"ล็อกดาวน์" โดยเร็ว "หมอเฉลิมชัย" เปิดเหตุผลที่ไม่ต้องรอประเมินผล 14 วัน

08 ก.ค. 2564 | 10:33 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2564 | 00:52 น.
4.1 k

หมอเฉลิมชัยเปิดเหตุผลทำไมจึงควรล็อกดาวน์โดยเร็ว ไม่ต้องรอการประเมินผล 14 วันหลังประกาศใช้มาตรการเข้มข้น พร้อมระบุสิ่งที่ต้องสูญเสียจากโควิดระลอกสาม ชี้รัฐบาลต้องตัดสินใจเด็ดขาดบนข้อมูลที่รอบด้าน

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ทำไมจึงควรประกาศล็อกดาวน์โดยเร็ว ไม่ต้องรอการประเมินผล 14 วันหลังประกาศใช้มาตรการเข้มข้น นับจากสถานการณ์โควิดปลายระลอกที่สอง (มีนาคม 2564) ต่อเนื่องกับต้นระลอกที่สาม (เมษายน 2564)
มีการพบข้อมูลที่สำคัญมาก ซึ่งเป็นปัจจัยหลักต่อการแพร่ระบาดของโควิดระลอกที่สามอย่างกว้างขวางคือ การพบไวรัสกลายพันธุ์ สายพันธุ์อังกฤษหรืออัลฟ่า ที่แพร่ระบาดรวดเร็วขึ้นมาก จึงไม่สามารถจะใช้ระดับความเข้มข้นของมาตรการต่างๆที่เคยใช้ควบคุมอย่างได้ผลในระลอกที่สองได้อีกต่อไป
เมื่อดูตัวอย่างการใช้มาตรการเข้มข้น เฉพาะพื้นที่หรือเฉพาะเมืองที่มีการติดเชื้อสูง ของประเทศเพื่อนบ้านจะพบว่าที่นครเวียงจันทน์ ในช่วงสงกรานต์ พบมีการติดเชื้อใหม่ในระดับ 10 รายต่อวัน ก็ล็อกดาวน์นครเวียงจันทน์ทันที
ทำให้สามารถควบคุมการระบาดได้ดีมาก จนถึงวันนี้นับจากเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม ลาวมีผู้ติดเชื้อ 2400 ราย เสียชีวิต 3 ราย เป็นอันดับที่ 187 ของโลก
เช่นกัน ประเทศกัมพูชา มีการติดเชื้อ ที่กรุงพนมเปญ ในช่วงกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ระดับผู้ติดเชื้อไม่ถึง 100 รายต่อวัน ก็ใช้มาตรการเข้มข้นล็อกดาวน์กรุงพนมเปญทันทีเช่นกัน จนผ่านมาถึงวันนี้ กัมพูชาติดเชื้อ 57,103 ราย เสียชีวิต 798 ราย เป็นอันดับที่ 112 โดยที่เป็นสายพันธุ์อัลฟ่าหรืออังกฤษสายพันธุ์เดียวกับประเทศของเรา
ส่วนของประเทศไทยเอง ด้วยข้อจำกัดและปัญหาหลายประการด้วยกัน ทำให้ในห้วงเวลาเดียวกับที่กัมพูชามีไวรัสอัลฟ่า ประเทศไทยก็พบไวรัสอัลฟ่าเช่นกัน แต่เราใช้มาตรการที่เข้มข้นน้อยกว่าลาวและกัมพูชามาก ทำให้ขณะนี้ ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 64 ของโลก ติดเชื้อแล้ว 301,172 คน  เสียชีวิต 2,387 คน

ตัวเลขของผู้ติดเชื้อในนครเวียงจันทน์ ประเทศลาว กรุงพนมเปญ กัมพูชา และกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย จึงแตกต่างกันชัดเจน แม้จะเป็นไวรัสสายพันธุ์เดียวกันคืออัลฟ่าก็ตาม แต่มาตรการเข้มข้นต่างกัน
ส่วนข้อจำกัดของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการต้องใช้งบประมาณจำนวนมากที่จะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ หรือความคิดเห็น ตลอดจนความเชื่อของบางฝ่าย ที่บอกว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมนั้นมาก จนรับไม่ไหว จึงเป็นที่มาของการตัดสินใจออกมาตรการเข้มข้นปานกลาง เพื่อประคับประคองมิติทางเศรษฐกิจเอาไว้ เช่น ไม่ล็อกดาวน์  ไม่ประกาศเคอร์ฟิว ขอร้องให้ทำงานจากบ้าน ไม่บังคับ ขอร้องให้เดินทางข้ามเขตจังหวัดน้อยลง แต่ก็ไม่บังคับ ขอความร่วมมือให้ฉลองสงกรานต์แบบระมัดระวัง

