"หมอนิธิพัฒน์"ไขข้อสงสัยการใช้ออกซิเจนที่บ้านต้องระวังอะไรบ้าง

30 ก.ค. 2564 | 14:14 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ค. 2564 | 21:18 น.
4.8 k

หมอนิธิพัฒน์ไขข้อสงสัยการใช้ออกซิเจนที่บ้านต้องระวังอะไรบ้าง เตือนการใช้ออกซิเจนโดยไม่มีข้อบ่งชี้จะทำให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อของอวัยวะสำคัญ ชี้อุปกรณ์ที่ใช้มีสองกลุ่ม คือ ถังออกซิเจน และ เครื่องผลิตออกซิเจน

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความว่า  
ตอนที่ 3 ปุจฉาวิสัชนาโควิดสำหรับประชาชน (ตอนสุดท้าย) 
ปุจฉา: การใช้ออกซิเจนที่บ้านต้องระวังอะไรบ้าง
วิสัชนา: อย่างแรกเลยคือต้องใช้ตามเกณฑ์ (กดตามลิงก์ด้านล่าง) หรือตามที่แพทย์ที่รับผิดชอบการรักษาที่บ้านเป็นผู้แนะนำ การใช้ออกซิเจนโดยไม่มีข้อบ่งชี้จะทำให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อของอวัยวะสำคัญ เนื่องจากระดับออกซิเจนในระดับเนื้อเยื่อที่สูงเกินไปจะทำให้เกิดอันตรายในระยะยาวต่อเนื้อเยื่อนั้นเอง เมื่อมีข้อบ่งชี้แพทย์จะแนะนำให้ใช้ออกซิเจนภายใต้การติดตามใกล้ชิดด้วยการวัดแซต (กดตามลิงก์)

โดยเริ่มต้นให้ออกซิเจนในอัตราไหล 3 ลิตรต่อนาที มีเป้าหมายว่าหลังให้ไปแล้ว 5-10 นาที จะวัดแซตได้อยู่ระหว่าง 94-96% ถ้าได้ค่าน้อยกว่าหรือมากกว่านั้น ก็ให้ปรับอัตราไหลเพิ่มขึ้นหรือลดลงครั้งละ 1 ลิตรต่อนาที แล้วทำการวัดซ้ำอีก 5-10 นาทีถัดไป และปรับจนได้เป้าหมาย ถ้าเพิ่มอัตราไหลไปจนถึง 5 ลิตรต่อนาทีแล้ว ยังไม่สามารถวัดแซตได้มากกว่า 92% ให้ทดลองนอนคว่ำซึ่งจะทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซดีขึ้น ถ้านอนคว่ำพักหนึ่งแล้วยังวัดค่าได้น้อยกว่า 92%  ต้องรีบติดต่อแพทย์หรือโรงพยาบาลที่รับผิดชอบหรือรีบนำส่งโรงพยาบาล 

ปุจฉา: อุปกรณ์ที่ใช้ให้ออกซิเจนที่บ้านต้องระมัดระวังอะไรบ้าง
วิสัชนา: อุปกรณ์ที่ใช้มีสองกลุ่ม คือ ถังออกซิเจน และ เครื่องผลิตออกซิเจน โดยถังออกซิเจนที่ใช้ทางการแพทย์จะมีสีเขียว ส่วนใหญ่จะเป็นถังเหล็กบรรจุในรูปก๊าซ มีขนาดใหญ่ ส่วนที่เป็นถังขนาดเล็กบรรจุออกซิเจนเหลวจะใช้ได้นานกว่าแต่มีราคาแพง ที่หัวถังจะมีวาล์วปรับและตรวจสอบแรงดัน เวลาใช้ต้องต่อกระบอกใส่น้ำสะอาดสำหรับให้ความชุ่มชื้น แล้วจึงต่อเข้ากับสายให้ออกซิเจนชนิดมีสายเสียบเข้ารูจมูกทั้งสองข้างและคล้องกับศีรษะหรือคล้องใบหูจนกระชับ ต้องระมัดระวังไม่ให้มีประกายไฟในบริเวณใกล้เคียง และต้องระวังไม่ให้ถังล้มเพราะถ้าวาล์วหัวถังหลุดจะเกิดแรงดันให้ถังพุ่งตัวไปอย่างแรง

