รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
วัคซีนโควิดเชื้อตายตัวแรกของยุโรป โดยฝรั่งเศสเร่งวิจัยวัคซีนจนเกือบสำเร็จแล้ว คาดว่าจะขออนุมัติได้ในปลายปีนี้
ในช่วงที่ผ่านมา นับจากเคสแรกของโควิดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562
หากนับถึงปัจจุบัน ก็เป็นเวลากว่า 1 ปี 9 เดือนนั้น มีการระบาดอย่างกว้างขวางกว่า 200 ประเทศ
มีผู้ติดเชื้อถึงปัจจุบัน 238 ล้านคน เสียชีวิตไป 4.86 ล้านคน
โดยที่มนุษยชาติ ได้รวมพลังกันวิจัยพัฒนาวัคซีนนับร้อยชนิด โดยอยู่ในเฟสสาม 37 ชนิด และถ้ารวมทุกเฟสจำนวน 139 ชนิดด้วยกัน
โดยที่โลกตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป จะเน้นพัฒนาวัคซีนเทคโนโลยี mRNA , Viral vector และ Protein subunit โดยที่ยังไม่มีวัคซีนที่เป็นเทคโนโลยีเชื้อตาย (Inactivated vaccine)เลย
ในขณะนี้ทางบริษัท Valneva ของประเทศฝรั่งเศส ได้แถลงว่า ทางบริษัท ได้ทำการวิจัยพัฒนาวัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย
โดยเริ่มมาตั้งแต่มกราคม 2563 แต่ประสบปัญหาอุปสรรคบางประการ ทำให้เกิดความล่าช้า
ขณะนี้มีข่าวดีว่า วัคซีนได้เข้าสู่การวิจัยพัฒนาเฟสสามแล้ว คาดว่าจะสามารถยื่นขออนุมัติให้ฉีดได้ในปลายปีนี้
โดยมีประเทศอังกฤษ สนใจสั่งจองไว้แล้ว 100 ล้านโดส
บริษัท Valneva ของฝรั่งเศส ได้วิจัยพัฒนาวัคซีนที่ใช้ชื่อว่า VLA 2001
โดยเป็นการใช้ไวรัสทั้งตัว มาทำให้ตาย ที่เรียกว่าวัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย
โดยจะเน้นให้มีโปรตีนส่วนหนาม(S-protein) เป็นหลัก แต่ก็จะมีส่วนอื่นด้วย จึงคาดว่าน่าจะรองรับไวรัสกลายพันธุ์ได้ดี เพราะมีส่วนต่างๆของไวรัสทั้งตัว ไม่ใช่เฉพาะส่วนหนาม
โดยวัคซีนจะมีการเติมตัวกระตุ้น(Adjuvant) สองชนิดคือ alum และ CpG 1018 ซึ่งจะทำให้ระดับภูมิคุ้มกันขึ้นสูงกว่าปกติ คาดว่าวัคซีนดังกล่าว จะเหมาะสำหรับการใช้ฉีดในกลุ่มเสี่ยง เช่น อายุมาก หรือภูมิคุ้มกันต่ำ และคาดว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นหลังจากวัคซีนเทคโนโลยีอื่นแล้ว
ขณะนี้ทำการทดลองเฟสสามอยู่ในประเทศอังกฤษและนิวซีแลนด์ โดย Valneva เป็นบริษัทฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงทางด้านการผลิตวัคซีน ได้เคยผลิตวัคซีนไข้สมองอักเสบและวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคมาแล้ว
สำหรับวัคซีนโควิด-19 (covid-19)ในปัจจุบันจะมีชนิดใด และมีการอนุมัติใช้อย่างไรบ้าง "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมไว้ให้แล้ว พร้อมประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดแต่ละยี่ห้อ ประกอบด้วย
ยี่ห้อวัคซีนโควิดที่ WHO อนุมัติให้ใช้งานได้
Pfizer ประเทศสหรัฐอเมริกา (ประสิทธิภาพ 95%)
Moderna ประเทศสหรัฐอเมริกา (ประสิทธิภาพ 94.5%)
Johnson and Johnson ประเทศสหรัฐอเมริกา (ประสิทธิภาพ 66%)
AstraZeneca ประเทศอังกฤษ (ประสิทธิภาพ 65%)
Covishield ประเทศอินเดีย (ประสิทธิภาพ 72%)
ยี่ห้อวัคซีนโควิดที่ WHO อนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน
(สามารถฉีดได้ตั้งแต่กลุ่มคนอายุ 18 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้สูงอายุ)
Sinovac ประเทศจีน (ประสิทธิภาพ >50%)
Sinopharm ประเทศจีน (ประสิทธิภาพ 79-86%)
ยี่ห้อวัคซีนโควิดที่อยู่ระหว่างรออนุมัติจาก WHO
Novavax ประเทศสหรัฐอเมริกา (ประสิทธิภาพ 89%)
Sputnik-V ประเทศรัสเซีย (ประสิทธิภาพ 91%)
Covaxin ประเทศอินเดีย (ประสิทธิภาพ 81%)
CanSino ประเทศจีน (ประสิทธิภาพ 65%)