โควิดสายพันธุ์เดลตายึดครอง กทม. เกือบ 100%-ยังไม่พบสายพันธุ์มิว

07 ก.ย. 2564 | 09:00 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ย. 2564 | 15:59 น.

หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 พบสายพันธุ์เดลตายึดครองกรุงเทพมหานครเกือบ 100% ระบุยังไม่พบสายพันธุ์มิว

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
ไวรัสสายพันธุ์เดลตายึดครองกรุงเทพเกือบครบ 100% ในระดับประเทศครองไป 93% แต่ยังไม่พบสายพันธุ์มิว และสายพันธุ์ C.1.2
นับจากที่โลกเราพบเคสแรกของโควิด-19  เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน เป็นไวรัสเริ่มต้นที่เรียกว่า ไวรัสสายพันธุ์หลัก หรือสายพันธุ์เดิม
หลังจากนั้นไวรัสก็ทยอยมีการกลายพันธุ์ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด ซึ่งหน่วยงานกลางที่ทำการรวบรวมสารพันธุกรรมคือ GSAID ได้รวบรวม สารพันธุกรรมของไวรัสไว้แล้วจำนวน 3.296 ล้านตัวอย่าง และพบไวรัสกลายพันธุ์นับสิบนับร้อยสายพันธุ์ย่อย
โดยองค์การอนามัยโลก ได้แบ่งกลุ่มไวรัสกลายพันธุ์ตัวที่มีความสำคัญออกเป็น
ไวรัสที่น่าเป็นห่วงกังวล (VOC) 
มี 4 สายพันธุ์หลัก ได้แก่
1.สายพันธุ์อัลฟา พบที่อังกฤษ
2.สายพันธุ์เบต้า พบที่แอฟริกาใต้
3.สายพันธุ์แกมมา พบที่บราซิล
4.สายพันธุ์เดลตา พบที่อินเดีย
และมีไวรัสที่รองลงมาคือ น่าจับตามอง (VOI) มีอีกห้าสายพันธุ์ ซึ่งล่าสุดคือไวรัสสายพันธุ์มิว (Mu)

โดยในไวรัสทั้ง 9 สายพันธุ์ดังกล่าว พบว่าไวรัสสายพันธุ์เดลตา มีความสามารถด้านการแพร่ระบาดที่กว้างขวางรวดเร็วที่สุดในโลก ทำให้ขณะนี้เป็นไวรัสสายพันธุ์หลัก มีการแพร่ระบาดไปแล้วเกือบ 200 ประเทศรวมทั้งในประเทศไทยด้วย
ส่วนไวรัสสายพันธุ์มิว เป็นไวรัสที่พบมีการกลายพันธุ์ ในตำแหน่งที่เชื่อได้ว่าอาจจะดื้อต่อวัคซีน และเจาะระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้ดี
ส่วนไวรัสสายพันธุ์ C.1.2 ที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจเพราะ พบว่าตำแหน่งของการกลายพันธุ์มีจำนวนมากเกือบเป็นสองเท่าของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อื่น
จึงทำให้เราต้องมาสนใจไวรัสอย่างน้อย สามชนิดในประเทศไทย ด้วยเหตุผลต่างๆกันดังนี้
1.ไวรัสสายพันธุ์เดลตา เนื่องจากเป็นไวรัสที่แพร่ระบาดได้กว้างขวางและรวดเร็วที่สุด
จากการรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ล่าสุด ในช่วง 28 สิงหาคมถึง 3 กันยายน 2564 จากการตรวจสารพันธุกรรม 1523 ตัวอย่าง

เดลตายึดครอง กทม. เกือบ 100%
พบไวรัสสายพันธุ์เดลตา 93% (1417 ตัวอย่าง) ครบทุกจังหวัดแล้ว
สายพันธุ์อัลฟา 5% (75 ตัวอย่าง)
สายพันธุ์เบต้า 2% (31 ตัวอย่าง)
แต่เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร พบไวรัสสายพันธุ์เดลต้ามากถึง 97.6% หรืออาจกล่าวได้ว่า ผู้ติดเชื้อใหม่เกือบทุกรายในกรุงเทพฯเป็นไวรัสเดลต้าทั้งหมดแล้ว
2.ไวรัสสายพันธุ์มิว เนื่องจากเป็นไวรัสที่มีโอกาสจะดื้อต่อวัคซีนมาก และอาจจะเจาะระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้ จึงต้องเฝ้าจับตามอง เพราะถ้าเข้ามาสู่ประเทศไทยแล้วก็จะเป็นปัญหาใหญ่
รายงานล่าสุดจากการตรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังไม่พบไวรัสสายพันธุ์มิวเข้ามา แต่ในเอเชียพบที่ญี่ปุ่นแล้ว
3.ไวรัส C.1.2 ซึ่งพบในแอฟริกาใต้ และมีข้อมูลว่ามีตำแหน่งของการกลายพันธุ์มากเป็นสองเท่าของไวรัสสายพันธุ์อื่น จึงทำให้ต้องระมัดระวัง ขณะนี้ประเทศไทยก็ยังไม่พบไวรัสสายพันธุ์นี้

โดยสรุป
ไวรัสสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยขณะนี้มีเพียง 3 สายพันธุ์ โดยมีเดลตาเป็นอันดับหนึ่ง 93% อัลฟา 5% และเบต้า 2%
ยังไม่พบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่น่าเป็นห่วงคือ สายพันธุ์มิว และสายพันธุ์ C.1.2
แต่ก็ไม่สามารถวางใจได้ เพราะถ้ายังมีการติดเชื้อในระดับค่อนข้างมาก โอกาสที่ไวรัสกลายพันธุ์ก็จะเกิดขึ้นได้เสมอ
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทย วันที่ 7 กันยายน 2564 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 13,821 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,303 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 518 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,279,480 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 241 ราย หายป่วย 16,737 ราย กำลังรักษา 145,465 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,122,169 ราย