"ยาไวอะกร้า" รักษาผู้ป่วยโควิดอาการโคม่าให้หายป่วยได้ ทำอย่างไร เช็กเลย

04 ม.ค. 2565 | 11:34 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ม.ค. 2565 | 18:35 น.
5.6 k

ยาไวอะกร้า รักษาผู้ป่วยโควิด-19 อาการโคม่าให้หายป่วยได้ ทำอย่างไร เช็กเลย หมอเฉลิมชัยชี้มีสรรพคุณทำให้ผนังหลอดเลือดอ่อนตัว และขยายตัวออกได้ ทำให้เพิ่มกระแสเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย รวมทั้งปอด

ยาไวอะกร้าที่มีสรรพคุณใช้แก้ปัญหาสมรรถภาพทางเพศของผู้ชาย ที่อวัยวะเพศไม่สามารถแข็งตัว สามารถนำมารักษาผู้ป่วยโควิด-19 (Covid-19) ที่ป่วยหนักระดับโคม่า 28 วันให้สามารถหายป่วย และออกจากโรงพยาบาลได้
รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
น่าสนใจ !! ไวอะกร้าช่วยชีวิตพยาบาลอังกฤษให้รอดจากโควิด-19 มีรายงานเคสผู้ป่วยโควิด ที่ป่วยหนักระดับโคม่า 28 วัน ได้รับการรักษาในโครงการทดลอง ด้วยยาไวอะกร้า (Viagra : Sildenafil) และหายป่วยจนกลับบ้านได้
โมนิก้า (Monica Almeida) พยาบาลสาววัย 37 ปี พื้นเพเป็นคนโปรตุเกสแต่มาทำงานอยู่ที่อังกฤษ
เป็นพยาบาลทางด้านโรคทางเดินหายใจ และมีโรคประจำตัวเป็นหอบหืด

เธอติดโควิด และมีอาการป่วยหนักจนต้องเข้าไอซียู และได้รับการกระตุ้นให้เข้าสู่ภาวะโคม่า
โดยก่อนที่จะเข้าสู่สภาวะโคม่า เธอได้เซ็นยินยอมเข้าสู่โครงการทดลองรักษาด้วยยาตัวใหม่ซึ่งก็คือ ยาไวอะกร้า ที่ใช้แก้ปัญหาสมรรถภาพทางเพศของผู้ชาย ที่อวัยวะเพศไม่สามารถแข็งตัวได้
หลังได้รับยาเพียง 48 ชั่วโมง อาการก็ดีขึ้น และเพียงสัปดาห์เดียวก็สามารถลดการใช้ออกซิเจนลงได้ถึง 50%
กลไกสำคัญที่น่าสนใจสำหรับยาตัวนี้ก็คือ การที่ยาทำให้ผนังหลอดเลือดอ่อนตัว และขยายตัวออกได้ ทำให้เพิ่มกระแสเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย รวมทั้งปอด

ยาไวอะกร้าช่วยรักษาโควิดได้
โดยได้มีการใช้ยาไวอะกร้าในการรักษาความดันโลหิตสูงในปอดได้ผลมาแล้ว จึงนำมาสู่การทดลองครั้งนี้
31 ต.ค. 64  ผลตรวจโควิดเป็นบวก
3 พ.ย. 64    จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้รับรส เริ่มมีอาการไอ และระดับออกซิเจนลดลง 

9 พ.ย. 64    ต้องเข้าไอซียู
16 พ.ย. 64  ได้รับการกระตุ้นด้วยยาให้เข้าสู่ภาวะโคม่า
เธอได้เซ็นยินยอมเข้าสู่การทดลองก่อนที่จะเข้าสู่สภาวะโคม่า
14 ธ.ค. 64  ฟื้นขึ้นจากโคม่า 
24 ธ.ค. 64  สามารถออกจากโรงพยาบาลได้
นับเป็นกรณีที่น่าสนใจมาก ที่ใช้ยาเก่าที่รักษาโรคอื่นอยู่แล้ว แต่มีกลไกในการออกฤทธิ์บางอย่าง ที่อาจจะสามารถรักษาโรคใหม่ได้ เช่น ยาไวอะกร้าที่ใช้รักษาโรคสมรรถภาพทางเพศเสื่อมในเพศชาย แต่นำกลับมาช่วยผู้ป่วยโควิดได้
ซึ่งจะต้องมีการศึกษาทดลองกันต่อไป ให้มีจำนวนตัวอย่างที่มากพอ ตลอดจนมีการศึกษาถึงประสิทธิผล ร่วมกับผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไป