ผวา! วัคซีน 100 ล้านโดส พลาดเป้า เร่งเจรจาจอง "แอสตร้าฯ" อีก 60 ล้านโดส

21 ส.ค. 2564 | 19:54 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ส.ค. 2564 | 16:10 น.

แผนจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดส วุ่นไม่เลิก หลัง “แอสตร้าเซนเนก้า” ส่งมอบเหลือเดือนละ 5 ล้านโดส ลดลงเกือบ 50% สธ. วิ่งจีบไฟเซอร์สั่งซื้อเพิ่ม เปิดเงื่อนไขจอง แอสตร้าฯ ข้ามปีอีก 60 ล้านโดส กว่า 1.7 หมื่นล้าน

การลงนามในสัญญาการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ของไฟเซอร์ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกรมควบคุมโรค และไฟเซอร์ ประเทศไทย เพิ่มอีก 10 ล้านโดส รวมเป็น 30 ล้านโดส และมีแผนทยอยจัดส่งได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้เป็นต้นไป เพิ่มเสริมแผนกระจายวัคซีนของประเทศ ทำให้มีวัคซีนฉีดให้กับประชากรในประเทศ 100 ล้านโดส ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ ในวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา

 

เกิดเป็นคำถามว่า แล้วแผนการจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดส ที่สธ. จัดซื้อทั้งวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) 19 ล้านโดส วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) 61 ล้านโดส วัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส ยังไม่นับรวมวัคซีนที่ได้รับบริจาคจากประเทศอื่นทั้งจีน สหรัฐฯ และอังกฤษ หายไปไหน

 

แอสตร้าฯ 61 ล้านโดสความหวังคนไทย

 

ข้อมูล ณ วันที่ 15 ส.ค. 2564 ศบค. ระบุว่า การจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อฉีดให้กับคนไทยมี 7 ยี่ห้อ ได้แก่

 

1.วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca)  สั่งจอง 61 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 14.7 ล้านโดส เดือนละ 5 ล้านโดสขึ้นไป จนครบ 61 ล้านโดส  และวัคซีนบริจาค 1.46 ล้านโดส

 

2.วัคซีนซิโนแวค (Sinovac)  สั่งซื้อ 13.4 ล้านโดส เหลือรับเพิ่ม 5.7 ล้านโดส (ในเดือน ส.ค.-ก.ย.) วัคซีนบริจาค 1 ล้านโดส

วัคซีนไฟเซอร์

3.วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer)  สั่งจอง 20 ล้านโดส  ยังไม่ได้มีการส่งมอบ (ล่าสุด 20 ส.ค. สั่งจองเพิ่มอีก 10 ล้านโดส)  วัคซีนบริจาค 2.5 ล้านโดส (ลอตแรกได้รับมาแล้ว 1.5 ล้านโดส ส่วนลอตที่ 2 อีก 1 ล้านโดส กำหนดส่งในไตรมาส 4)

 

4.วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) บริษัทขอเลื่อนลงนามสัญญา เนื่องด้วยพบปัญหาการผลิต

 

5.วัคซีนสปุตนิก  (Sputnik)  รอขึ้นทะเบียนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

 

6.วัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm)  นำเข้าโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ส่งมอบแล้ว 5 ล้านโดส

 

7.วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna)  นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม จำนวน  5 ล้านโดส โดยมีกำหนดส่งมอบไตรมาส 4/2564 และไตรมาส 1/2565

 

วัคซีนความหวัง ที่จะทำให้ไทยได้ฉีดตามเป้า 100 ล้านโดส คือ  “แอสตร้าเซนเนก้า” (AstraZeneca) ที่นอกจากจะมีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับว่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันสายพันธุ์เดลต้าได้ ยังมีฐานการผลิต (สยามไบโอไซเอนซ์) อยู่ในประเทศไทย  จึงเป็นเสมือนวัคซีนหลักและความหวังของคนไทยทั้งประเทศ

 

