วัคซีนโควิดเวอร์ชั่น 2 ป้องกันติดเชื้อทางเดินหายใจ-ระบบประสาทหนูทดลองได้

23 ส.ค. 2564 | 19:40 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ส.ค. 2564 | 02:39 น.

หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลความก้าวหน้าล่าสุดของการเริ่มทดลองวัคซีนเวอร์ชั่น 2 พบได้ผลดีกว่าวัคซีนเดิม สามารถป้องกันติดเชื้อที่ทางเดินหายใจและระบบปราสาทหนูทดลองได้

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
ความก้าวหน้าล่าสุด เริ่มทดลองวัคซีนเวอร์ชั่น 2.0 พบได้ผลดีกว่าวัคซีนโควิดเดิม สามารถป้องกันการติดเชื้อในสมองหนูได้ด้วย
จากความรู้เรื่องการพัฒนาวัคซีน ในปัจจุบันบริษัทส่วนใหญ่จะใช้เทคโนโลยีที่ผลิตได้รวดเร็ว ได้จำนวนมาก ต้นทุนต่ำ ซึ่งจะสามารถทำรายได้ให้กับบริษัทอย่างมหาศาล พร้อมไปกับจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วขึ้นด้วย
แต่เทคโนโลยีที่ใช้ดังกล่าวนั้น ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การใช้เพียงส่วนเดียวของไวรัส คือ ส่วนหนาม ( SP : S-protein) แล้วกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาสู้
ซึ่งนักวิชาการก็ยังกังวลว่า ถ้าไวรัสมีการกลายพันธุ์ แล้วไม่ใช้ส่วนหนามเป็นหลักในการก่อโรค วัคซีนกลุ่มที่ใช้ส่วนหนามทั้งหลาย จะยังป้องกันได้อยู่หรือไม่
คงมีเฉพาะวัคซีนเชื้อตาย ซึ่งใช้ไวรัสทั้งตัว ที่อาจจะโชคดีพอจะรับมือ เพราะมีภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นต่อส่วนอื่นของไวรัสที่ไม่ใช่ส่วนหนามเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัย NorthWestern ของสหรัฐเมริกา ได้ใช้หลักวิชาการดังกล่าวขั้นต้น พยายามวิจัยและพัฒนา จนผลิตวัคซีน เพื่อทดลองในหนูทดลองแล้ว เรียกว่า วัคซีนเวอร์ชั่นใหม่ 2.0
โดยการที่นำโปรตีนส่วนหนาม (SP) ของไวรัสแบบวัคซีนในปัจจุบัน นำมาผสมกับโปรตีนใหม่ส่วนข้างในของตัวไวรัส ( NP : Nucleocapsid Protein ) แล้วทำเป็นเข็มเดียวกัน

พบว่าได้ผลดี สามารถป้องกันทั้งการติดเชื้อจุดแรก (Proximal) ที่ทางเดินหายใจ และป้องกันการแพร่เชื้อจุดที่สองปลายทาง (Distal) คือเข้าไปที่ระบบประสาทหรือสมองได้
โดยโปรตีนใหม่นี้ชื่อว่า NP สามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้เร็วกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะแก้จุดอ่อนของวัคซีนแบบหนามแหลม (SP) ซึ่งจะกระตุ้นแต่ระบบสร้างภูมิคุ้มกันเท่านั้น
แต่โปรตีนใหม่นี้ จะกระตุ้นระบบทีเซลล์ (T-cell) ซึ่งจะเข้ามาช่วยในการป้องกัน กรณีที่มีการติดเชื้อแล้ว ไม่ให้มีอาการหนัก และไม่ให้ลุกลามไปสู่อวัยวะอื่น
การทดลองทำเป็นสามกลุ่ม

เริ่มทดลองวัคซีนเวอร์ชั่น 2.0 พบได้ผลดีกว่าวัคซีนโควิดเดิม
กลุ่มที่หนึ่ง ฉีดวัคซีนแบบเดิมที่มีเฉพาะส่วนหนามแหลม (Ad5-S)
กลุ่มที่สองฉีดวัคซีนเฉพาะที่มีโปรตีนแบบใหม่ (Ad5-N)
กลุ่มที่สามฉีดวัคซีนที่ผสมทั้งสองโปรตีนเข้าด้วยกัน (Ad5 S-N)
โดยเมื่อฉีดไปแล้วสามสัปดาห์ ได้ลองนำไวรัสก่อโรคโควิดไปใส่ในจมูกหนู แล้วตรวจหาไวรัสในทางเดินหายใจ และในระบบประสาทสมอง ในอีกสามวันต่อมา
พบว่าวัคซีนที่ใช้ โปรตีนหนามแหลมแบบเดิมป้องกันได้เฉพาะการติดเชื้อในทางเดินหายใจ แต่ไปพบไวรัสอยู่ในสมองได้
ส่วนวัคซีนที่ใช้โปรตีนใหม่อย่างเดียว ไม่สามารถป้องกันทั้งทางเดินหายใจและที่สมอง

แต่ถ้าใช้วัคซีนที่มีสองโปรตีนผสมกัน สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งที่ส่วนต้น คือทางเดินหายใจ และส่วนปลายคือที่ระบบประสาทสมองได้
ทั้งนี้คาดว่า เกิดจากทีเซลล์ ซึ่งถูกกระตุ้นด้วยโปรตีนใหม่ จะเข้ามาเสริมกำลังกับระดับภูมิคุ้มกันจากโปรตีนแบบเก่า และป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าไปถึงระบบประสาทสมองข้างในได้
โดยโปรตีนแบบหนาม (S-protein)นั้น จะอยู่ที่ผิวของไวรัสด้านนอก ส่วนโปรตีนแบบใหม่ (Nucleocapsid protein)นั้น จะเป็นโปรตีนที่อยู่ข้างในตัวไวรัส จึงทำงานเสริมกัน ได้ผลดียิ่งขึ้นกว่าโปรตีนแบบเดิม
ทั้งหมดนี้ในเบื้องต้น ทางวารสาร  J. Cell Reports. ได้รับไว้เรียบร้อยแล้ว
นับเป็นข่าวดี ที่การพัฒนาวัคซีนโควิด จะต้องรวดเร็ว ก่อนที่ไวรัสจะกลายพันธุ์หนีความสามารถของวัคซีนที่มนุษย์เราเร่งค้นคว้าวิจัย
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลการรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.- พบว่า มีการฉีดสะสมแล้ว 27,038,999 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 20,430,028 ราย ฉีดครบ 2 เข็มจำนวน 6,065,003 ราย และฉีดเข็มที่ 3 จำนวน 543,968 ราย