สรุปแผนฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้นักเรียน 12-18 ปี ลุ้นทันเปิดเทอม

14 ก.ย. 2564 | 10:40 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2564 | 17:54 น.

แผนฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้นักเรียน 12-18 ปี ในสังกัดกว่า 4.5 ล้านคน คาดเริ่มฉีด ต.ค. นี้ ต้อนรับเปิดเทอม 2 เดือน พ.ย.นี้

สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิดเริ่มมีแนวโน้มดี ยอดติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตลดต่ำลงเรื่อยๆ หลายคนเริ่มใจชื้นขึ้นมาหน่อยแม้จะยังนิ่งนอนใจไม่ได้ก็ตาม ขณะเดียวกันก็เริ่มมองเห็นโอกาสที่เด็กๆจะได้กลับมาเรียนในโรงเรียนอีกครั้ง

กลุ่มนักเรียนอายุเท่าไหร่ได้ฉีดไฟเซอร์

กลุ่มนักเรียน อายุ 12-17 ปี เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับการจัดสรรให้ได้รับวัคซีนโควิดชนิด mRNA ยี่ห้อไฟเซอร์ ในเดือน ต.ค. นี้ กระทรวงสาธารณสุขวางแผนว่าจะฉีดทั่วประเทศ 4.5 ล้านคน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดหาวัคซีนในเดือน ต.ค. ทั้งสิ้น 24 ล้านโดส

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่าแผนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับนักเรียนช่วงอายุดังล่าว จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง กระทรวงศึกษาธิการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดทำแบบสำรวจความยินยอมจากผู้ปกครองแล้ว คาดว่าปลายเดือน ก.ย.นี้ จะได้ข้อมูลสรุปจำนวนนักเรียนที่ผู้ปกครองยินยอมให้ฉีดวัคซีนได้

ส่วนการเปิดภาคเรียนของกลุ่มนักเรียนตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงประถมศึกษาที่มีอายุยังไม่ถึง 12 ปี กระทรวงศึกษาธิการได้วางแผนการจัดการเรียนการสอนแบบออนไซต์ ออนไลน์ ออนดีมานด์ และออนแฮนด์ รวมถึงการสลับวันมาเรียนและจำกัดจำนวนนักเรียน ขณะเดียวกันพื้นที่ไหนที่ชุมชนปลอดภัย ไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อและเป็นพื้นที่สีเขียวแล้วสามารถเปิดเรียนได้ตามปกติ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มั่นใจว่าจะดำเนินการได้ก่อนเปิดเทอมแน่นอน เพราะวางแผนเตรียมการไว้แล้ว จึงขอความร่วมมือผู้ปกครองยินยอมให้บุตรหลานฉีดวัคซีน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับจากการฉีดวัคซีน

ส่วนการตรวจสอบเอกสารการฉีดชิโนฟาร์มให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปีนั้น ขณะนี้ อย.ได้รับนโยบายที่ชัดเจนแล้วกำลังเร่งดำเนินการซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับเอกสาร

ความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 แนวทางเป็นอย่างไร

1.แผนฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ให้แก่กลุ่มเด็ก 12 ปี จนถึง 17 ปี 11 เดือน 29 วัน ณ วันที่ฉีด จะอนุโลมให้แก่กลุ่ม นร.ที่มีอายุเกิน 17 ปี 11 เดือน 29 วันด้วย จะครอบคลุมนักเรียนนักศึกษา ในระดับ ม. 1-6 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตร วิชาชีพชั้นสูง (ปวส) หรือ เทียบเท่าจะเริ่มฉีดในเดือน ต.ค.เป็นต้นไป ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 29 จังหวัดก่อน ตั้งเป้าให้ นร.ทุกคน ได้รับวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 1 อย่างครบถ้วน การฉีดวัคซีนให้เด็กจะเป็นไปตามความสมัครใจที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง สำหรับการฉีดวัคซีนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น ขณะนี้มีครูได้รับวัคซีนไปแล้วกว่า 70%

2.แผนโครงการโรงเรียน Sandbox Safety Zone in School (SSS) เป็นมาตรการสำหรับโรงเรียนประจำ เช่น รร.ศึกษาสงเคราะห์ รร.ราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนเอกชนที่มีความพร้อม โดย ศธ.จะประสานกับกระทรวงสาธารณสุขลงพื้นที่ตรวจโรงเรียนที่จะประสงค์เข้าโครงการว่าเป็นไปตามมาตรการที่วางไว้

3. ผ่านการประเมินความพร้อมโดยต้องแจ้งความประสงค์ผ่านตันสังกัด มีการหารือร่วมกับผู้ปกครองและผ่านความเห็นชอบ จากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จัดให้มีสถานแยกกักตัวในโรงเรียน (School Isolation) จัดให้มี Safety Zone ในโรงเรียน มีการติดตามประเมินผล โดยทีมตรวจการของ ศธ. สธ. รวมถึงมีการรายงานผล ผ่าน MOE COVID และ Thai stop covid plus

