"ยารักษาโควิด-19" หมอมนูญเทียบประสิทธิภาพโมลนูพิราเวียร์-ฟาวิพิราเวียร์

06 ต.ค. 2564 | 08:12 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ต.ค. 2564 | 15:11 น.
3.5 k

หมอมนูญเปิดข้อมูลเทียบประสิทธิภาพยารักษาโควิด-19 โมลนูพิราเวียร์กับฟาวิพิราเวียร์ ชี้โมลนูพิราเวียร์จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมในการรักษาโรคโควิด-19 ในประเทศไทย

รายงานข่าวระบุว่า นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC) โดยมีข้อความระบุว่า
เปรียบเทียบประสิทธิภาพยาเม็ดฟาวิพิราเวียร์กับยาโมลนูพิราเวียร์
ยาฟาวิพิราเวียร์มีประสิทธิภาพช่วยให้อาการดีขึ้น ลดความรุนแรงของโรค ลดจำนวนไวรัสในร่างกาย ลดการใช้ออกซิเจนได้ แต่ช่วยได้น้อยไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ และยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ช่วยลดการเสียชีวิตในคนไข้โรคโควิด-19 (covid-19
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่คิดค้นยาฟาวิพิราเวียร์ รวมทั้งหลายประเทศไม่รับรองให้ใช้ยาตัวนี้ในการรักษาโรคโควิด ด้วยเหตุผลให้ยากับไม่ให้ยา ผลการรักษาต่างกันน้อยมาก และยังได้ผลข้างเคียงจากยา
ยาโมลนูพิราเวียร์สามารถลดความเสี่ยงที่จะเข้านอนโรงพยาบาลได้ถึง 50%  ผู้ติดเชื้อที่ไวรัสโควิด-19 ที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ไม่มีใครเสียชีวิตเลย ในขณะที่คนที่ได้รับยาหลอกกลับมีผู้เสียชีวิต 8 รายจากจำนวนทั้งหมด 775 ราย มีผลข้างเคียงไม่ต่างจากยาหลอก ยานี้กำลังจะได้รับรองให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา

หมอมนูญ ระบุต่ออีกว่า ในอนาคตอันใกล้เมื่อเรามีอาการสงสัยติดเชื้อไวรัสโควิด รีบตรวจด้วยวิธี ATK ใช้ชุดตรวจเร็วด้วยตัวเอง เมื่อได้ผลบวก รีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจยืนยันด้วยการตรวจหารหัสพันธุกรรม RT-PCR ถ้ายืนยันบวกจริง ให้รีบรับประทานยาโมลนูพิราเวียร์ 4 แคปซูล วันละ 2 ครั้ง โดยเริ่มกินที่บ้านต่อเนื่อง 5 วันทั้งหมด 40 แคปซูล ต้องรีบกินเร็วภายใน 5 วันที่มีอาการถึงจะได้ผลดี

แผนผลิตยาฟาวิพิราเวียร์
เดือนพฤศจิกายนนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์จะเข้าประเทศไทย แพทย์ไทยคงจะเลือกไม่ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ผมขอเสนอให้องค์การเภสัชกรรมหยุดผลิตและเลิกนำยาฟาวิพิราเวียร์เข้าจากต่างประเทศ  มิฉะนั้นเราจะมียาฟาวิพิราเวียร์เหลือมากมาย เป็นการเสียงบประมาณโดยไม่จำเป็น
ยาโมลนูพิราเวียร์ในอนาคตจะนำเข้าจากประเทศอินเดีย ราคาคงไม่แพง ผมเชื่อว่าอาจจะถูกกว่ายาฟาวิพิราเวียร์ด้วยซ้ำ
สรุป: โมลนูพิราเวียร์ ยาต้านไวรัสตัวใหม่ชนิดเม็ด จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมในการรักษาโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ลดการป่วยหนักและเสียชีวิต

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย วันที่ 6 ตุลาคม 2564 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 9,866 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,821 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 45 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,638,234 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 102 ราย หายป่วย 10,115 ราย กำลังรักษา 108,022 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,514,344 ราย