ติดเชื้อโควิด 4 จังหวัดใต้แซงหน้า 6 จังหวัด กรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล

13 ต.ค. 2564 | 08:09 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ต.ค. 2564 | 15:09 น.

หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน 4 จังหวัดภาคใต้แซงหน้า 6 จังหวัด กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เหตุจากวิถีชีวิตที่จะต้องมีกิจกรรมร่วมกัน แนะเร่งทำความเข้าใจการป้องกันตนเอง

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
4 จังหวัดภาคใต้ ติดโควิดเพิ่ม จนแซงหน้า 6 จังหวัดกรุงเทพฯและปริมณฑลเรียบร้อยแล้ว
หมอเฉลิมชัย ระบุว่า จากสถานการณ์โควิดระบาดระลอกที่ 3 ของประเทศไทย ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ 1 เมษายน 2564 โดยการติดเชื้อเป็นจำนวนมาก เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑล อันประกอบด้วย นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร รวม 6 จังหวัด
โดยในช่วงที่เป็นจุดสูงสุดของการติดเชื้อระลอกนี้ในกลางเดือนสิงหาคมนั้น
กรุงเทพและปริมณฑล มีผู้ติดเชื้อมากกว่าวันละ 10,000 คน และในปัจจุบันได้ลดลงมาเหลือ 1978 คน(กราฟเส้นสีน้ำเงิน)
ในขณะที่ในกลุ่มต่างจังหวัด ซึ่งเคยติดเชื้อรวมมากกว่าวันละ 10,000 คนเช่นกัน ก็ได้ลดลงมา แต่ช้ากว่ากรุงเทพฯและปริมณฑล เหลือวันละ 5000 คน (กราฟเส้นสีเขียว)
ในขณะที่กราฟเส้นสีส้ม แสดง 4 จังหวัดภาคใต้ จะเห็นการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อ

จำนวนผู้ป่วย-ผู้ติดเชื้อโควิดในชุมชน
โดยตัวเลขล่าสุด มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 1999 คน มากกว่ากรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งติดเชื้อเพียง 1978 คน ในขณะที่ 67 จังหวัดที่เหลือติดเชื้อเพิ่ม 5254 คน
ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมของกรุงเทพฯและปริมณฑลน้อยกว่าในต่างจังหวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
และถ้าดู 10 อันดับสูงสุด (Top Ten) ของผู้ติดเชื้อเพิ่มรายวัน จะพบว่า 4 จังหวัดภาคใต้ติดอยู่ในอันดับTop Ten ทั้งหมด คือ

ปัตตานี อันดับที่สอง 566 คน
ยะลา อันดับที่สี่ 493 คน
นราธิวาส อันดับที่ห้า 473 คน 
สงขลา อันดับที่หก 467 คน
ในขณะที่กรุงเทพฯและปริมณฑลติดอันดับ Top Ten เพียงสองจังหวัดคือ
กรุงเทพฯ อันดับหนึ่ง 1170 คน 
สมุทรปราการ อันดับเจ็ด 425 คน

สถานการณ์การติดเชื้อตามพื้นที่
ซึ่งปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้การติดเชื้อในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จนต่ำกว่า 4 จังหวัดภาคใต้คือ จำนวนของการฉีดวัคซีน
ซึ่งจากตัวเลขสถิติ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564
กรุงเทพฯและปริมณฑลฉีดวัคซีน
เข็มหนึ่ง 80.4% 
เข็มสอง 47.5%
ในขณะที่ต่างจังหวัดฉีดวัคซีน
เข็มหนึ่ง 37.3% 
เข็มสอง 24.7%

ข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด
อย่างไรก็ตามเมื่อดูในรายจังหวัด พบว่า
ยะลาฉีดวัคซีน
เข็มหนึ่ง 46.8% เข็มสอง 29.0% 
สงขลาฉีดวัคซีน
เข็มหนึ่ง 43.1% เข็มสอง 29.2%

จะเห็นได้ว่าปริมาณการฉีดวัคซีนของจังหวัดภาคใต้ ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของต่างจังหวัดที่เหลือ
จึงคงไม่ใช่ปัจจัยวัคซีนแต่เพียงอย่างเดียว เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ในต่างจังหวัดอีก 67 จังหวัด ซึ่งฉีดวัคซีนน้อยกว่า 4 จังหวัดภาคใต้ ก็ควรจะมีอัตราเพิ่มผู้ติดเชื้อมากกว่า

จึงคาดว่าปัจจัยที่อาจจะทำให้ 4 จังหวัดภาคใต้มีการติดเชื้อสูงก็คือ
เรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ที่คนใน 4 จังหวัดภาคใต้ มักจะมีกิจกรรมร่วมกัน ที่มีการรวมกลุ่มขนาดใหญ่กันเป็นประจำ และมักจะไม่สามารถรักษาระยะห่างทางสังคมได้ และมีจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ใส่หน้ากากในระหว่างทำกิจกรรม
ดังนั้น นอกจากการเร่งระดมฉีดวัคซีนใน 4 จังหวัดภาคใต้ เพื่อควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อแล้ว
ยังจะต้องเร่งทำความเข้าใจ เกี่ยวกับวินัยในการป้องกันตนเอง ทั้งในเรื่องการใส่หน้ากากอนามัย ในเรื่องการรักษาระยะห่างสังคม ของประชาชนในจังหวัดภาคใต้ด้วย
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 13 ตุลาคม 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 10,064 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,946 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 118 ราย ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,711,565 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 82 ราย หายป่วย 10,988 ราย กำลังรักษา 107,168 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,587,917 ราย