เงินเยียวยา 5000 บาท แท็กซี่ วินมอ’ไซ พื้นที่สีแดงเข้ม เช็คเงื่อนไขที่นี่

12 ต.ค. 2564 | 15:20 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ต.ค. 2564 | 23:02 น.
7.4 k

ตรวจสอบเงื่อนไข คุณสมบัติ ก่อนลงทะเบียนรับเงินเยียวยา ช่วยเหลือกลุ่มอาชีพขับรถสาธารณะ รถแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือ พื้นที่สีแดงเข้มใน 29 จังหวัด กรอบวงเงิน 166.94 ล้านบาท 

วันที่ 12 ตุลาคม 2564 มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการเยียวยารถสาธารณะ หรือ โครงการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65 ปี ในพื้นที่สีแดงเข้ม หรือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จำนวน 29 จังหวัด 

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบมติครม.การจายเงินเยียวยารถสาธารณะดังกล่าว พบข้อมูลดังนี้ 

  • ผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) 12,918 คน 
  • ผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ 3,776 คน 
  • รวม 16,694 คน 

 

คุณสมบัติ

  • รถยนต์รับจ้าง(รถแท็กซี่) รถจักรยานยนต์รับจ้าง ที่มีอายุเกิน 65 ปี 
  • อยู่ในกลุ่มแรงงานนอกระบบ
  • ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 39 และ 40 
  • มีฐานข้อมูลใบอนุญาตขับรถสาธารณะ
  • กลุ่มแท็กซี่เช่าให้นิติบุคคลรถเช่า/สหกรณ์เป็นผู้รับรอง
  • อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด 

เงื่อนไขจ่ายเงิน

  • สนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ 5,000 บาท/คน/เดือน 
  • อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด จ่าย 2 เดือน 
  • อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 16 จังหวัดเพิ่มเติม จ่าย 1 เดือน 

 

ช่องทางโอนเงิน 

  • โอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ (Promptpay) ผูกบัญชีกับเลขบัตรประชาชน 
  • หรือโอนตามวิธีการอื่นที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด 
  • คาดโอนรอบแรก 8 – 12 พ.ย.64 /รอบที่สอง 22 – 26 พ.ย.64

เงินเยียวยา 5000 บาท แท็กซี่ วินมอ’ไซ พื้นที่สีแดงเข้ม เช็คเงื่อนไขที่นี่

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่อยู่ในกลุ่มแรงงานนอกระบบและไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด

แบ่งเป็น ผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) 12,918 คน และผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ 3,776 คน รวม 16,694 คน โดยจะสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ คนละ 5,000 บาทต่อเดือน ภายใต้กรอบวงเงิน 166.94 ล้านบาท

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด สนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าครองชีพเป็นระยะเวลา 2 เดือน ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 16 จังหวัดเพิ่มเติม สนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าครองชีพระยะเวลา 1 เดือน 
 
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมถึงวิธีการลงทะเบียนร่วมโครงการฯ ว่า กรมการขนส่งทางบกจะเปิดให้มีการลงทะเบียนตามหลักเกณฑ์ของโครงการฯ และดำเนินการตรวจสอบข้อมูลผู้ประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีอายุเกิน 65 ปี

จากฐานข้อมูลใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ (รถแท็กซี่) และใบอนุญาตขับ รถจักรยานยนต์สาธารณะ สำหรับกลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่เช่าที่ไม่สามารถตรวจสอบพื้นที่ให้บริการได้ จะต้องทำการตรวจสอบยืนยันตัวตนก่อน เช่น ให้นิติบุคคลรถเช่า/สหกรณ์แท็กซี่เป็นผู้รับรอง เป็นต้น

ซึ่งกรมการขนส่งทางบกจะจ่ายเงินด้วยวิธีการโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ (Promptpay) เฉพาะการผูกบัญชีกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือตามวิธีการอื่นที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด คาดว่าจะจ่ายเงินรอบแรกระหว่างวันที่ 8 – 12 พฤศจิกายน และจ่ายเงินรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 22 – 26 พฤศจิกายน 
 
“โครงการฯ ดังกล่าวจะช่วยรักษาคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้างและรถจักรยานยนต์สาธารณะ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมทั้งเป็นการช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ เนื่องจากระบบการขนส่งสาธารณะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศน์ธุรกิจด้านการขนส่งด้วยรถสาธารณะ ที่จะส่งผลให้ประชาชนยังคงได้ใช้บริการรถสาธารณะที่มีคุณภาพ มีความครอบคลุมในพื้นที่อย่างปลอดภัยต่อไป” นายธนกรฯ กล่าว