วันที่ 16 กันยายน 2564 ถือเป็นวันแรกที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เริ่มแจกชุดตรวจ ATK (Antigen test kit) 8.5 ล้านชุดแก่ประชาชน โดยตามแผนงานที่วางไว้ จะประเดิมแจกในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงจังหวัดในพื้นที่สีแดงก่อน
ในวันแรกนี้ได้ส่งมอบชุดตรวจจำนวน 1,167,250 ชุด ให้กับหน่วยบริการในเขต กทม. ได้ทั้งหมด รวมทั้งพื้นที่จังหวัดสระบุรี นครราชสีมา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ส่วนพื้นที่สีแดงเข้มอื่นจะเริ่มทยอยส่งได้ในวันที่ 17 ก.ย. 64 และพื้นที่สีแดงจะจัดส่งในวันถัดไป (วันที่ 18 ก.ย. 64)
ประชาชนที่ต้องการรับชุดตรวจโควิด ATK (Antigen test kit) สามารถทำได้ 2 วิธี 1.ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันแอปเป๋าตัง แล้วเลือกร้านยาที่ต้องการไปรับ ATK และ 2. วอล์ก อิน walk in เข้ามาติดต่อที่ร้านยา อย่างไรก็ตามชุดตรวจ ATK จะไม่แจกให้ทุกคน แต่จะแจกให้เฉพาะกลุ่มเสี่ยง โดยไม่ว่าจะขอรับด้วยวิธีใดก็ตาม จะต้องมีการทำแบบประเมินความเสี่ยงก่อน เพื่อคัดกรองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจหาเชื้อหรือไม่
สำหรับประชาชนที่กำลังจะตัดสินใจลงทะเบียนขอรับชุดตรวจโควิด ATK ผ่านแอปฯเป๋าตัง วันนี้"ฐานเศรษฐกิจ "ได้รวบรวมข้อควรรู้ - คำถามยอดฮิตก่อนจะรับชุดตรวจ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.หากจะขอรับชุดตรวจ ATK ทำได้อย่างไร
ทำแบบประเมินความเสี่ยงผ่านแอปฯเป๋าตังก่อน หากผลมีความเสี่ยง จึงเริ่มค้นหาหน่วยบริการใกล้ฉัน
ไปรับชุดตรวจ ATK ภายในวันนั้น เนื่องจากแบบประเมินมีอายุ 1 วัน
2.ค้นหาหน่วยบริการแจก ATK ได้อย่างไร
ค้นหาหน่วยบริการโดยใช้เมนู หน่วยบริการใกล้ฉัน เพื่อโทรศัพท์สอบถามชุดตรวจคงเหลือ หรือ การเดินทาง
3.ค้นหาหน่วยบริการได้ไกลแค่ไหน
ระยะทางการค้นหาอยู่ที่ 50 กิโลเมตร แสดงผลตามลำดับจากใกล้สุดก่อน
4.หากไม่มีมือถือสมาร์ทโฟน ต้องทำอย่างไร
กรณีอยู่ในชุมชนสอบถามจาก อสม.หรือ อสส.
