ปิดดีล ATK 8.5 ล้าน อภ.เซ็นสัญญาเวิล์ด เมดิคอลฯ 30 สิงหาคมนี้

26 ส.ค. 2564 | 17:02 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ส.ค. 2564 | 00:58 น.

ประมูล ATK 8.5 ล้าน ไม่ล่ม องค์การเภสัชกรรมนัดเซ็นสัญญา บ.เวิล์ด เมดิคอลฯ ผู้ชนะประมูลราคาต่ำสุด 70 บาทรวมVAT พรุ่งนี้ (27 สิงหาคม)

หลังจากยืดเยื้อมามานานสำหรับ ดิลประมูล ATK 8.5 ล้านชุดในโครงการพิเศษของ สปสช. ซึ่งฝ่ากะแสดราม่าอย่างหนักหน่วงนับตั้งแต่รู้ผลการประมูล จนต้องชะลอการเซ็นสัญญามาสักพัก

 

ล่าสุด ได้มีการนัดผู้ชนะการประมูล มาร่วมแถลงในขั้นตอนสุดท้ายในวันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม 2564 เวลา 9.00 น. ทางองค์การเภสัชฯ เพื่อสรุปไทม์ไลน์ใน จัดการส่งมอบสินค้า
ขั้นตอนในการตรวจสอบคุณภาพสินค้า และขั้นตอนในการจัดส่งสินค้า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตรงกัน

 

ก่อนลงนามในสัญญา ซึ่งจะนัดลงนามในวันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม 2564 ที่ องค์การเภสัชกรรม ถนนพระราม 6 

 

ซึ่งหลังจากเซ็นสัญญา เป็นที่เรียบร้อย บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด บริษัทผู้จดทะเบียนสถานประกอบการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ และได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไทย (อย.) ในการจัดหาและนำเข้าชุดผลิตภัณฑ์ทดสอบโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) ภายใต้ชื่อ “SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test” ซึ่งผลิตโดย Beijing Lepu Medical Technology Co., Ltd. จากสาธารณรัฐประชาชนจีน  และเป็นผู้ชนะการประมูลงานจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ดำเนินงานภายใต้โครงการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อแจกให้ประชาชนใช้ตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยตนเอง จำนวน 8.5 ล้านชุดจะดำเนินการสั่งผลิต ATK จำนวน 8.5 จาก Beijing Lepu Medical Technology Co., Ltd. สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อส่งมอบตาม TOR โดยใช้การขนส่งจ้างด้วยไฟล์ทบินตรงเหมาลำ 11 เที่ยวบิน เที่ยวบินละ 7-8 แสนชิ้น 

 

 

 ข่าวการเป็นผู้ชนะการประมูลชุด ATK 8.5 ล้านชิ้น เป็นเพียงข่าวดีเพียงชั่วข้ามคืน บริษัทฯ กลับเจอปัญหารุมเร้าหลายระลอกจากชมรมแพทย์ชนบท  จนถูกชะลอการทำสัญญาซื้อชุดตรวจ ATK  และยังเปิดประเด็นข่าวในด้านลบที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ชนิดมองหาจุดจบของปัญหาไม่เจอ

ชมรมแพทย์ชนบท เริ่มเปิดประเด็นสินค้าไม่ได้คุณภาพ ถูก FDA สหรัฐอเมริกาสั่งเก็บ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ทางโรงงานผู้ผลิต Beijing Lepu Medical Technology Co., Ltd. จากสาธารณรัฐประชาชนจีน  ไม่ได้ทำการยื่นขอ อย.ของ FDA อเมริกา  จึงไม่ได้มีการนำเข้าอย่างถูกต้อง โดยมีผู้ประกอบการรายย่อยลักลอบนำเข้าไปขาย รวมถึงชุดตรวจที่เป็นปัญหาก็คือชุดตรวจหาเชื้อจากเลือด ไม่ใช่ตรวจหาเชื้อจากโพรงจมูก ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ชี้แจงคุณภาพด้วยการยืนยันด้วยหลักฐานว่า ผลิตภัณฑ์ LEPU  เป็น ATK มีคุณภาพระดับโลก ผ่านการรับรองมาตรฐานจากเยอรมัน  มีมาตรฐานคุณภาพระดับยุโรป  ในนานาประเทศใช้ ATK ของ LEPU เป็น ATK หลักของประเทศ เช่น ออสเตรียใช้ ATK ของ LEPU สำหรับให้เด็กนักเรียนใช้ก่อนเข้าเรียน และอีกมากมายกว่า 20 ประเทศทั่วโลกที่ยอมรับในคุณภาพของ LEPU ที่ผลิตจาก Beijing Lepu Medical Technology Co., Ltd.ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่มาตรฐานโลกที่ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ สำคัญๆ ของโลกมากว่า 20 ปี

