"ATK" ตรวจโควิดเชิงรุกไม่ค่อยมีประโยชน์ หมอมนูญชี้มีผลเสียตามมามากกว่า

09 พ.ย. 2564 | 09:03 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2564 | 16:02 น.
849

หมอมนูญ ชี้การใช้ชุดตรวจ ATK ตรวจเชิงรุกค้นหาผู้ที่ยังไม่มีอาการไม่ค่อยมีประโยชน์ ระบุอาจมีผลเสียตามมามากกว่า แม้จะผ่านการรับรองจาก อ.ย.หรือไม่

รายงานข่าวระบุว่า นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC) โดยมีข้อความระบุว่า 
อยากอธิบายง่ายๆทำไมการตรวจเชิงรุกค้นหาคนที่ยังไม่มีอาการ ว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (covid-19) ด้วยวิธีการตรวจแบบรวดเร็ว ATK ไม่ค่อยมีประโยชน์ อาจมีผลเสียตามมามากกว่า
ATK มีความแม่นยำ ความไวและความจำเพาะน้อยกว่าวิธีตรวจหารหัสพันธุกรรม RT-PCR มาก
คนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อตรวจ ATK ให้ผลเป็นบวก ส่วนใหญ่จะพบช่วงที่มีอาการ เช่น มีไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ส่วนน้อยมากๆจะให้ผลเป็นบวก 1 วันก่อนมีอาการ 

เพราะฉะนั้นถ้าตรวจ ATK คนที่ไม่มีอาการเลย แล้วให้ผลเป็นบวก โอกาสเป็นบวกปลอมจะมากกว่าบวกจริงเยอะมาก 

ทั้งนี้ไม่ได้ขึ้นกับชุดตรวจ ATK นั้นจะผ่านการรับรองจาก อ.ย.หรือไม่
ตรรกะที่ใช้ชุดตรวจเร็ว ATK มาคัดกรองคนไม่มีอาการอาจไม่ถูกต้อง เช่นคัดกรองเด็กนักเรียนทุกสัปดาห์ ควรนำมาใช้ตรวจเมื่อเด็กหรือผู้ใหญ่มีอาการมากกว่า 
ถ้าพบว่าให้ผลบวก จึงยืนยันด้วยการตรวจ RT-PCR 
ได้เห็นตัวอย่างของเด็กนักเรียนหลายคนที่ไม่มีอาการใน กทม. หลังตรวจ ATK เพื่อคัดกรองให้ผลบวก แต่ตรวจวิธี RT-PCR ให้ผลลบ ยืนยันว่าเป็นผลบวกปลอม แม้จะใช้ชุดตรวจ ATK ที่ผ่านการรับรองจากอ.ย.ก็ตาม

การตวจเชิงรุกด้วย ATK ไม่ค่อยมีประโยชน์
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ หมอมนูญ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ชุดตรวจ ATK ด้วยว่า แต่ก่อนเราเคยเชื่อว่าการตรวจวินิจฉัยโรคโควิด-19 โดยใช้ชุดตรวจแบบรวดเร็ว Antigen Test Kit หรือ ATK บ่อยๆ มีประโยชน์ในการตรวจคัดกรอง สามารถแยกผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการออกจากผู้ไม่ติดเชื้อ ช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้
 

เราทราบดีว่าวิธีตรวจ ATK มีความความจำเพาะต่ำประมาณร้อยละ 70 เท่านั้น หากตรวจได้ผลบวก จำเป็นต้องยืนยันด้วยการตรวจรหัสพันธุกรรม RT-PCR 
แต่ปัจจุบันหลังเริ่มใช้งานจริง เราพบว่าการตรวจ ATK อาจไม่เหมาะที่จะนำมาใช้คัดกรองหาผู้ติดเชื้อในคนที่ไม่มีอาการ เพราะสร้างปัญหาใหม่ตามมามากมาย เสียทั้งเงิน ต้องตรวจซ้ำด้วย RT-PCR เสียเวลา สร้างความเครียด ความหวาดกลัว ตื่นตระหนกตกใจโดยไม่จำเป็น อาจเพิ่มจำนวนคนติดเชื้อ เพราะเอาคนที่ไม่ได้ติดเชื้อ ไปกักตัวอยู่ร่วมกับคนติดเชื้อโควิดในโรงพยาบาลสนามเป็นต้น
อย่างกรณีโรงเรียนที่ จ.มุกดาหาร ตรวจ ATK ได้ผลบวกปลอมในเด็กและครูประมาณ 100 คน ทำให้ทุกคนถูกกักตัว บางคนถูกแยกตัวไปอยู่ในโรงพยาบาลสนาม โรงเรียนทำความสะอาดและฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ปิดการเรียนการสอนชั่วคราวรวม 10 วัน

ใช้ชุดตรวจ ATK อาจมีผลเสียตามมามากกว่า
ต่อมามีการส่งเก็บสิ่งส่งตรวจไปตรวจรหัสพันธุกรรม RT-PCR ซ้ำ ซึ่งผลออกมาเป็นลบ ไม่พบว่าคนไหนติดเชื้อ แสดงว่า ATK ให้ผลบวกปลอมเยอะมาก 
ปกติแล้วผู้ที่ติดเชื้อต้องมีผลการตรวจเป็นบวก และผู้ที่ไม่ติดเชื้อต้องมีผลการตรวจเป็นลบ หากตรวจแล้วพบผลบวก ควรเป็นบวกจริง ทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่าติดเชื้อสูง ไม่ใช่บวกปลอมเป็นจำนวนมากอย่างในโรงเรียน จ.มุกดาหาร
ถึงเวลาแล้วเราควรพิจารณาแนวทางใหม่ในประเทศไทย ควรใช้ชุดตรวจ ATK เฉพาะในรายที่มีอาการผิดปกติ สงสัยว่าติดเชื้อ หรือมีความเสี่ยงที่รับเชื้อ เช่นมีประวัติใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ไม่ใช่นำไปตรวจเชิงรุก คัดกรองคนที่ไม่มีอาการ และไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงอย่างที่กำลังทำขณะนี้ ประโยชน์ที่ได้ ไม่คุ้มกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า กระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาช่องทางการจำหน่ายชุดตรวจเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงชุดตรวจ ATK โดยออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ อนุญาตให้ชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง หรือ ATK Self Test สามารถจำหน่ายได้ทั่วไปตามร้านค้าและช่องทางออนไลน์ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2564