สภาองค์กรของผู้บริโภค ค้าน TRUE-DTAC ควบรวม แข่งขันลด ผู้บริโภคเสียประโยชน์

23 พ.ย. 2564 | 12:45 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2564 | 20:23 น.
570

สภาองค์กรของผู้บริโภค ค้าน TRUE-DTAC ควบรวมกิจการ ชี้การแข่งขันลดลง ผู้บริโภคเสียประโยชน์ จ่อยื่นข้อเสนอถึง กสทช.-ตลาดหลักทรัพย์-กขค.

ประเด็นร้อนแรงที่สุดในวงการโทรคมนาคมของไทย คงหนีไม่พ้นคือเรื่องการเจรจา ควบรวมกิจการ True - dtac โดยมีการทำ MOU ระหว่างกันเรื่องศึกษาการควบรวมธุรกิจ โดยจะมีการจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา

ตั้งเป้าปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company) ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ พร้อมเสริมธุรกิจเทคโนโลยีใหม่

การสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม และกองทุนสตาร์ทอัพ เพื่อสอดรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค

แต่คำถามที่ตามาก็คือ การควบรวมกิจการในครั้งนี้จะผลกระทบต่อผู้บริโภคและธุรกิจโทรคมนาคมในไทยหรือไม่ เรื่องนี้สร้างความกังวลใจไม่น้อย โดยเฉพาะ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ซึ่งทำหน้าที่แทนผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญ

จึงได้แถลงจุดยืนว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีการควบรวมกิจการ เพราะจำนวนผู้เล่นในตลาดจะลดลงจาก 3 เหลือ 2 ส่งผลให้การแข่งขันลดลง ทางเลือกและประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้ก็ย่อมลดลง นี่คือโจทย์ที่หน่วยงานกำกับดูแลต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ยืนยันว่าการควบรวมกิจการส่งผลกระทบกับผู้บริโภคโดยเฉพาะการถูกตัดทางเลือกให้เหลือแค่สองทาง โดยยังไม่มีหลักประกันอะไรที่แน่ชัดว่าการควบรวมครั้งนี้จะไปลิดรอนทางเลือกของผู้บริโภคหรือไม่ รวมทั้งเรื่องการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรี นั่นหมายความว่าต้องมีผู้ให้บริการหลายเจ้ามาแข่งขัน แต่ถ้าการแข่งขันแบบนี้จะทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก

 

“ไม่ได้ขัดขวางการเจริญเติบโตหรือการร่วมทุนของธุรกิจ แต่ในฐานะผู้บริโภคมีจุดยืนว่าการควบรวมจะส่งผลกระทบกับผู้บริโภคเกี่ยวกับทางเลือก เพราะเดิมมี 3 ทางเลือก จะมีหลักประกันอะไรว่าจะไม่ไปลิดรอนทางเลือกผู้บริโภค จะรับประกันอะไรไหมว่าจะไม่มีการเอาเปรียบผู้บริโภคมากขึ้นกว่าปัจจุบัน ไทยมีการค้าเสรี หมายความว่ามีหลายเจ้ามาแข่งขัน แต่ถ้าการแข่งขันนี้ไม่มีทางเลือก ผู้บริโภคเลือกใครไม่ได้เหมือนบังคับให้เลือก”

 

ขณะที่ในแง่ของข้อมูลส่วนบุคคลก็เป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามเช่นกัน โดย "ชลดา บุญเกษม"  อนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) บอกว่า ถ้ามีการควบรวมกันแม้จะเป็นในระดับผู้ถือหุ้นก็ตามก็อาจจะทำให้สัดส่วนของการแข่งขันในตลาดเปลี่ยนไปหรือลดลง นอกจากนี้ยังเห็นว่าประเด็นหนึ่งที่สำคัญมาก และเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ คือ “เรื่องข้อมูลส่วนบุคคล” ดังจะเห็นว่าผู้บริโภคทั่วไปถูกหลอก จากการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งอาจจะนำไปเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

“ถ้าสมมุติเกิดการควบรวมจริงๆจะเป็นลักษณะกึ่งผูกขาดตลาด ไม่ส่งผลดีต่อผู้บริโภคและทำให้ผู้ให้บริการรายใหม่หรือรายเล็กไม่เกิดขึ้นเพราะมองว่าการลงทุนครั้งนี้ไม่คุ้มค่า ก็จะไม่เข้ามาสู่การเป็นตัวเลือกให้กับประชาชน ไม่เห็นด้วยกับการควบรวม ในอนาคตอาจจะมีการฮั้วกันก็ได้ ผู้บริโภคก็รับกรรมไป”