ขณะนี้ มีสถานศึกษาจำนวน 15,465 แห่ง ที่อยู่ในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด โดยใน 12 จังหวัด มีสถานศึกษา จำนวน 1,687 แห่ง ที่อยู่ในเขตพื้นที่ 45 อำเภอปลอดเชื้อ แบ่งเป็นสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาชั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 1,305 แห่ง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 111 แห่ง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 21 แห่ง และสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 250 แห่ง

1 พ.ย.นี้ มีลุ้นเปิดเทอม

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า เทอมที่ 2 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนสังกัด สพฐ.จะเปิดเรียนพร้อมกันวันที่ 1 พ.ย.นี้ จึงต้องเร่งฉีดวัคซีนให้เด็ก 2.9 ล้านคน และครู บุคลากรทางการศึกษาที่เหลืออีกประมาณ 2 แสนกว่าคน เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค.เป็นต้นไป พร้อมกับดูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ด้วยว่ามีการระบาดของโควิดหรือไม่ หากไม่มี น่าจะเปิดเรียนได้

ส่วนกรณีผู้ปกครองไม่ยินยอมให้นักเรียนฉีดวัคซีน จะมีมาตรการที่โรงเรียนกำหนด  เช่น อาจต้องตรวจหาเชื้อก่อนมาเรียน หรือหากเรียนแบบออนไลน์ที่บ้านก็ได้  สพฐ.จะจัดให้ตามความต้องการ

สำหรับครูที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มตั้งแต่เดือน พ.ค.หรือ มิ.ย.ฉีดซิโนแวค 2 เข็มแล้วจะให้ฉีดบูสต์เข็มที่ 3 หรือฉีดซิโนแวค 1 เข็มไปจะให้ฉีดไขว้วัคซีนตัวอื่นพร้อมกับการฉีดให้นักเรียน ดังนั้นหากเป็นไปตามแผนนี้การเปิดเทอมที่ 2 ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ มีความเป็นไปได้สูง

สธ.มั่นใจวัคซีนไฟเซอร์มีเพียงพอ

กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า ขณะนี้มีวัคซีนที่ อย.อนุมัติให้ฉีดในเด็กที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป คือวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 30 ล้านโดส เพียงพอต่อกลุ่มนักเรียนนักศึกษาอย่างแน่นอน โดยชี้แจงผู้ปกครองว่าวัคซีนที่นำมาฉีดนั้นเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย สธ. และ ศธ.จะร่วมกันดูแลเรื่องนี้เป็นอย่างดี โดยวัคซีนไฟเซอร์จะทยอยเข้ามาในช่วงปลายเดือน ก.ย.รอบละ 2 ล้านโดส

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ แนะนำฉีดวัคซีนโควิด ในเด็กอายุ 12 ขึ้นไป

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ออกคำแนะนำฉบับที่ 2 ระบุว่า ประเทศไทยมีวัคซีนที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยาแห่งประเทศไทย (อย.) ให้ใช้ในเด็กและวัยรุ่น โดยให้ตรงตามอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ และวัคซีนได้ผ่านการพิจารณาด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน

ซึ่งในขณะนี้มีวัคซีนโควิดเพียงชนิดเดียวคือ วัคซีนไฟเซอร์ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป

โดยแนะนำว่าให้ฉีดวัคซีนในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 16 ปีจนถึงน้อยกว่า 18 ปี ทุกรายหากไม่มีข้อห้ามในการฉีด ทั้งเด็กที่แข็งแรงและที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคโควิดที่รุนแรงอาจถึงแก่เสียชีวิต

สำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปจนถึงน้อยกว่า 16 ปี แนะนำให้ฉีดในกรณีเป็นผู้ป่วยเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้องรัง ซึ่งจะทำให้เกิดอาการของโรคที่รุนแรง ดังต่อไปนี้

1.บุคคลที่มีโรคอ้วน (ดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กก.ต่อตารางเมตร หรือมีน้ำหนัก 70 กก. ขึ้นไปในเด็กอายุ 12-13 ปี น้ำหนัก 80 กก. ขึ้นไปในเด็กอายุ 13-15 ปี น้ำหนัก 90 กก.ขึ้นไปในเด็กอายุ 15-18 ปี หรือเด็กอ้วนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น)

2.โรคทางเดินหายใจเรือรัง รวมทั้งโรคหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง

3.โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง

4.โรคไตวายเรื้อรัง

5.โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ

6.โรคเบาหวาน

7.กลุ่มโรคพันธุกรรมรวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า