โดยการสั่งซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เริ่มขึ้นเมื่อมติคณะรัฐมนตรี (17 พ.ย. 2563) เห็นชอบให้สั่งจองและเซ็นสัญญาซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า กับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย และบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า สหราชอาณาจักร ในวงเงิน 6,049,723,117 บาท จัดหาวัคซีน 26 ล้านโดส ได้รับภายในกลางปี 2564

การส่งมอบวัคซีนลอตแรก จากสยามไบโอไซแอนซ์

ต่อมามติครม. (2 มี.ค. 2564) เห็นชอบให้สั่งซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเพิ่มอีก 35 ล้านโดส วงเงิน 6,387.2 ล้านโดส  พร้อมส่งมอบภายในปี 2564

 

หลังเซ็นสัญญาสั่งซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 61 ล้านโดส สธ. จัดวางแผนจัดหาและฉีดวัคซีนโดยกำหนดว่าในเดือนมิ.ย. จะได้รับวัคซีนจากแอสตร้าฯ จำนวน  6 ล้านโดส ขณะที่เดือนก.ค.-พ.ย.  จะได้รับเดือนละ 10 ล้านโดส ส่วนอีก 5 ล้านโดสจะได้รับในเดือนธ.ค. 2564 ตามลำดับ

 

แอสตร้าฯ ยันส่งได้ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน

 

ท่ามกลางวิกฤติที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนหลักหมื่น ทำให้ความหวาดวิตกและความต้องการฉีดวัคซีนพุ่งกระฉูด “วัคซีน” เป็นเหมือนความหวังสุดท้ายของคนไทย รวมถึง “รัฐบาลไทย” ด้วย

 

วัคซีนเดือนละ 10 ล้านโดสที่จะเข้ามาจากแอสตร้าฯ คือสิ่งที่ทุกคนถวิลหา

 

ข้อกังขา เริ่มฉายแววให้เห็นเมื่อ  แอสตร้าฯมีหนังสือแจ้งต่อสธ. ว่า จะส่งมอบวัคซีนให้เดือนละ 5-6 ล้านโดส ขณะที่สธ.เองมีความต้องการวัคซีนเดือนละ 10 ล้านโดสตามแผนงานเดิมที่วางไว้  การเซ็นสัญญาข้อตกลงเป็นการกระทำของฝ่ายสธ.ไทยเพียงฝ่ายเดียวในเดือนมี.ค. โดยที่บริษัทแอสตร้าฯ เพิ่งได้รับสัญญาในเดือนพ.ค.

 

ข้อตกลงดังกล่าวจึงยังไม่ได้เป็นความเห็นชอบจากทั้งสองฝ่าย  อีกทั้งเดิม สธ. ระบุว่าต้องการวัคซีนแอสตร้าฯ เดือนละ 3 ล้านโดสเท่านั้น   ไม่ใช่ 10 ล้านโดสตามแผนที่นำเสนอ

 

ซึ่งข้อเสนอนี้ ไม่มีใครตอบได้ว่า ข้อเท็จจริงคืออะไร?

 

แต่ที่ยืนยันชัดเจนคือ สยามไบโอไซเอนซ์ เริ่มส่งมอบวัคซีนแอสตร้าฯ ให้กับไทยทันทีในเดือนมิ.ย. โดยลอตแรกจำนวน 4.7 ล้านโดส และอีกกว่า 1 ล้านโดส รวมทั้งสิ้นมีการส่งมอบ  5,372,100 โดส จากเป้าหมายเดิม 6 ล้านโดส  

วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

ในการส่งมอบครั้งนี้ “เจมส์ ทีก” ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ยังระบุว่า แอสตร้าฯ จะดำเนินการส่งมอบวัคซีนโควิดให้กับรัฐบาลไทยต่อเนื่อง โดย 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตวัคซีนได้ถูกสำรองไว้เพื่อผลิตวัคซีนให้กับประเทศไทย ตามคำสั่งซื้อรวม 61 ล้านโดส จากกำลังการผลิตทั้งหมด 180 ล้านโดส

 

ส่วนกำลังการผลิตที่เหลืออีก 2 ใน 3 จะจัดสรรให้กับการผลิตวัคซีนเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฏาคมเป็นต้นไป

 

ขณะที่ในเดือนก.ค. 2564  แอสตร้าฯ ส่งมอบวัคซีนในวันที่ 3 ก.ค. จำนวน 590,000 โดส  วันที่ 9 ก.ค. จำนวน 555,400 โดส  วันที่ 12 ก.ค. จำนวน 1,053,000 โดส และวันที่ 16 ก.ค. จำนวน 505,700 โดส รวมกว่า 2,704,100 โดส   จนถึงสิ้นเดือนแอสตร้าฯ ส่งมอบวัคซีนให้ไทยรวม 5.3 ล้านโดส

 

ก่อนที่ “CEO” ของแอสตร้าฯ จะส่งจดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อน พี่น้องชาวไทย โดยใจความสำคัญ ระบุว่า แอสตร้าฯ มีความกังวลต่อสถานการณ์โควิดในประเทศไทย สิ่งที่แอสตร้าฯ สามารถช่วยสนับสนุนได้คือ การเร่งผลิตและส่งมอบวัคซีนให้กับทุกคน

 

แต่วัคซีนของแอสตราฯ เป็น “ชีววัตถุ” ที่มีกระบวนการผลิตซับซ้อน มีข้อจำกัดมากมาย ทำให้สามารถจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศไทยได้เฉลี่ย 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ซึ่งจนถึงปัจจุบัน แอสตร้าฯ ส่งมอบวัคซีนให้สธ.แล้ว 9 ล้านโดส และจะส่งมอบอีก 2.3 ล้านโดสภายในเดือนก.ค.นี้ รวมส่งมอบทั้งหมด 11.3 ล้านโดส

 

อย่างไรก็ดี หากเป็นตามแผนของฟากแอสตร้าฯ สิ้นปีนี้ก็น่าจะส่งมอบวัคซีนได้ราว 40 ล้านโดสเท่านั้น

 

ออเดอร์ไฟเซอร์เพิ่ม 10 ล้านโดส

 

แม้วันนี้จะยังไม่มีการแจ้งส่งมอบวัคซีนแอสตร้าฯในเดือนส.ค.ว่ามีปริมาณเท่าไร (ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ ในครึ่งเดือนแรกมีการส่งมอบแล้วราว 3 ล้านโดส)  แต่สธ. ก็ยังคงเดินหน้าฉีดวัคซีนให้กับคนไทยทั้งที่เป็นเข็มที่ 1 และ เข็มที่ 2 รวมถึงเข็มที่ 3 ในกลุ่มเสี่ยงสูง

ผวา! วัคซีน 100 ล้านโดส พลาดเป้า เร่งเจรจาจอง \"แอสตร้าฯ\" อีก 60 ล้านโดส

ขณะที่ล่าสุดในวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และคณะผู้บริหาร ได้หารือกับผู้แทนจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า เรื่องการจัดสรรวัคซีน ก่อนที่จะเปิดเผยว่า การพูดคุยในวันนี้ก็ เพื่อแจ้งว่า ไทยยินดีที่ได้ร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิต และทางไทยต้องการวัคซีนเพิ่มขึ้น ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาด

 

ขณะที่ทางตัวแทนผู้ผลิตได้รับเรื่องนี้ไปพิจารณาหาทางออกแล้ว และในปี 2565 รัฐบาลไทยก็แสดงความจำนงถึงความต้องการวัคซีนแอสตร้าฯ เบื้องต้น 50 ล้านโดส ซึ่งจะต้องเป็นวัคซีนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ณ ขณะนั้น

 