สภาองค์กรของผู้บริโภค ค้าน TRUE-DTAC ควบรวม แข่งขันลด ผู้บริโภคเสียประโยชน์

ด้าน พวงทอง ว่องไว  อนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) บอกว่า ถ้าเกิดการควบรวมจริงๆ จะทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดน้อยลง ซึ่งปัจจุบันก็มีไม่กี่เจ้า จะไม่มีทางเลือกในการขอใช้บริการ มากไปกว่านั้นถ้า 2 บริษัทที่มีอยู่เกิดกำหนดค่าบริการที่สูงขึ้นหรือให้บริการเอาเปรียบผู้บริโภคจะทำอย่างไร 

 

“ไม่เห็นด้วยผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะเลือกใช้สินค้าและบริการ เพราะฉะนั้นต้องมีหลากหลาย ต้องการให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีทางออกให้กับผู้บริโภค เรามี 3 เจ้า ผู้บริโภคมีสิทธิ์ย้ายค่าย เเต่ตอนนี้พอควบรวม ก็ลดลง เสนอให้หน่วยงานที่เดี่ยวกับ ดำเนินการในเรื่องนี้โดยเร็ว ถึงบริษัทแม่ควบรวมกัน ก็น่าจะเห็นการควบรวมบริษัทลูกเเน่นอน”  

 

สารี อ๋องสมหวัง  เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) บอกว่า จุดยืนของสภาองค์กรกรของผู้บริโภคชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการควบรวมในครั้งนี้ ทางเลือกผู้บริโภคลดลง ไม่มีแรงจูงใจทำให้เกิดการแข่งขัน ก็ส่งผลกระทบกับผู้บริโภค หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันการค้า หรือหน่วยงานกิจการโทรคมนาคม อย่าง กสทช. ต้องออกมาให้ข้อมูลกับผู้บริโภคชัดเจนว่ากรณีนี้ทำอะไรได้บ้าง เมื่อควบรวมกันแล้ว 52% ถือว่ามีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่

 

นอกจากนี้ยังมองว่าแน่นอนเมื่อถูกจำกัดทางเลือกซึ่งเป็นสิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลไม่ควรจะทำให้เกิดขึ้น และ กสทช. ต้องสนับสนุนให้มีผู้ใหบริการเจ้าใหม่มากขึ้น เกิดการแข่งขัน อาจจะต้องเรียกว่าผู้ให้บริการในกิจการโทรคมนาคมเกิดโอกาสให้ใช้คลื่นของตัวเองในราคาพิเศษ เพื่อที่จะทำให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่มากขึ้น  เพราะการแข่งขันมีความสำคัญต่อผู้บริโภคและยืนยันว่าการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้มีอุปสรรคต่อทุน

 

กรณีนี้ย้ำเตือนได้อีกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสามารถที่จะทำได้เลยทรูกับดีแทคสามารถใช้เงื่อนไขประกาศของ กสทช.ที่จะร่วมมือเป็นพันธมิตรกัน โดยที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน เช่น ประกาศของ กสทช.มีประเด็นเรื่องของการที่จะให้ใช้โครงข่ายร่วมกันซึ่งการใช้โครงข่ายร่วมกันจะทำให้ลดต้นทุน แต่ไม่เห็นการทำความร่วมมือในลักษณะนี้

 

“เบื้องต้นที่จะทำข้อเสนอไปถึง กสทช. ว่าควรจะสั่งห้ามการควบรวมกิจการที่ทำให้เกิดอำนาจเหนือตลาดในครั้งนี้ ส่วนที่สองคิดว่าทำข้อเสนอถึงตลาดหลักทรัพย์ว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคอย่างไร จะทำให้การแข่งขันมีมากขึ้นและทางเราก็จะทำจดหมายไปถึง กขค.ว่าถ้าเกิดว่าการควบรวมครั้งนี้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันการค้า และได้วางแผนได้จัดประชุมเชิญหน่วยงานเหล่านี้มาตอบคำถามกับผู้บริโภคว่าจะดำเนินการอะไรได้ มากน้อยแค่ไหนอย่างไร และคิดว่าถ้าประเทศนี้ไม่มีใครกำกับดูแลเลย สภาองค์กรของผู้บริโภคก็คงจะต้องร้องเรียนถึงหรือทำข้อเสนอไปถึงคณะรัฐมนตรี”