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล
 สำหรับเครื่องผลิตออกซิเจนโดยใช้ไฟฟ้า ควรเลือกที่ผ่านการรับรองจากอย. ใช้ขนาดผลิตได้อย่างน้อย 5 ลิตรต่อนาที โดยควบคุมกำลังผลิตให้ความเข้มข้นของออกซิเจนขณะเปิดที่ 5 ลิตรต่อนาทีให้ได้คงที่ระหว่าง 82-96% และมีสัญญาณเตือนถ้าค่าลงไปต่ำกว่า 82% เพราะแสดงถึงการได้เวลาซ่อมบำรุงเครื่อง
ปุจฉา: เราจะเสริมสร้างสุขภาพปอดให้แข็งแรงรับมือกับโควิดได้อย่างไร
วิสัชนา: ไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคโควิด-19 หรือไม่ ไม่ว่าป่วยแล้วจะเกิดปอดอักเสบหรือไม่ และไม่ว่าจะหายป่วยแล้วก็ตาม การมีสุขภาพปอดที่แข็งแรงเป็นต้นทุนสุขภาพที่ดี จะเห็นได้ว่านักกีฬาอาชีพที่ป่วยด้วยโรคนี้มีน้อยมากที่เกิดปอดอักเสบรุนแรง การส่งเสริมสุขภาพปอดทำได้โดย
1. ออกกายสม่ำเสมอ ขณะออกกำลังกายจะทำให้ปริมาตรอากาศไหลเข้าออกปอดในหนึ่งนาที เพิ่มขึ้นนับเป็นสิบเท่า ส่งผลให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจมีความแข็งแรง และส่วนต่างๆ ของปอดถูกนำมาใช้ในการแลกเปลี่ยนก๊าซเต็มที่ เมื่อเกิดปอดอักเสบขึ้นปอดจะทนทานต่อการแลกเปลี่ยนก๊าซที่ผิดปกติได้นานขึ้น
2. พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารให้ครบหมวดหมู่ ทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันชนิดพึ่งเซลล์ของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมระบบการป้องกันสิ่งแปลกปลอมโดยเฉพาะเชื้อโรคที่ผ่านลงไปในหลอดลมและถุงลมปอด
3. หลีกเลี่ยงมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะควันบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้า ฝุ่นพีเอ็ม และก๊าซที่มีฤทธิ์ระคายเคือง เนื่องจากจะทำให้เยื่อบุผิวในของหลอดลมและปอดถูกทำลายและเชื้อโรคทะลุทะลวงรุกล้ำเข้าไปในชั้นลึกได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 30 กรกฎาคม 64 จากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 17,345 ราย
ติดเชื้อในระบบบริการ 12,823 รายติดเชื้อจากตรวจเชิงรุก 3833 ราย
ติดเชื้อในสถานกักตัว 8 ราย
ติดเชื้อในเรือนจำ 681 ราย
สะสมระลอกที่สาม 549,512 ราย
สะสมทั้งหมด 578,375 ราย
รักษาตัวอยู่ 192,526 ราย
โรงพยาบาลหลัก 74,232 ราย
โรงพยาบาลสนาม 118,294 ราย

สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย
ผู้ป่วยอาการหนัก 4595 เตียง
ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 1012 เตียง
รักษาหายกลับบ้านได้ 10,678 รายสะสม 381,389 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 117 ราย
สะสมลระลอกที่สาม 4586 ราย 
สะสมทั้งหมด 4679 ราย