แม้ผลการเจรจาจะไม่ได้ระบุชัดเจนว่า แอสตร้าฯจะส่งวัคซีนให้ได้ 10 ล้านโดสตามที่รัฐบาลต้องการ หรือจะจัดส่งให้ 5-6 ล้านโดสตามที่บริษัทแจ้งไว้ แต่ที่แน่ๆ ในอีก 2 วันถัดมา รัฐบาลก็ประกาศลงนามเซ็นสัญญาจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์อีก 10 ล้านโดส เพื่อมาเติมเต็มให้ได้ 100 ล้านโดสตามเป้าหมายที่วางไว้

 

สิ่งนี้น่าจะเป็นคำตอบได้ดีว่า ทู่ซี้ไป ก็คงไม่ได้ “แอสตร้าเซนเนก้า” 10 ล้านโดส ตามที่คาดหวัง 

 

เปิดเงื่อนไขสั่งซื้อ “แอสตร้าฯ” 

 

ในอีกด้านหลังนายกรัฐมนตรีฯ แต่งตั้งคณะทำงานพิเศษในการเร่งจัดหาวัคซีน โดยมีนายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน  ก็เดินหน้าขับเคลื่อนในการจัดหาวัคซีน หนึ่งในนั้นคือ การเจรจาเพื่อให้ “แอสตร้าเซนเนก้า” ส่งมอบได้ตามกำหนด

 

ซึ่งผลการเจรจาถือเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะ “แอสตร้าเซนเนก้า” ยืนยันจะส่งมอบให้ครบ 61 ล้านโดสในปีนี้ แต่เงื่อนไขหนึ่งคือ รัฐบาลไทยต้องสั่งจองอีก 60 ล้านโดสในปี 2565  โดยกำหนดให้ซื้อในราคา 9 ดอลลาร์ต่อโดส หรือราว 288 บาทต่อโดส (ราคาในปัจจุบันที่ซื้อ 5 ดอลลาร์ต่อโดส)   เท่ากับว่าไทยจะสั่งซื้อวัคซีนแอสตร้าฯ ทั้งหมดรวม 121 ล้านโดส

 

แน่นอนว่าในปีหน้า ไทยเองยังต้องการวัคซีนในอัตราที่สูง รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณ 17,280 ล้านบาท และต้องจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นค่ามัดจำ 6,500 ล้านบาท งานนี้รองนายกฯ เองเชื่อมั่นว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะสามารถปลดล็อกระบบราชการไทยในการนำเงินมาวางมัดจำได้

ผวา! วัคซีน 100 ล้านโดส พลาดเป้า เร่งเจรจาจอง \"แอสตร้าฯ\" อีก 60 ล้านโดส

แต่ในอีกมุมหนึ่งเจ้ากระทรวงสาธารณสุข ออกมายืนยันว่า ไม่สามารถกระทำได้ เพราะติดขัดระบบ และต้องดำเนินการตามขั้นตอนระเบียบราชการ

 

งานนี้เรื่องเงินไม่น่าใช่ปัญหา เพราะมีภาคเอกชนหลายรายที่ยินดีจะสนับสนุนเงินให้ก่อน เพื่อให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ได้เร็วที่สุด อีกทั้งหากแอสตร้าเซนเนก้าไม่สามารถส่งมอบวัคซีนให้ได้ รัฐบาลก็ต้องสั่งซื้อซิโนแวค เข้ามาฉีดให้อยู่ดี ดังนั้นหลายเสียงจึงประสานความเห็นชอบว่า เมื่อต้องสั่งวัคซีนเข้ามา ก็ขอเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสามารถต่อสู้กับสายพันธุ์เดลต้าได้ย่อมดีกว่าเป็นแน่

 

ที่ผ่านมาการที่ประชาชนคนไทยยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนตามเป้าหมายที่วางไว้ เป็นเพราะการประเมินสถานการณ์ผิดพลาด การสั่งซื้อวัคซีนในอัตราที่น้อย  การติดขัดในระบบราชการ นำไปสู่ความผิดพลาดล้มเหลวในวันนี้ บทเรียนที่ผ่านมาทำให้ทุกคนต้องมองไปข้างหน้าและอย่าบริหารงานผิดพลาดซ้ำซากอีก