 

ประเด็นที่สองตามมาจากชมรมแพทย์ชนบทอีกครั้งว่า มีผลงานวิจัยในประเด็นด้านคุณภาพและผลการทดสอบในประเทศปากีสถาน พบว่าในผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ LEPU มีความไวน้อย กล่าวคือมีเชื้อ แต่ผลการทดสอบกลับเป็นลบ แต่ความเป็นจริง ปรากฏว่า ประชาชนที่ปากีสถานได้ใช้งานชุดตรวจผิดประเภท มีการนำผลิตภัณฑ์ชุดตรวจหาเชื้อทางโพรงจมูก ไปใช้ตรวจหาเชื้อโดยทางน้ำลาย ทำให้ผลที่ได้รับคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง 

ชมรมแพทย์ชนบท ยังออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 3 ว่าจะระดมทีมปฏิบัติการ 60 ทีมในทุกภาค เข้าตรวจสอบชุดตรวจ ATK ที่รัฐประมูล ว่ามีคุณภาพทั้ง sensitivity และ specificity ดังที่กล่าวอ้างหรือไม่ ลั่นหากพบคุณภาพต่ำเกินรับได้ ต้องมีผู้รับผิดชอบ

 

ชมรมแพทย์ชนบท ยังกล่าวว่า คนไทยต้องได้ ATK ที่ได้ผ่านการรับรองจาก WHO เท่านั้น และกล่าวว่า ATK ของ LEPU ซึ่งไม่ผ่านการรับรองขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO  เป็นผลิตภัณฑ์ที่ชมรมแพทย์ชนบทย้ำว่ารับไม่ได้ ถ้าหากได้รับการคัดเลือกเข้ามาก็ประกาศไม่ขอใช้และเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี ให้ระงับการประมูลที่ถูกต้องครั้งนี้   ซึ่งเรื่องนี้ทำให้มีการสั่งการจาก พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้เร่งดำเนินการ จัดหาชุดตรวจเชื้อโควิด-19 แบบ Antigent test kit (ATK) ที่ผ่านการรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีจำหน่ายในประเทศไทย มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) 

 

โดยครั้งนี้ทางบริษัทเวิลด์ เมดิคอลฯ และ บ.ออสท์แลนด์ ผู้นำเข้าชุดตรวจ LEPU จึงได้ส่งจดหมายเปิดผนึกชี้แจง พร้อมแสดงหลักฐานระบุถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ LEPU ที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และ นำหลักฐานอ้างอิงว่า ณ ปัจจุบัน WHO ก็ยังไม่มีการอนุมัติชุดตรวจแบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเองแก่บริษัทใดเลย  จึงเป็นข้อสรุปว่าหากใช้มาตรการนี้ จะไม่สามารถมี ATK ชนิดตรวจหาเชื้อด้วยตนเองยี่ห้อใดเลยที่จะมีคุณสมบัติต้องใจชมรมแพทย์ชนบท ประชาชนทั่วประเทศที่รอคอยการใช้ ATK  เพื่อตรวจคัดกรองด้วยตัวเองจากภาครัฐ ก็ต้องเผชิญและต่อสู้กับการระบาดของ โควิด 19 ด้วยตนเองกันต่อไป