สธ.ย้ำการส่งมอบวัคซีนให้ไทยทั้งไฟเซอร์และแอสตร้าฯ ยังเป็นไปตามสัญญาปี 64

22 ส.ค. 2564 | 03:59 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ส.ค. 2564 | 06:12 น.

สธ.ย้ำการส่งมอบวัคซีนโควิดให้ไทยยังเป็นไปตามสัญญาปี 2564 ขณะที่"แอสตร้าฯ" ส่งสัญญาณบวกเริ่มส่งให้ 7.2 ล้านโดส ในเดือนกันยายนนี้และจะเพิ่มเดือนต่อไป

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงการจัดหาวัคซีนโควิดในปี 2564  ที่ได้สั่งจองแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ไฟเซอร์ 30 ล้านโดส รวมทั้งซิโนแวคอีก 30 ล้านโดส ที่นำมาฉีดในสถานการณ์ระบาดและสูตรฉีดไขว้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันระดับสูงในเวลารวดเร็ว ทำให้ปีนี้มีวัคซีนมากกว่าแผนเดิมที่กำหนดไว้ 100 ล้านโดส

โดยในส่วนของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นการลงนามสัญญาจองล่วงหน้าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ก่อนการผลิตวัคซีนจะสำเร็จ เงื่อนไขในสัญญาจึงระบุว่า จะเริ่มส่งมอบตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นไป โดยต้องเจรจาจำนวนที่ต้องการเป็นรายเดือน และขึ้นกับจำนวนวัคซีนที่บริษัทผลิตได้ ซึ่งตั้งแต่มิถุนายน – สิงหาคม ได้รับเฉลี่ยเดือนละ 5 - 6 ล้านโดส

ทั้งนี้ ไทยได้แสดงเจตจำนงต้องการวัคซีนมากขึ้น และบริษัทมีแนวโน้มจะส่งวัคซีนเพิ่มเป็น 7.2 ล้านโดสในเดือนกันยายน และคาดว่าจะได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นในเดือนต่อไป

นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับปี 2565 ศบค.เห็นชอบแผนจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเป็น 120 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ครอบคลุมกลุ่มเด็ก และฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้ประชาชนเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ขณะนี้ สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้เจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนทุกรูปแบบ ทั้ง mRNA, Viral vector, เชื้อตาย และอื่น ๆ โดยจะนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์อย่างน้อย 50 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้าอีก 50 ล้านโดส

โดยหากบริษัทผลิตวัคซีนรุ่นที่ 2 สำเร็จ มีข้อมูลรับรองประสิทธิภาพและความปลอดภัย จะให้ส่งมอบเป็นวัคซีนรุ่นที่ 2 ซึ่งทั้งปริมาณ กำหนดการส่ง และราคา อยู่ในขั้นตอนการเจรจา และทำข้อตกลงสัญญาฉบับใหม่ ซึ่งสัญญาของปี 2564 ไม่เกี่ยวเนื่องกับปี 2565 และไม่เกี่ยวข้องกันตามที่สื่อโทรทัศน์บางแห่งได้กล่าวอ้าง

แนะรับวัคซีนสูตรไขว้ ได้ภูมิคุ้มกันสูงและเร็ว

ด้านนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 ของไทยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแนวโน้มค่อนข้างคงที่ วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 20,571 ราย เสียชีวิต 261 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 175 ราย คิดเป็น 67% ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 55 ราย คิดเป็น 21% หญิงตั้งครรภ์ 1 ราย และผู้ช่วยเหลือผู้ป่วย 1 ราย เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียชีวิตพบว่า ในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มจำนวน 5.9 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตจากโควิด 26 ราย ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม อัตราการเสียชีวิตคิดเป็น 4.4 ต่อประชากรล้านคนที่ได้วัคซีนครบ 2 เข็ม

นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ต้องฉีดให้ครบ 2 เข็ม จึงจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ทำการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าพบว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคไขว้กับแอสตร้าเซนเนก้า (S+A) มีภูมิคุ้มกัน 78 หน่วย มากกว่าฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม (A+A) ที่ได้ภูมิคุ้มกัน 76.52 หน่วย จึงขอให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ เข้ารับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว

โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขใช้สูตรซิโนแวคไขว้กับแอสตร้าเซนเนก้า (S+A) ห่างกันประมาณ 3 สัปดาห์ เพราะจะทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นได้เร็วและสูงมาก ส่วนการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ในผู้ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็มแล้ว คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญกำลังเตรียมการหารือในประเด็นนี้ คาดว่าจะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์ให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงก่อนในช่วงปลายปีนี้ที่จะมีวัคซีนเข้ามามากขึ้น