เตือน! Test & Go ปล่อยผู้ป่วยโอมิครอนระยะฟักตัวเที่ยว 5 วันเสี่ยงแพร่เชื้อ

07 ก.พ. 2565 | 11:03 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.พ. 2565 | 23:13 น.

เตือน Test & Go ปล่อยผู้ป่วยโอมิครอนระยะฟักตัวเที่ยว 5 วันเสี่ยงแพร่เชื้อไปแล้ว ระบุเชื้อจากต่างประเทศอาจมีสายพันธุ์ย่อยใหม่ BA.2 หรือสายพันธุ์อื่นๆ

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

มาตรการสำคัญ ที่ไทยจำเป็นต้องทำ เพื่อรับมือกับไวรัสโอมิครอน (Omicron)
จากสถานการณ์โควิดระลอกที่สี่ของไทย ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ 1 มกราคม 2565 ด้วยไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน

 

จะเห็นลักษณะของโควิด-19 (Covid-19) ที่มีความละม้ายคล้ายกันทั่วโลกประกอบด้วย

 

  • ไวรัสแพร่เร็ว ติดง่าย และไม่ค่อยมีอาการมากนัก
  • ผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตมีจำนวนค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับไวรัสสายพันธุ์เดลตา
  • ผู้ที่ฉีดวัคซีน 2 เข็ม มีอัตราการติดเชื้อค่อนข้างสูง

สำหรับประเทศไทยเรา

 

ใน 3 สัปดาห์แรก จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้น ตามลักษณะของไวรัสโอมิครอนคือ เพิ่มจาก 3011 ราย ในวันที่ 1 มกราคม 2565 เป็น 8640 รายในวันที่ 21 มกราคม 2565

 

และทรงตัวไม่เพิ่มไม่ลด เป็นเวลา 2 สัปดาห์ พอพ้นสัปดาห์ที่ 5 ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ก็มีการเพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

 

มาตรการสำคัญที่ไทยต้องทำรับมือโอมิครอน

 

จนมีผู้ติดเชื้อ 10,879 ราย ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อเฉพาะที่ตรวจด้วยวิธี PCR

 

ถ้าพิจารณาตัวเลขผู้ติดเชื้อเข้าข่ายจากการตรวจ ATK ซึ่งก็มีความแม่นยำว่าจะเป็นโควิดจริงมากกว่า 90%

 

ก็จะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อรวม ทั้งจากการตรวจ PCR และ ATK รวมกัน เพิ่มขึ้นชัดเจนคือ

 

  • 1 ม.ค. 2565 จำนวน 3445 ราย 
  • 21 ม.ค. 2565 จำนวน 11,996 ราย
  • 6 ก.พ. 2565 จำนวน 15,511 ราย

 

ถ้าใช้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรวม 15,511 ราย ก็ถือว่าเป็นวันแรกที่เข้าสู่ฉากทัศน์ (Scenario) ที่รุนแรงระดับปานกลางของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว

โดยที่จำนวนผู้ป่วยหนัก ผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตเปลี่ยนแปลงไม่มากนักคือ 

 

เปรียบเทียบตัวเลขวันที่ 1 มกราคม กับ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พบว่า

 

ผู้ป่วยหนัก 583 ราย เป็น 533 ราย

 

ผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจ 158 ราย เป็น 104 ราย

 

และเสียชีวิต 10 ราย เป็น 20 ราย

 

โดยจำนวนผู้เสียชีวิตในแต่ละวัน  มากกว่า 90% จะเป็นผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว

 

และหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาพูดเรื่องโควิดมีโอกาสจะเป็นโรคประจำถิ่นปลายปีนี้ ทำให้เป็นการส่งสัญญาณให้สาธารณะเบาใจ มีคนเป็นจำนวนพอสมควรที่หย่อนวินัยในการป้องกันตนเองลง

 

อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญคือ จำนวนผู้ติดเชื้อในสถานกักตัว (Quarantine) ของผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งตรวจพบวันละ 200-300 ราย

 

หลังจากที่เริ่ม Test&Go ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เริ่มเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อจากการตรวจ PCR เป็นบวกลดลง

 

จึงต้องระมัดระวัง เพราะมีผู้ที่ตรวจด้วย PCR เป็นลบในวันแรก แล้วออกไปท่องเที่ยว เมื่อย้อนกลับมาในวันที่ห้า ตรวจก็พบว่าเป็นบวกได้

 

คนเหล่านี้ก็ออกไปท่องเที่ยวเป็นเวลาห้าวันแล้ว จึงกลับมาตรวจ PCR อีกครั้ง เมื่อพบเป็นบวกก็กักตัวไว้ แต่ก่อนหน้านั้นก็แพร่เชื้อไปแล้ว

