"หมอนิธิพัฒน์"ชี้ถ้าทีมดูแลโควิดหน้าเดิมผลลัพธ์แย่กว่าเดิมไม่แปลก

15 ส.ค. 2564 | 13:16 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ส.ค. 2564 | 20:16 น.
903

หมอนิธิพัฒน์ชี้ถ้าทีมรับผิดชอบโควิดหน้าเดิมผลลัพธ์แย่กว่าเดิมไม่ใช่เรื่องแปลก ชี้โจทย์ใหญ่สำหรับ ศบค.และรัฐบาลจะต้องขบคิดกันหนักในช่วงสัปดาห์หน้า

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความระบุว่า 
สำหรับคนไทยเราตอนนี้ไม่มีอะไรน่ากลัวไปกว่าภัยโควิดที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ จะไปหวังพึ่งภาครัฐที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย ก็ดูเหมือนกล้าๆ กลัวๆ เงอะๆ งะๆ จนปล่อยปัญหาบานปลายไปมาก พอยิ่งไม่ยอมตัดสินใจเด็ดขาดไปเสียที ทิ้งให้เหมือนแผลเรื้อรังก็จะยิ่งรักษาหายขาดยากขึ้นอีกหลายเท่าตัว ลูกสาวคนโตของผมและเพื่อนๆ ที่เรียนมหาลัยปีสามเริ่มตั้งคำถามว่าจะดรอปดีไหม การเรียนออนไลน์สำหรับบางวิชาชีพมันแห้งแล้งการฝึกฝนประสบการณ์ ลูกศิษย์ที่เป็นแพทย์ทั่วประเทศตั้งคำถามมานานว่า พวกเขาจะต้องอดทนทำงานหนักผิดวิสัยนี้ไปอีกนานเท่าไร การแพทย์วิถีใหม่ที่โรงพยาบาลเต็มไปด้วยผู้ป่วยโควิด มีแต่จะรุกรานเนื้อที่ของผู้ป่วยทั่วไปให้หดแคบลงเข้าทุกที เมื่อวานตอนเย็นร่วมฟังการประชุมเตรียมความพร้อมทางการแพทย์ในเขตกทม. ทุกภาคส่วนเร่งทำงานกันอย่างสุดความสามารถเพื่อยับยั้งโรคร้ายนี้กันอย่างเต็มที่ และหลายเรื่องที่ไม่เคยทำได้มาก่อนก็เริ่มเป็นจริงขึ้นมา แต่ดูเหมือนการว่ายทวนกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากนี้ นอกจากยังมองไม่เห็นฝั่งใกล้เข้ามาเสียที ที่กลัวสุดคือผู้กล้าว่ายทวนน้ำเหล่านี้จะหมดแรงจมน้ำไปเสียก่อน
วันนี้ตื่นเช้ามานั่งดูชุดข้อมูลโดยละเอียดหลังไม่ได้ยลโฉมใกล้ชิดมาหลายวัน แม้จำนวนผู้ป่วยโดยรวมจะไปต่อแบบช้าๆ ส่วนจำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรง-ใช้เครื่องช่วยหายใจ-เสียชีวิต แม้จะดูค่อนข้างคงที่ แต่ก็อาจเป็นเพราะผู้ป่วยหนักส่วนหนึ่งเข้าไม่ถึงการรักษา หรือเข้าถึงแล้วแต่เลือกการรักษาแบบประคับประคองระยะท้ายของชีวิต

ถ้าดูจากรูปจะเห็นได้ชัดเจนว่า เรายังไม่ถึงยอดคลื่นที่สถานการณ์เริ่มจะคงตัว ยังมีรอยกระเพื่อมให้เห็นการแกว่งไปมาของตัวเลขอยู่ มาตรการตรวจเชิงรุก (แถบกราฟสีเหลือง) ที่เราควรทำได้มากหลังจากล็อคดาวน์ ก็ยังทำไม่ได้ถึง 25% ของจำนวนผู้ป่วยใหม่รายวัน แสดงว่าการหยุดยั้งการระบาดยังห่างไกลความจริงอีกมาก

จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน
 ข้อมูลการสุ่มเก็บตัวอย่างในรูปเห็นได้ว่าสายพันธุ์เดลตาครอบคลุม 95.4% ในกทม.และ 83.2% ในภูมิภาค ซึ่งอย่างที่เคยเตือนผู้กำหนดนโยบายไว้เมื่อนานแล้วว่า เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้มาตรการต่างๆ จนถึงการล็อคดาวน์แบบจำกัดไม่ได้ผลดี

สัดส่วนสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง
เมื่อมาดูสิ่งที่ตามมา สถานการณ์ในต่างจังหวัดค่อยๆ แซงหน้ากทม.และปริมณฑลไปแล้ว ยังดีว่าโครงสร้างระบบบริการสุขภาพในเขตหัวเมืองสามารถรับมือกับเหตุวิกฤตได้ดีกว่าเขตเมืองหลวง แต่ทั้งนั้นความทนทานก็คงจะต้องมีขีดจำกัดอยู่เหมือนกัน เมื่อเพ่งไปดูมาตรการรับมือที่ภาครัฐดำเนินการไป ยิ่งทำแบบเดิมๆ ที่คิดว่าจะได้ผลนั้น ดูเหมือนว่าเป็นเพียงแค่การชะลอไม่ให้กราฟพุ่งขึ้นเร็วมากเท่านั้น

จำนวนผู้ป่วย-ติดเชื้อในชุมชนรายวัน
โจทย์ใหญ่สำหรับศบค.และรัฐบาลจะต้องขบคิดกันหนักในช่วงสัปดาห์หน้า คือจะดำเนินมาตรการอะไรออกมาอีก เพื่อบังคับให้เส้นสีส้มที่เป็นสถานการณ์จริงวกกลับลงไปหาเส้นกราฟสีเขียวที่อยากให้เป็นกัน

ตัวเลขคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด

ซึ่งตรงนั้นก็ยังเป็นแค่ยาบรรเทาอาการ เพราะเส้นกราฟยังไปต่อแต่แค่ช้าลงเท่านั้น ประชาชนและตัวผมเองก็ยังงงกับตัวเลขที่นำเสนอมาหลายรอบแล้ว ถึงมาตรการล็อกดาวน์ที่มีประสิทธิภาพ 20 บ้างหรือ 25% บ้างนั้น มีอะไรที่ต่างกันและประเมินผลรายละเอียดในมาตรการได้อย่างไร 
หากยังคิดแบบเดิมๆ เราก็คงได้ผลแบบเดิมๆ 

หากทีมที่รับผิดชอบยังเป็นหน้าเดิมๆ ผลลัพธ์ที่แย่กว่าเดิมคงไม่ใช่เรื่องแปลกแล้วในยามนี้ 
ในฐานะที่เป็นราษฎรอาวุโสปีแรกย่างเข้าเดือนที่สี่ ผมคงไม่อยากให้เด็กรุ่นหลังที่จะต้องแบกรับภาระประเทศต่อไปในอนาคต แสดงความเห็นต่อการทำงานของผู้ใหญ่รุ่นก่อนอย่างผมดังในรูปที่ไม่ระบุหมายเลข
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 15 สิงหาคม 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลการรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า 
ติดเชื้อเพิ่ม 21,882 ราย
ติดในระบบ 18,499 ราย
ติดจากการตรวจเชิงรุก 3132 ราย
ติดในสถานกักตัว 6 ราย
ติดในเรือนจำ 245 ราย
สะสมระลอกที่สาม 878,294 ราย
สะสมทั้งหมด 907,157 ราย
ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย 1586 ราย
สะสม 35,498 ราย
รักษาตัวอยู่ 210,943 ราย
โรงพยาบาลหลัก 57,920 ราย
โรงพยาบาลสนาม 73,262 ราย
แยกกักที่บ้าน 72,600 ราย
อาการหนัก 5615 ราย 
ใช้เครื่องช่วยหายใจ 1172 ราย
หายป่วยกลับบ้าน 21,106 ราย
สะสม 661,236 ราย
เสียชีวิต 209 ราย
ระลอกที่สาม 7458 ราย
สะสมทั้งหมด 7551ราย