ผลวิจัยจุฬาฯ พบฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ SV-AZ ได้ผลเทียบเท่า AZ-AZ

06 ก.ย. 2564 | 09:35 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2564 | 19:58 น.
1.2 k

หมอเฉลิมชัยเปิดเผยข้อมูลรายงานการศึกษาสูตรวัคซีนสลับของไทย คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ SV-AZ ได้ผลเทียบเท่า AZ-AZ

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
รายงานการศึกษาสูตรวัคซีนสลับของไทย รอการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์แล้ว สูตร SV-AZ ดีกว่า SV-SV และดีเทียบเท่า AZ-AZ
จากความรู้และประสบการณ์การฉีดวัคซีนประเภทต่างๆทั่วโลก ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จะพบมีการฉีดวัคซีนที่สลับบริษัท หรือสลับเทคโนโลยีมาโดยตลอด ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ อาทิเช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่คนจำนวนมากฉีดกันทั่วโลกเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ จะมีวัคซีนหลากหลายบริษัท และหลากหลายเทคโนโลยี แล้วก็มีการฉีดกันมาโดยสม่ำเสมอ ที่เกิดการสลับบริษัทและเทคโนโลยี ก็ไม่พบผลข้างเคียงที่มากกว่าปกติ และยังคงมีประสิทธิผลในการป้องกันโรคดี เช่นเดียวกับวัคซีนอีกหลากหลายชนิด ที่ฉีดในเด็กช่วงแรกเกิดถึงสี่ขวบปีแรก นับ 10 โดสต่อคน ก็จะมีหลายครั้งหลายหนที่เกิดมีวัคซีนสลับบริษัทหรือสลับเทคโนโลยี ด้วยเหตุปัจจัยจำเป็นต่างๆกัน
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ทำได้ ก็ยังคงยึดหลักฉีดวัคซีนของบริษัทเดิมเทคโนโลยีเดิมเป็นเบื้องต้น
วัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนใหม่ ยังไม่มีข้อมูลเดิมมารองรับการฉีดวัคซีนสลับบริษัทหรือสลับเทคโนโลยี แต่ก็มีเหตุจำเป็นในหลายประเทศเช่น เยอรมัน อังกฤษ เกาหลีใต้ ที่ทำให้เกิดการฉีดวัคซีนสลับเทคโนโลยีหรือสลับบริษัทขึ้น ซึ่งจากการติดตามผล ก็เรียบร้อยดี ทั้งเรื่องผลข้างเคียง และประสิทธิผล

ส่วนในประเทศไทยเรา เริ่มต้นด้วยการฉีดวัคซีน Sinovac เป็นหลักแล้วตามด้วย AstraZeneca ซึ่งเดิมก็ยึดหลักสากลทั่วไปคือ ฉีดวัคซีนเข็มหนึ่งและเข็มสองเป็นบริษัทเดียวกัน
แต่ก็มีกรณีเกิดเหตุจำเป็น ต้องทำให้สลับวัคซีน เช่น ฉีดเข็มหนึ่งแล้วมีอาการผลข้างเคียง หรือเข็มสองวัคซีนบริษัทเดิมมีไม่เพียงพอ จึงทำให้เกิดมีข้อมูลของการฉีดวัคซีนสลับ ระหว่าง Sinovac และ AstraZeneca
ทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษารวบรวมข้อมูลการฉีดวัคซีนสูตรสลับดังกล่าว จนได้จำนวนที่เพียงพอในเบื้องต้น ที่จะเสนอตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ได้ และขณะนี้ได้ไปรอตีพิมพ์แล้ว

ฉีดวัคซีน SV-SV ได้ผลดีเทียบเท่า AZ-AZ
โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจคือ
1.คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติให้ฉีดวัคซีน Sinovac และ AstraZeneca เป็นกรณีฉุกเฉินได้ในต้นปี 2564 โดย Sinovac ให้ฉีดได้ในอายุ 18-59 ปีในช่วงแรก และปรับเป็นมากกว่า 59 ปีได้ เมื่อมีรายงานรองรับ
ส่วนวัคซีนของ AstraZeneca ให้ฉีดตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไปได้
2.วัคซีน Sinovac และ AstraZeneca ซึ่งเข้ามาในช่วงเวลาใกล้เคียงกันคือกุมภาพันธ์ 2564 แต่ปริมาณของ Sinovac จะมีจำนวนมากและสม่ำเสมอ ส่วนของ AstraZeneca จะเริ่มมีปริมาณที่มากเพียงพอในเดือนมิถุนายน 2564 จึงทำให้มีเหตุจำเป็น ที่จะต้องฉีดวัคซีนสลับในบางราย

3.จากการเก็บข้อมูลพบว่า
ในกลุ่มตัวอย่างที่ฉีดวัคซีน SV-AZ มีจำนวน 54 ราย อายุเฉลี่ย 38 ปี
ในกลุ่มที่ฉีดวัคซีน SV-SV จำนวนตัวอย่าง 80 ราย อายุเฉลี่ย 42 ปี
ในกลุ่มที่ฉีดวัคซีน AZ-AZ จำนวนตัวอย่าง 80 ราย อายุ 48 ปี
ทำการเจาะหาระดับภูมิคุ้มกันพบว่ากลุ่มที่หายจากการติดเชื้อโดยธรรมชาติ มีระดับภูมิคุ้มกันที่ 78 U/mL (52.8 ถึง 115.8)
กลุ่มที่ฉีด Sinovac สองเข็มมีระดับภูมิคุ้มกัน 96.47 U/mL (16.1 ถึง 122.1)
กลุ่มที่ฉีดวัคซีน AstraZeneca สองเข็มระดับภูมิคุ้มกัน 818 U/mL (662.5 ถึง 1010)
และกลุ่มที่ฉีด Sinovac ตามด้วย AstraZeneca ระดับภูมิคุ้มกัน 797 U/mL (598.7 ถึง 1062)
จึงสรุปได้ว่า การฉีดวัคซีนสูตรสลับระหว่าง Sinovac และ AstraZeneca จะมีระดับภูมิคุ้มกันมากกว่าระดับภูมิคุ้มกันในผู้ที่หายป่วยจากโควิดตามธรรมชาติ และมากกว่าการฉีดวัคซีน Sinovac สองเข็ม โดยอยู่ในระดับเทียบเท่ากับการฉีด AstraZeneca 2 เข็ม
การฉีดวัคซีนสูตรสลับดังกล่าว จึงถือว่ามีระดับภูมิคุ้มกันที่ดี และสามารถนำไปเป็นตัวเลือกในการพิจารณากำหนดการฉีดวัคซีนต่อไป
การศึกษานี้มีข้อจำกัดในบางประเด็นได้แก่
1.ไม่ได้แยกการตรวจระดับภูมิคุ้มกันว่าเป็นแบบใด ( IgM / IgG )
2. ไม่ได้ดูเรื่อง T-cell
3.ไม่ได้เจาะจงไปที่ไวรัสสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งเป็นการเฉพาะ
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-4 ก.ย. 64 มีการฉีดวัคซีนแล้วจำนวน 35,587,676 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนนวน 25,104,942 ราย ฉีดครบ 2 เข็มจำนวน 9,879,371 ราย และฉีดเข็มที่ 3 จำนวน 603,363 ราย