กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หมอยงชี้มีอาการเจ็บหน้าอก-หายใจเหนื่อย-เป็นลม

01 ต.ค. 2564 | 08:24 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ต.ค. 2564 | 15:23 น.

หมอยงไขข้อสงสัยอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ชี้มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจเหนื่อย ในสั่น หรือเป็นลมอย่างน้อย 1 อาการ แนะควรมีการเก็บข้อมูล ที่กำหนดหลักเกณฑ์การวินิจฉัยและรักษา

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความว่า
โควิด-19  วัคซีน  กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
ยง ภู่วรวรรณ ไพโรจน์ โชติวิทยธารากร  
เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ  อาจไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย เพียงเจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว หรือรุนแรง หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นลม ช็อค เสียชีวิตเฉียบพลัน
การวินิจฉัยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
น่าจะเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
อาการแสดงผิดปกติ เจ็บหน้าอก หายใจเหนื่อย ใจสั่น หรือเป็นลม อย่างน้อย 1 อาการ ร่วมกับ การมีความผิดปกติตระดับ troponin สูงกว่าปกติ คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ การทำงานของหัวใจลดลงจากการตรวจคลื่นสะท้อนหัวใจความถี่สูง (echocardiogram) หรือ MRI หัวใจเข้าได้กับกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อย่างน้อย 1 อย่าง ร่วมกับ ไม่มีสาเหตุที่อธิบายความผิดปกติดังกล่าวเบื้องต้น
ยืนยันกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ  

ประกอบด้วยอาการแสดงอย่างใดอย่างหนึ่งได้แก่ เจ็บหน้าอก หายใจเหนื่อย ใจสั่น หรือเป็นลม อย่างน้อย 1 อาการ ร่วมกับ การมีพยาธิสภาพผิดปกติจากการตรวจชิ้นเนื้อหัวใจ หรือมีระดับ troponin สูง และ MRI หัวใจ มีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ร่วมกับ ไม่มีสาเหตุอื่นที่อธิบายความผิดปกติดังกล่าว
การวินิจฉัยเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ประกอบด้วย เจ็บหน้าอกที่จำเพาะ อาการเจ็บแปล๊บๆ ที่หน้าอก อาการมากขึ้นเมื่อหายใจเข้าลึกๆ หรือไอ และอาการดีขึ้นเมื่อนั่งหรือโน้มตัวไปด้านหน้า ตรวจมีเสียงเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericardial rub) คลื่นไฟฟ้าหัวใจแสดงการมีเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หรือตรวจพบน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจจากการตรวจคลื่นสะท้อนหัวใจความถี่สูง (echocardiogram) อย่างน้อย 2 อาการหรือการตรวจ

โควิด-19  วัคซีน  กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
อุบัติการณ์การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากวัคซีนโควิดชนิด mRNA ในประชากรอายุ 12-29 ปี ที่มีอุบัติการสูง ควรมีการเก็บข้อมูล ที่กำหนดหลักเกณฑ์การวินิจฉัยและรักษา ระบบการรายงานอุบัติการณ์ มีหน่วยงานรับผิดชอบ จะทำให้ทราบถึงอุบัติการณ์ที่แท้จริง รวมทั้งผลระยะยาวของอาการข้างเคียงดังกล่าว สามารถใช้ในการวางแผนการให้วัคซีนโควิดในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประเด็นดังล่าวมาจากผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนโควิดชนิด mRNA ซึ่งก่อนหน้านี้ "หมอยง" ได้นำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไปแล้ว และ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้เผยแพร่สู่สาธารณะชน โดยข้อความส่วนหนึ่งระบุว่า 
วัคซีน mRNA อาการข้างเคียงที่สำคัญคือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
อายุน้อยพบมากกว่าผู้ที่สูงอายุ
เพศชายพบมากกว่าเพศหญิง
ส่วนใหญ่พบในเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มแรก
ประเทศ อังกฤษ สวีเดน และฮ่องกง ให้ฉีดเพียงเข็มเดียว 
การฉีดเข็มเดียวภูมิต้านทานที่เกิดขึ้น ไม่เพียงพอ