจากอะไร อ่านเลย

29 มี.ค. 2565 | 08:42 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มี.ค. 2565 | 15:43 น.
6.2 k

ติดโควิดแล้วจะติดอีกไหม ติดซ้ำใน 1 เดือนเป็นได้หรือไม่ เกิดจากอะไร อ่านเลยที่นี่ หมอเฉลิมชัยวิเคราะห์ความเป็นไปได้ 3 ข้อ

ติดโควิดแล้วจะติดอีกไหม เป็นคำถามที่ได้รับความสนใจมาตลอด เนื่องจากปัจจุบันมีการพบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19)ก็มีมานานเกินกว่า 2 ปี

 

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ติดโควิดซ้ำครั้งที่ 2 ภายใน 1 เดือน เป็นไปได้หรือไม่ และเกิดจากสาเหตุใด
จากกรณีนักการเมืองท่านหนึ่ง ได้แจ้งข่าวว่า ได้ติดโควิดเป็นครั้งที่ 2  โดยห่างจากครั้งแรกเพียง 1 เดือน

 

ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นจากเหตุใด และมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

 

จากข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่เผยแพร่ต่อสาธารณะพบว่า หลังจากที่ติดเชื้อครั้งที่ 1 เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2565 

 

และรักษาตัวหายดีแล้ว โดยการแยกกักที่บ้าน (HI : Home Isolation) มีผลตรวจ ATK เป็นลบ หลังจากติดเชื้อ 10 วัน

ยังไม่ถึงหนึ่งเดือนดี ก็เกิดมีอาการไม่สบายอีก จึงได้ทำการตรวจด้วย ATK อีกครั้งหนึ่ง พบว่ามีผลเป็นบวก

 

ด้วยความสงสัย จึงได้ตรวจยืนยันด้วย PCR พบว่าเป็นโควิดจริง โดยมีปริมาณไวรัสค่อนข้างสูงคือ Ct : Cycle threshold = 19

 

ในกรณีนี้ก็คงสรุปได้ว่า เป็นโควิดครั้งใหม่จริง ไม่ใช่เป็นซากเชื้อจากการติดครั้งก่อน 

 

ติดโควิดแล้วจะติดอีกไหม ติดซ้ำใน 1 เดือนเป็นได้หรือไม่

 

เพราะปริมาณไวรัสที่ตรวจพบในครั้งที่ 2 นี้ค่อนข้างสูง

 

ส่วนเหตุผลว่า ทำไมผู้ที่หายจากการติดเชื้อโควิดเพียง 1 เดือน จึงเกิดติดเชื้อซ้ำครั้งที่ 2 ได้ มีความเป็นไปได้จากเหตุผลดังนี้

 

  • ถ้าการติดเชื้อครั้งที่ 1 มีปริมาณเชื้อน้อยและอาการไม่รุนแรง อาจจะมีระดับภูมิคุ้มกันที่ไม่สูงนัก เมื่อไปสัมผัสเสี่ยงกับผู้ที่มีปริมาณเชื้อไวรัสมาก จึงอาจเกิดติดเชื้อซ้ำครั้งที่ 2 ได้ ซึ่งโดยปกติแล้ว ระดับภูมิคุ้มกันควรจะสามารถป้องกันได้อย่างน้อย 3-6 เดือน
  • ในการติดเชื้อครั้งที่ 2 อาจเกิดจากเป็นไวรัสคนละสายพันธุ์กัน เช่นติดเชื้อครั้งที่ 1 เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.1 ของ Omicron (โอมิครอน) ต่อมาติดสายพันธุ์ย่อยที่สอง คือ BA.2 ซึ่งจะทำให้ภูมิคุ้มกันจากสายพันธุ์ย่อยที่หนึ่ง ทำหน้าที่ป้องกันได้ไม่เต็มที่นัก

 

  • ผู้ที่หายดีจากการติดเชื้อครั้งที่ 1 ถ้ามีระบบการทำงานของภูมิคุ้มกันที่ไม่ได้มีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ อาจเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นหลังติดเชื้อครั้งที่ 1 ในระดับไม่มาก หรือลดลงอย่างรวดเร็ว ก็สามารถติดเชื้อซ้ำครั้งที่ 2 ได้

 

ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ก็ถือเป็นกรณีศึกษาว่า ผู้ที่เพิ่งหายป่วยจากการติดเชื้อ ไม่ควรประมาท เพราะมีโอกาสที่จะติดเชื้อซ้ำครั้งที่ 2 ได้ และอาจทิ้งระยะห่างน้อยกว่าที่เราเคยเชื่อกัน (3-6 เดือน)

 

การป้องกันตนเอง มีวินัย ไม่ประมาท ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาในสถานที่หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง ตลอดจนฉีดวัคซีนเมื่อถึงกำหนดเวลา ยังคงเป็นมาตรการที่สำคัญและใช้ได้ผลดีในการรับมือกับไวรัสก่อโรคโควิด ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใดก็ตาม