จริงไหม "วันมาฆบูชา" คือ วันวาเลนไทน์ของชาวพุทธ ?

15 ก.พ. 2565 | 09:30 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.พ. 2565 | 06:35 น.
15.7 k

16 ก.พ. วันมาฆบูชา 2565 เป็นวันสำคัญทางศาสนา มีคำถามว่า จริงไหมที่ วันมาฆบูชา คือ วันวาเลนไทน์ของชาวพุทธ ? มีคำตอบที่นี่

วันมาฆบูชา ตรงกับวันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ถือเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา เพราะในสมัยพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้ 9 เดือน ขณะที่เสด็จประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน ณ เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ

 

พระสงฆ์สาวกที่พระพุทธองค์ได้ส่งออกไปเผยแพร่พุทธศาสนาตามเมืองต่างๆ ได้พร้อมใจกันกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมายกันถึง 1,250 รูป มีคำถามว่า จริงไหม “วันมาฆบูชา” เป็น “วันวาเลนไทน์ของชาวพุทธ”  ?

คำตอบก็คือ “วันมาฆบูชา” นอกจากจะเป็นวันสำคัญยิ่งทางพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง ก็ยังถือเป็น “ วันแห่งความรัก” เรียกง่ายๆ ก็คือ “วันวาเลนไทน์ของชาวพุทธ” นั่นเอง เพราะเกิดเหตุการณ์พิเศษที่เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต”

 

และเป็น วันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประกาศหลักการและอุดมการณ์แห่งพุทธศาสนา ว่าด้วยการส่งเสริมให้มวลมนุษย์ ตั้งมั่นทำความดี ละความชั่ว ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ทรงสอนให้ทุกคนมีความรักอันยิ่งใหญ่ ไม่เห็นแก่ตัว สอนให้รู้จักรัก และเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำพระธรรมคำสั่งสอนดังกล่าวไปเผยแพร่

"วันมาฆบูชา" พระสงฆ์มาประชุมพร้อมกัน 1,250 รูป โดยไม่ได้นัดหมาย

วันมาฆบูชา เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ

  • พระสงฆ์มาประชุมพร้อมกันทั้ง 1,250 รูป ยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย
  • พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดต่างล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง
  • พระสงฆ์ทั้งหมดที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6
  • ตรงกับวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์

 

กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันมาฆบูชา

  • ทำบุญตักบาตรในตอนเช้า
  • ตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น ๆ เช่น ไปวัดรับศีล งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน (ปล่อยนกปล่อยปลา) ฟังพระธรรมเทศนา
  • ไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น

 

"เวียนเทียน" หนึ่งในกิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฎิบัติในวันมาฆบูชา

บทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิยมสวดในวันมาฆบูชาก่อนเวียนเทียนนิยมสวด (ทั้งบาลีและคำแปล) ตามลำดับดังนี้

  • บทบูชาพระรัตนตรัย (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อรหัง สัมมา ฯลฯ)
  • บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า (นะโม ฯลฯ ๓ จบ)
  • บทสรรเสริญพระพุทธคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อิติปิโส ฯลฯ)
  • บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:องค์ใดพระสัมพุทธ ฯลฯ)
  • บทสรรเสริญพระธรรมคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สวากขาโต ฯลฯ)
  • บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:ธรรมมะคือ คุณากร ฯลฯ)
  • บทสรรเสริญพระสังฆคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สุปฏิปันโน ฯลฯ)
  • บทสรรเสริญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:สงฆ์ใดสาวกศาสดา ฯลฯ)
  • บทสวดบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อัชชายัง ฯลฯ)

ที่มา : กระทรวงวัฒนธรรม , วิกีพีเดีย