อภ. เซ็นสัญญาATK LEPUกับ “เวิล์ด เมดิคอลฯ เตรียมส่งมอบล็อตแรก 7 ก.ย.

30 ส.ค. 2564 | 14:58 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ส.ค. 2564 | 22:55 น.

องค์การเภสัชกรรม และ เวิล์ด เมดิคอลฯผู้ชนะการประมูล ลงนามสัญญาจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด ให้สปสช.และโรงพยาบาลราชวิถี พร้อมส่งผลิตภัณฑ์บางส่วนเข้าตรวจสอบคุณภาพ ATK อีกครั้ง ก่อนส่งมอบและกระจายให้ประชาชน 7-9 กันยายนนี้

นพ.วิฑูรย์  ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมเปิดเผยว่า อภ. ได้ลงนามในสัญญากับบริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ เพื่อจัดซื้อ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ( สปสช. ) และโรงพยาบาลราชวิถี  หลังจากเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ที่คณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษของ สปสช. ที่ได้เห็นชอบราคาชุดตรวจ ATK ตามที่องค์การฯเสนอ และให้โรงพยาบาลราชวิถีดำเนินการจัดซื้อจากองค์การฯต่อไป

 

หลังจากเซ็นสัญญาภายใน 14 ผู้ชนะประมูลจะต้องนำเข้า ATK และจัดส่งให้หน่วยบริการจำนวน 1,000 แห่ง ตามที่ สปสช. กำหนด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างที่ สปสช.กำหนดสถานที่จัดส่งที่ชัดเจนอยู่ คาดว่าจะสามารถเริ่มกระจายได้ในช่วงวันที่ 8 หรือ 9 กันยายนนี้

 

นอกจากนี้ก่อนนำส่ง ATK ให้หน่วยบริการต่างๆนั้น จะมีคณะกรรมการตรวจรับสินค้าตาม TOR ตรวจประเมินใบตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ (COA) หรือเอกสารรับรองผลิตภัณฑ์ว่ามีคุณภาพเป็นไปตาม TOR ของผู้สั่งซื้อ  จากนั้นจะทำการสุ่มตัวอย่างไปตรวจทดสอบคุณภาพที่ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยทำการตรวจวิเคราะห์ในหัวข้อ ความไวเชิงวินิจฉัย (Diagnostic sensitivity)  ความจำเพาะเชิงวินิจฉัย (Diagnostic specificity) ความไม่จำเพาะต่อเชื้อ (Non-Specificity) ตามเกณฑ์การทดสอบที่ อย.กำหนด

และเมื่อได้รับผลทดสอบมาแล้ว องค์การฯ จะประเมินผลเทียบกับ TOR อีกครั้งหนึ่ง  ขณะเดียวกันองค์การฯจะทำการสุ่มตัวอย่าง เพื่อเก็บเป็นตัวอย่างอ้างอิงในการตรวจวิเคราะห์ หลังจากการนำไปใช้งาน( Retained Sample) ควบคู่กันไปด้วย 

 

ในกรณีมีข้อร้องเรียนจากผู้บริโภค ทางบริษัทผู้จำหน่ายจะต้องสืบหาสาเหตุ และแนวทางการป้องกัน แจ้งมายังองค์การฯ เพื่อประเมินและติดตามผลการแก้ไขป้องกันปัญหาดังกล่าวต่อไป ในกรณีที่มีปัญหาคุณภาพจนต้องมีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ (Recall) บริษัทผู้จำหน่ายต้องเรียกเก็บผลิตภัณฑ์คืน พร้อมชดใช้และแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้กับผู้บริโภค และทำรายงานผลการเรียกเก็บผลิตภัณฑ์คืน ส่งให้องค์การฯ ทำการประเมินประสิทธิผลของการเรียกคืนทุกครั้ง

นางศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ (มหาชน) จำกัด และ กรรมการบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด  ตัวแทนจำหน่าย ATK ของ "ออสท์แลนด์ แคปปิตอล" และเป็นผู้ชนะประมูลในโครงการพิเศษของ สปสช. เปิดว่า หลังจากนี้ บริษัทจะสุ่มตัวอย่าง ATK ที่นำเข้าจากโรงงานผลิตที่ประเทศจีน ส่งมอบให้กับทาง อภ.ไปตรวจทดสอบคุณภาพที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับมาตรฐานของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีอีกครั้ง ซึ่งเป็นส่วนที่นอกเหนือจาก TOR ที่กำหนดไว้

 

ในส่วนของกำลังการผลิตคาดว่าสามารถผลิต ATK ทั้งหมดได้ทันกับเวลาที่กำหนดไว้แน่นอนเนื่องด้วยบริษัทผู้ผลิตเป็นบริษัทใหญ่อันดับต้นๆของจีน โดย ATK ล็อตแรกที่จะถูกจัดส่งมาประเทศไทยโดยการเช่าเหมาลำเครื่องบิน ประมาณ, 3,000,000 ชิ้น โดยจะให้ประชาชนที่สั่ง Pre order ในโครงการ เราไม่ทน ที่เปิดให้ประชาชนจองในราคพิเศษเพียงชิ้นละ 75 บาท จำนวน 1,000,000 ชิ้น และส่งมอบให้ อภ. 2,000,000 ชิ้น โดยจะทำการส่งมอบครั้งแรกประมาณวันที่ 7  กันยายน และจะทำการส่งมอบเป็นล็อตๆ ต่อไปจนครบ 8.5 ล้านชิ้น ที่เราคาดการณ์ไว้ว่าน่าจะประมาณภายใน 14 วันหลังจากลงนามสัญญา

 

ก่อนจะดำเนินการจัดส่งครบทั้ง 1,000 กว่าจุดที่ อภ.กำหนด ด้วยการขนส่งที่ควบคุมความเย็นโดยบริษัทขนส่งที่ชำนาญในด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการแพทย์โดยเฉพาะ เพื่อให้ ATK ของมีคุณภาพเต็มที่จนถึงมือประชาชน

 

"เรามั่นใจว่า ATK ของ Lepu ว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพที่ได้รับการยอมรับของนานาประเทศ หลังจากที่บริษัทพิสูจน์ตัวเองด้วยหลักฐานชัดเจน หากยังมีใครกล่าวด้อยค่าผลิตภัณฑ์แบบไม่เป็นธรรมกับเราทำให้มีผลต่อการดำเนินธุรกิจต่อไปของเรา ทางบริษัทฯจะให้ฝ่ายกฏหมายดำเนินการขั้นต่อไปอย่างเด็ดขาด  ทั้งนี้เรายังได้แจ้งไปที่โรงงานของ Lepu ที่ประเทศจีนซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่ระดับรัฐวิสาหกิจของประเทศเขาด้วยว่า ถ้าหากทางเขาจะดำเนินการทางกฏหมายอย่างไรต่อผู้กล่าวหาผลิตภัณฑ์ด้วยข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง สร้างความเสื่อมเสียเรื่องชื่อเสียงต่อผลิตภัณฑ์ของเขา  ทางบริษัทเราก็ยินดีจะช่วยเหลือ และส่งเอกสารข้อมูลให้เขาทั้งหมด เพื่อจะได้เป็นบรรทัดฐานต่อไป”