\"ล็อกดาวน์\" โดยเร็ว \"หมอเฉลิมชัย\" เปิดเหตุผลที่ไม่ต้องรอประเมินผล 14 วัน
ผลของการออกมาตรการเข้มข้นระดับดังกล่าว จึงพบการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย ตลอดจนผู้ป่วยหนัก จนต้องมีการระดมสรรพกำลัง คน เงิน ของ ไปเสริมระบบสาธารณสุขให้สามารถรองรับผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมากมาย ทั้งนี้ก็เพราะต้องการประคับประคองสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมนั่นเอง
ลองย้อนกลับมาพิจารณาว่า การประคับประคองเศรษฐกิจแบบนี้ สุดท้ายจะมีความหวังอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่ว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับขึ้นมาดีขึ้นได้ เมื่อไหร่ อย่างไร คำตอบคือ สภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมจะดีขึ้นเร็วสุด ก็คือปลายปีนี้  เมื่อมีการฉีดวัคซีนครบสองเข็ม 70% ของประชากร จนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แล้วระยะเวลาที่เหลือ 6 เดือน ก่อนที่จะถึงปลายปี เราจะประคับประคองเศรษฐกิจไปโดยเกิดผลกระทบต่อสาธารณสุขนั้น มีราคาที่ต้องจ่ายแพงมากมายทีเดียว
หมอเฉลิมชัย ระบุต่อไปอีกว่า เพียงสามเดือนที่ผ่านมาของการระบาดระลอกที่สาม การประคับประคองเศรษฐกิจไว้ มีราคาที่ต้องจ่าย (Price to Pay) ดังนี้
1.มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 2000 คน
2.มีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 200,000 คน
3.มีผู้เสียชีวิตนับจำนวนไม่ได้ จากโรคอื่นๆที่ได้รับผลกระทบจากผู้ป่วยโควิดมาครองเตียง ทำให้หาเตียงไอซียู หรือบุคลากรที่จะมารักษาโดยการผ่าตัด หรือการรักษาที่ยุ่งยากที่รวดเร็วเหมาะสมไม่ได้
4.เกิดความทุกข์ ภาวะกดดันทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิตของทีมแพทย์พยาบาลและบุคลากรสาธารณสุขเป็นจำนวนนับ 100,000 คน
5.สูญเสียงบประมาณจำนวนมาก ที่ต้องระดมเข้าไป เพื่อประคับประคองระบบโรงพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนาม

ราคาที่ต้องจ่ายดังกล่าว แลกมากับอะไรที่จะได้บ้าง
1.กิจการบางอย่างทางเศรษฐกิจพอเปิดดำเนินการได้บ้าง แต่ไม่ถึงกับจะดีอะไรมากนัก หลายแห่งบอกว่าแย่พอๆกับการต้องล็อกดาวน์นั่นเอง เช่น ร้านอาหาร ร้านค้าต่างๆ
2.ผู้คนพอจะเดินทางสัญจรไปมาได้บ้าง ตามที่ตนเองต้องการ
3.รัฐประหยัดงบประมาณ ไม่ต้องใช้จ่ายเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์
ถ้าจะต้องประคองสถานการณ์ไปอีก 6 เดือน เพื่อดูแลเศรษฐกิจดังกล่าว เราก็คงจะมีราคาที่ต้องจ่ายโดยเฉพาะชีวิตของผู้คนที่ต้องล้มหายตายจากไป และไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้อีก เมื่อโรคสงบแล้วแลกกับเศรษฐกิจ ซึ่งก็ไม่ได้ดีอะไรมากมายนัก
จึงถึงจุดสำคัญ ที่รัฐบาลจะต้องตัดสินใจที่เด็ดขาด อยู่บนข้อมูลที่รอบด้าน และแบบเข้าใจทุกฝ่าย เพราะได้ให้โอกาสทางด้านเศรษฐกิจและสังคมมานานพอแล้ว คือมากกว่าสามเดือนที่ชะลอการล็อกดาวน์มาโดยตลอด เราจึงไม่สามารถจะอยู่ในลักษณะนี้ต่อไปได้อีกหกเดือน เพื่อให้มีการฉีดวัคซีนเพื่อเกิดภูมิคุ้มกันหมู่

การล็อกดาวน์ตอนนี้ ก็จะได้ผลดีไม่เท่าการล็อกดาวน์เมื่อเดือนเมษายน 2564 แต่ก็ยังดีกว่าไม่ Lockdown เลย เป็นการประคองมิติทางสาธารณสุขไม่ให้ล่มสลาย สามารถรักษาชีวิตผู้คนนับพันนับหมื่นเอาไว้ได้ แล้วสิ้นปีนี้ เราค่อยกลับมาร่วมแรงร่วมใจฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เสียหายไปด้วยกัน
เศรษฐกิจเรียกคืนกลับมาได้ ถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ แต่ชีวิตผู้คนที่เสียไปแล้ว เราไม่สามารถจะเรียกคืนกลับมาได้อีก
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องออกแบบระบบ วางแผนจัดการ และทำการสื่อสารให้ดีที่สุดว่าจะล็อกดาวน์กันอย่างไรบ้าง นานเท่าใด รวมทั้งมีแผนที่จะเยียวยาผลกระทบต่อกลุ่มต่างๆ ให้รวดเร็ว ได้ผลชัดเจน ผ่านการสื่อสารที่จริงใจ
และเข้าใจง่าย และคนไทยจะได้ผ่านพ้นเหตุการณ์หนักหนาไปด้วยกันในที่สุด บอบช้ำน้อยที่สุด เท่าที่จำเป็น

\"ล็อกดาวน์\" โดยเร็ว \"หมอเฉลิมชัย\" เปิดเหตุผลที่ไม่ต้องรอประเมินผล 14 วัน
ทั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะ "หมอเฉลิมชัย" เท่านั้น ที่เสนอให้มีการล็อกดาวน์อย่างจริงจัง โดยก่อนหน้านี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้นำเสนอบทความรศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความที่ระบุว่า 

ล็อกดาวน์ โดยจำเป็นต้องแจ้งต่อประชาชนถึงเป้าหมายที่ชัดเจน และระยะเวลาแต่ละระยะ ทั้งนี้ให้ทำใจไว้ล่วงหน้าว่า การล็อกดาวน์ระยะสั้นจะไม่ได้ผลสำหรับตัดวงจรการระบาดที่มีความรุนแรงและปล่อยไว้ยาวนานหลายเดือนแบบที่เรากำลังเผชิญ 
โดยข้อเสนอดังกล่าวเป็น 1 ใน 7 ข้อที่หมอธีระบอกว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำเพื่อสู้กับศึกโควิด-19  (Covid-19)ยืดเยื้อ