ล็อกดาวน์ล่าสุด เช็คเงื่อนไข "เดินทางข้ามจังหวัดได้ไหม"

18 ก.ค. 2564 | 10:13 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2564 | 15:44 น.
50.1 k

ล็อกดาวน์ล่าสุด สรุปเงื่อนไข “เดินทางข้ามจังหวัดได้ไหม” หลังประกาศยกระดับ “ล็อกดาวน์” เเละ “เคอร์ฟิว” เพิ่มพื้นที่สีเเดงเข้ม จากเดิม 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด เพื่อควบคุมสถานการณ์โควิด

ประกาศเป็นที่เรียบร้อยสำหรับยกระดับล็อกดาวน์ฉบับล่าสุดมีผล 20 ก.ค.นี้ ปรับเพิ่มจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มเป็น 13 จังหวัด จำกัดการเดินทางประชาชน ขยายเวลาเคอร์ฟิวเพิ่มอีก 14 วัน พร้อมให้อำนาจผู้ว่าฯในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดสั่งปิดสถานที่หรือกิจการที่มีความเสี่ยงเพิ่ม

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อ ข้อกําหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ซึ่งลงนามโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อยกระดับล็อกดาวน์ เพิ่มความเข้มข้นของมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการบังคับใช้อย่างจริงจังเพิ่มเติมขึ้น

เกิดคำถามข้องใจ "เดินทางข้ามจังหวัดได้ไหม" ฐานเศรษฐกิจ สรุปมาให้แล้วง่าย ๆ เกี่ยวกับการเดินทางข้ามจังหวัดของประชาชน

จากการปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ กำหนดปรับปรุงเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดขึ้นใหม่ 13 จังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, จังหวัดนครปฐม, จังหวัดนนทบุรี, จังหวัดปทุมธานี, จังหวัดสมุทรปราการ, จังหวัดสมุทรสาคร, จังหวัดฉะเชิงเทรา, จังหวัดชลบุรี, จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส, จังหวัดปัตตานี, จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา 

พื้นที่โซนสีคุมระบาดโควิด

โดยให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) มีคำสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจำแนก ตามเขตพื้นที่สถานการณ์เสียใหม่ และให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กำหนดไว้สำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่างๆ ข้อห้ามและข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้

ในส่วนสำคัญ คือ การลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทาง ให้ประชาชนในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวดที่ได้มีคำสั่งตามข้อ 2 เลี่ยง จำกัดหรืองดเว้นภารกิจที่ต้องเดินทางออกนอกเคหสถานหรือที่พำนักโดยไม่จำเป็น

สำหรับการเดินทางในบางกรณีที่จำเป็น เช่น การเดินทางเพื่อจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อาหาร ยาหรือเวชภัณฑ์ การเดินทางเพื่อพบแพทย์เพื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การรักษาพยาบาล การรับวัคซีนป้องกันโรค หรือมีความจำเป็นเพื่อปฏิบัติงานหรือการประกอบอาชีพที่ไม่สามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ สามารถกระทำได้

แต่ต้องใช้ความระมัดระวังในการป้องกันตนเองตามคำแนะนำของพนักงานเจ้าหน้าที่และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยการสนับสนุนของกรุงเทพมหานคร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนอาสาสมัครและจิตอาสาในการให้ความช่วยเหลือและกระจายสิ่งอุปโภคบริโภคที่จำเป็นแก่ประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

ประกาศ "ล็อกดาวน์ล่าสุด" เงื่อนไข "เดินทางข้ามจังหวัดได้ไหม"

การกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมและการตรวจคัดกรองการเดินทาง เฉพาะเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยการสนับสนุนจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด ในเส้นทางคมนำคมเข้าออกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามข้อกำหนดนี้ โดยเน้นการปฏิบัติ เพื่อการคัดกรอง ชะลอ หรือสกัดกั้น การเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเพื่อเดินทางไปยังพื้นที่อื่น

โดยเป็นไปตามแนวทางที่ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ( ศปก.ศบค.) กำหนด เป็นระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 14 วัน พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการข้อห้าม ข้อยกเว้น หรือแนวทางที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ ให้นำกรณีหรือบุคคลที่ได้รับยกเว้นตามข้อ 4 และข้อ 5 ของข้อกำหนด (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 มาใช้โดยอนุโลม ดังนี้

  • ให้ประชาชนหลีกเลี่ยง หรือชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัดในช่วงระยะเวลานี้โดยไม่มีเหตุจำเป็น เพื่อประโยชน์ส่วนรวม
  • กรณีที่จำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตพื้นที่อาจไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางและอาจต้องใช้ระยะเวลามากกว่าปกติ
  • ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติงานตรวจคัดกรองการเดินทางในเส้นทางคมนาคมเข้าออกกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการเดินทางเข้าออกจังหวัดอื่น เพื่อควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงาน และคัดกรองการเดินทางของประชาชนทั่วไป ตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564 และตามแนวปฏิบัติที่ ศปก.ศบค. กำหนด
  • ให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบและกำกับดูแลการให้บริการของผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ สำหรับการขนส่งคนโดยสารระหว่างจังหวัด ซึ่งมีพื้นที่ต้นทางจากกรุงเทพมหานคร จังหวัดปริมณฑล หรือพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามข้อกำหนดนี้ โดยเพิ่มความเข้มงวดเพื่อให้ผู้ประกอบการปฏิบัติ รวมทั้งการตรวจคัดกรองการเดินทาง การจัดระบบและระเบียบให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคและแนวปฏิบัติที่ ศปก.ศบค. กำหนด
  • การขนส่งสินค้าระหว่างจังหวัด ให้กระทรวงคมนาคมจัดระเบียบหรือแนวปฏิบัติเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการให้เหมาะสมและลดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ
  • กำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมและตรวจคัดกรองการเดินทาง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยการสนับสนุนจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด เพื่อคัดกรองการเดินทาง
  • เส้นทางคมนาคมเข้าออกจังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และจังหวัดสงขลา) การตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัดเพื่อตรวจคัดกรอง การเดินทาง ให้ดำเนินการอย่างเข้มงวด 
  • บุคคลที่ประสงค์จะเดินทางออกนอกพื้นที่ ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรแสดงตนอื่น ๆ ควบคู่กับเอกสารรับรองความจำเป็นที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือเจ้าหน้ำที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ เว้นแต่เป็นบุคคลที่ได้รับการยกเว้น
  • เส้นทางคมนาคมเข้าออกกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล (นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร) การเดินทางข้ามเขตจังหวัด มีการตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัดเพื่อตรวจคัดกรองการเดินทาง อย่างเข้มงวด
  • เส้นทางคมนาคมเข้าออกจังหวัดอื่น มีการตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัดเพื่อตรวจคัดกรองการเดินทาง อย่างเข้มงวด ในกรณีที่พบผู้เดินทางมาจากจังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้ดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันโรคโดยการคุมไว้สังเกต แยกกัก หรือกักกันในพื้นที่พำนักหรือสถานที่ที่ทางราชการกำหนด หรือตามหลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติด้านสาธารณสุขที่กระทรวงสาธารณสุขหรือ ศบค. กำหนด
  • ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อเพื่อกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการป้องกันโรคสำหรับบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดขึ้นเป็นการเฉพาะในจังหวัดพื้นที่รับผิดชอบ ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติที่ ศบค. หรือนายกรัฐมนตรีกำหนด

ที่มา: ราชกิจจานุเบกษา