 

ข้อมูลประการถัดไปที่สำคัญคือ เชื้อจากต่างประเทศที่เข้ามาในระบบ Test&Go อาจจะมีสายพันธุ์ย่อยใหม่เช่น BA.2 หรือสายพันธุ์อื่นๆ

 

ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงในการได้รับไวรัสกลายพันธุ์ได้

 

มาตรการสำคัญที่ไทยต้องทำรับมือโอมิครอน

 

และถ้าเราคุมจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศต่อวันได้ไม่ดี โอกาสจะกลายพันธุ์กันเองในประเทศไทยก็จะสูงมากขึ้น จากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่

 

จากข้อมูลดังกล่าว สามารถนำมาประมวล และควรกำหนดมาตรการสำคัญที่จำเป็นจะต้องทำ เพื่อรับมือกับไวรัสโอมิครอนดังนี้

 

1. มาตรการลดจำนวนผู้เสียชีวิต

 

1.1 เร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับกลุ่มเสี่ยง คือผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี และที่มีโรคประจำตัวให้ครบทุกคน เพราะกลุ่มนี้ เป็นสัดส่วนใหญ่ของผู้เสียชีวิต คือมากกว่า 90%

 

1.2 สำรองเตียงผู้ป่วยหนัก และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจให้เพียงพอ เพื่อรองรับ กรณีถ้ามีผู้ติดเชื้อจำนวนมากวันละหลายหมื่นคน ก็จะมีผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้น แม้เมื่อคิดเป็นร้อยละจะไม่ได้มากก็ตาม

 

2. มาตรการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ

 

2.1 ละเว้นการส่งสัญญาณทางบวกที่มากเกินไป ที่ทำให้ประชาชนมีวินัยลดลง เช่น การพูดถึงโรคประจำถิ่น หรือเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดา แต่ไม่ได้เน้นคู่ขนานกันไปว่า แม้ไม่เสียชีวิต แต่ก็มีอาการเรื้อรัง เช่น ลองโควิด( Long Covid ) ได้ด้วย

 

2.2 การรายงานสถานการณ์โควิดต่อสาธารณะ ควรจะเพิ่มอีกหนึ่งช่อง เป็นจำนวนผู้ติดเชื้อรวม โดยนำผู้ติดเชื้อจากตรวจ PCR และ ATK แจ้งเพิ่มเติมด้วย แต่ให้คงรายงานช่องตัวเลขผู้ติดเชื้อของ PCR และ ATK แยกเอาไว้อย่างเดิม
ทั้งนี้เพื่อให้สาธารณะ ได้รับทราบสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น จะได้ปฎิบัติตัวหรือมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง

 

2.3 พิจารณาชะลอหรือระงับโครงการ Test&Go เพราะเป็นจุดอ่อนสำคัญ อาจได้ไม่คุ้มเสีย เพราะทำให้ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เมื่อตรวจ PCR วันแรกเป็นลบ แต่ติดเชื้อแฝงอยู่ สามารถออกไปแพร่เชื้อได้

 

หลังจากนั้น ในวันที่ 5 ย้อนกลับมาตรวจจึงมีผลเป็นบวก

 

ควรจะใช้ระบบ Sandbox คือให้เที่ยวได้อยู่ภายในพื้นที่กำหนดแบบภูเก็ต สมุย เป็นจำนวน 7 วัน จึงจะออกนอกเขตได้ หรือเป็นแบบระบบกักตัว (Quarantine)

 

3. มาตรการสร้างความเข้าใจ ต้องเน้นการสื่อสารที่กระชับ เข้าใจง่าย ที่สำคัญต้องน่าเชื่อถือ ต้องรายงานตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะมีผลออกมาเป็นบวกหรือลบ เพื่อให้สาธารณะเชื่อมั่นในข้อมูลข่าวสารที่จะทยอยออกมาเป็นระยะต่อไป แม้ที่ผ่านมาจะทำได้ค่อนข้างดี ก็ต้องทำต่อไปให้ดียิ่งขึ้น

 

มาตรการสำคัญดังกล่าวข้างต้น มาจากข้อมูล มาจากความรู้ทางวิชาการ และมาจากการประเมิน

 

ซึ่งเชื่อว่า จะทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับโอมิครอนได้ดีขึ้นคือ มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นที่ไม่รุนแรงรวดเร็วเหมือนประเทศตะวันตก และคุมจำนวนผู้เสียชีวิตได้ดี อาจจะต่ำกว่าวันละ 10 คนได้ โดยมิติเศรษฐกิจและสังคมไม่กระทบมากจนเกินไป และไม่มีความสับสนเรื่องข้อมูลข่าวสาร