"AstraZeneca" หมอเฉลิมชัยชี้น่าจะเป็นชนิดหลักรับมือสายพันธุ์เดลตาในไทย

10 ก.ค. 2564 | 16:56 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ค. 2564 | 19:52 น.
2.3 k

หมอเฉลิมชัยชี้วัคซีน AstraZeneca น่าจะเป็นชนิดหลักในการรับมือโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในประเทศไทย ระบุบุคลากรทางการแพทย์ฉีด Sinovac ครบ 2 เข็ม เพิ่มแอสตร้าเซนเนก้าอีก 1 เข็ม

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า     
วัคซีน AstraZeneca (แอสตร้าเซนเนก้า) น่าจะเป็นวัคซีนหลัก ในการรับมือโควิดระบาดด้วยไวรัสสายพันธุ์เดลตา (Delta) ของประเทศไทย
จากสถานการณ์โควิดระบาดในประเทศไทย มีไวรัสที่รับผิดชอบในแต่ละระลอกดังนี้
1.ระลอกที่หนึ่ง ไวรัสสายพันธุ์เดิม (อู่ฮั่น)
2.ระลอกที่สอง ไวรัสสายพันธุ์เดิม (อู่ฮั่น)
3.ระลอกที่สาม ไวรัสสายพันธุ์ใหม่  
3.1ช่วงเมษายน สายพันธุ์อัลฟ่าหรืออังกฤษ มีความสามารถระบาดเพิ่มขึ้น 70% 
3.2ช่วงมิถุนายน ไวรัสสายพันธุ์เดลต้าหรืออินเดีย มีความสามารถในการระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าเพิ่มอีก 60%
และขณะนี้จากการเก็บข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในช่วง 28 มิถุนายนถึง 2 กรกฎาคม ในเขตกรุงเทพฯพบ
ไวรัสสายพันธุ์เดลต้า 52% 
ไวรัสสายพันธุ์อัลฟา 47.8%

ในส่วนภูมิภาคพบ
ไวรัสสายพันธุ์เดลต้า 18% 
ไวรัสสายพันธุ์อัลฟา 77.6%

\"AstraZeneca\" หมอเฉลิมชัยชี้น่าจะเป็นชนิดหลักรับมือสายพันธุ์เดลตาในไทย
จึงทำให้เราต้องมาให้ความสนใจไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่คือเดลตา เพราะคาดว่าจะเป็นสายพันธุ์หลักของทั้งประเทศในระยะเวลาอีกไม่เกิน 1-2 เดือนข้างหน้านี้ และด้วยความสามารถในการแพร่ระบาดรวดเร็ว ตลอดจนการดื้อต่อวัคซีน จึงต้องมาดูข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนที่มีผลต่อไวรัสสายพันธุ์เดลตา
จากข้อมูลในสามประเทศหลัก พบว่าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) สองเข็ม มีประสิทธิผลต่อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าลดลงได้แก่ อิสราเอลประสิทธิผลเหลือ 64% สิงคโปร์เหลือ 69% และอังกฤษเหลือ 79% 
ทั้งนี้เป็นประสิทธิผลต่อการป้องกันการติดเชื้อทั้งหมด ถ้าดูเฉพาะการป้องกันการป่วยหนักและการเสียชีวิตยังคงได้ผลมากกว่า 90% แต่เนื่องจากในประเทศไทยขณะนี้ ยังไม่มีวัคซีนเทคโนโลยี mRNA ทั้งของไฟเซอร์และโมเดิร์นน่า จึงต้องให้ความสนใจกับวัคซีนที่มีอยู่คือ Sinovac (ซิโนแวค) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเชื้อตายกับ AstraZeneca ซึ่งเป็นเทคโนโลยีไวรัสเป็นพาหะ ว่าจะมีความสามารถหรือประสิทธิผลในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลต้าอย่างไร
ข้อมูลเรื่องนี้เกือบไม่มีเลย เพราะเพิ่งจะพบไวรัสสายพันธุ์เดลต้าในประเทศไทยไม่นานนี้เอง แต่ข้อมูลเบื้องต้นจากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับไบโอเทคและสถาบันโรคทรวงอก ( มีจำนวนตัวอย่างที่ต้องเรียกว่าน้อยมาก อาจจะไม่สามารถถือเป็นหลักทางวิชาการได้) แต่สำหรับในสถานการณ์ที่ยังไม่มีข้อมูลเลย การเหลือบตาดูข้อมูลลักษณะนี้ โดยรู้เท่าทัน ว่ายังเชื่อถือมากนักไม่ได้ ก็อาจพอจะมีประโยชน์อยู่บ้าง
พบว่าในการรับมือกับไวรัสสายพันธุ์เดลต้า จะต้องมีวัคซีน AstraZeneca ร่วมด้วยเสมอ
โดยลำดับของการมีภูมิคุ้มกันขึ้นได้ดีได้แก่
1.Sinovac สองเข็ม Astra หนึ่งเข็ม
2.Astra สองเข็ม 
3.คนที่หายดีแล้ว ฉีด Astra เพิ่มหนึ่งเข็ม

ส่วนการรับมือกับไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่า
1) หายป่วยดีแล้ว ฉีด Astra หนึ่งเข็ม
2.Sinovac สองเข็มตามด้วย Astra หนึ่งเข็ม
3.Astra สองเข็ม
จึงพอจะสรุปเบื้องต้นด้วยข้อจำกัดของจำนวนตัวอย่างของการศึกษาที่กล่าวไปแล้วว่า
สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับ Sinovac ไปแล้วสองเข็ม และขณะนี้ยังต้องทำงานเสี่ยงต่อการพบไวรัสสายพันธุ์เดลต้านั้น การฉีดวัคซีนเสริม (Booster ) เป็นเข็มที่สาม ด้วยวัคซีน AstraZeneca จึงเป็นแนวทางที่น่าสนใจ แต่จะต้องรอรายงานการศึกษา ให้มีจำนวนตัวอย่างมากกว่านี้ คาดว่าใช้เวลาหนึ่งเดือนก็น่าจะสรุปผลดังได้
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมตัวเลขการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) วันที่ 28 ก.พ.-9 ก.ค. 64 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ฉีดสะสมจำนวน 12,375,904 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 9,130,526 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 3,245,378 ราย