ไปขอรับได้ที่ รพ. และ รพ.สต.ที่เข้าร่วมโครงการ โดยสามารถสแกน QR CODE เช็ครายชื่อหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ (คลิกที่นี่) หรือ สังเกตจากสติ๊กเกอร์หน้าร้านที่ระบุว่าเป็นจุดแจก ATK ฟรีให้ประชาชนตรวจโควิดด้วยตัวเอง
หมายเหตุ.หากไปขอรับแจก ATK ที่คลินิกและร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ เฉพาะผู้ที่มีมือถือสมาร์ทโฟนเท่านั้น
5.ได้รับชุดตรวจแล้วต้องทำอย่างไร
นำชุดตรวจที่ได้รับกลับมาตรวจที่บ้านด้วยตนเอง
ศึกษาการใช้งานได้จากเมนูวิธีใช้ชุดตรวจฯและเมนูวิธีการอ่านผลตรวจก่อนเพื่อความถูกต้องในการตรวจ
บันทึกผลการตรวจทันทีผ่านเมนู บันทึกผลตรวจ
6.ได้ชุดตรวจ 2 ชิ้นควรใช้อย่างไร
เนื่องจากผู้ขอรับชุดตรวจมีความเสี่ยง เมื่อกลับถึงบ้านควรตรวจทันที หากผลเป็นลบไม่พบเชื้อ ควรเว้นระยะไว้ 5 วัน เพื่อตรวจซ้ำด้วยชุดตรวจที่เหลือ แต่หากผลตรวจเป็นบวก(ติดเชื้อโควิด-19)ให้บันทึกผลผ่านเมนู บันทึกผลตรวจทันที
7.การบันทึกผลตรวจมีความจำเป็นหรือไม่
การบันทึกผลตรวจเป็นสิ่งสำคัญเมื่อทำการตรวจหาเชื้อแล้วควรบันทึกผลตรวจทันที และเป็นหนึ่งเงื่อนไขหากไม่บันทึกผลจะไม่สามารถรับชุดตรวจในครั้งถัดไปได้
8.การขอรับชุดตรวจเพิ่มได้อีกหรือไม่
เงื่อนไขคือรับได้ รับครั้งละ 2 ชุด สำหรับใช้ตรวจเว้นระยะ 5 วันเพื่อตรวจซ้ำ และขอรับใหม่ได้ในวันที่ 10 ถัดจากวันที่ขอรับล่าสุด เช่น รับชุดตรวจ 1 ตุลาคม สามารถขอรับได้อีกครั้ง วันที่ 11 ตุลาคม
9.หากพบว่าติดเชื้อต้องทำอย่างไร
เมื่อกดบันทึกผลแล้ว จะมีข้อมูลแนะนำให้เลือกการลงทะเบียนดูแลที่บ้าน หรือ Home Isolation ของสปสช. โดยสามารถเลือกได้ 2 แบบดังนี้ 1.ลงทะเบียนรักษาตัวที่พักปัจจุบัน 2.ลงทะเบียนรักษาตัวที่ภูมิภาค
10.หลังพบเชื้อสามารถขอรับชุดตรวจได้อีกหรือไม่
หลังบันทึกผลว่าพบเชื้อ จะยังไม่สามารถขอรับชุดตรวจได้ โดยจะเว้นระยะที่ 90 วันนับจากวันที่บันทึกผลตรวจว่าพบเชื้อ จึงจะกลับมาขอรับชุดตรวจได้อีกครั้ง ซึ่งการเว้นระยะ 90 วันนั้น มาจากเมื่อหายจากโรคแล้วจะมีภูมิที่ค่อนข้างสูง จึงมีความเสี่ยงน้อยลง ที่จะเกิดการติดซ้ำ ในช่วงเวลาดังกล่าว
11.ชุดตรวจแปลผลไม่ได้ทำอย่างไร
ไปที่เมนูบันทึกผลตรวจ เลือก"แปลผลไม่ได้" และจะยังไม่สามารถนำชุดตรวจที่ใช้แปลผลไม่ได้ไปแลกชุดใหม่ แต่สามารถทำแบบประเมินความเสี่ยงใหม่เพื่อรอรับชุดตรวจเพิ่มเติมได้อีก 10 วันถัดจากวันรับครั้งก่อน
12.การลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา
ลงทะเบียนรักษาตัวที่พักปัจจุบัน Home Isolation
ลงทะเบียนรักษาตัวที่ภูมิภาค
ทั้งนี้ระบบของสปสช.จะจับคู่หน่วยบริการเพื่อการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน หลังบันทึกข้อมูลครบถ้วนสามารถเช็คผลการจับหาหน่วยบริการผ่านการสแกน QR CODE โดยใช้เลขประจำตัวประชาชนหรือเลขหนังสือเดินทางไทยและเบอร์โทรผู้ป่วย