ผลตรวจมลพิษ คุณภาพอากาศสมุทรปราการ ยังอยู่ในเกณฑ์ดีมาก

07 ก.ค. 2564 | 16:46 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2564 | 23:55 น.

กระทรวงทรัยพากรฯ มอบกรมควบคุมมลพิษ เฝ้าระวังมลพิษโรงงานหมิงตี้ เคมีคอล เผย ตรวจพบคุณภาพอากาศสมุทรปราการ ยังอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ไม่มีสารสไตรีน และฟอร์มัลดีไฮด์ ปรากฎ

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งโรงงานถูกเพลิงไหม้พังถล่มเสียหายทั้งหมด สร้างความเสียหายให้กับชุมชนและประชาชนโดยรอบ และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมาย คพ. ร่วมกับหน่วยงานใน ทส. ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ เพื่อยืนยันได้ว่าพี่น้องประชาชนจะมีความปลอดภัย   

 

ล่าสุดวันนี้ 7 กรกฎาคม 2564 ณ เวลา 10.00 น. รายงานข้อมูลการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในจังหวัดสมุทรปราการอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยผลการตรวจวัด สรุปได้ดังนี้ ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เฉลี่ย 24 ชม. ตรวจวัดได้  5 – 23 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร(มคก./ลบ.ม.) ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน(PM10) เฉลี่ย 24 ชม. ตรวจวัดได้ 17 – 37 มคก./ลบ.ม. ก๊าซโอโซน (O3) เฉลี่ย 8 ชั่วโมง ตรวจวัดได้ 2 - 12 ส่วนในพันล้านส่วน (ppb)  ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) เฉลี่ย 8 ชม. ตรวจวัดได้ 0.09 - 0.7 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เฉลี่ย 1 ชม. ตรวจวัดได้ 7 - 12 ppb และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เฉลี่ย 1 ชม. ตรวจวัดได้ 1 - 6 ppb ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศแบบ Real time ของประเทศไทย ได้ที่เว็บไซต์ Air4Thai.com และแอปพลิเคชัน Air4Thai

สำหรับการตรวจสอบไอระเหยสารเคมีในบรรยากาศ วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 10.00 น. พบว่า 1) บริเวณภายในโรงงานตรวจไม่พบทั้งสารสไตรีนและฟอร์มัลดีไฮด์ 2) บริเวณภายนอกโรงงานบริเวณด้านหน้าโรงงานฯ ตรวจไม่พบสารสไตรีนและตรวจพบฟอร์มัลดีไฮด์ปริมาณ 0.007 ppm (ค่ามาตรฐาน 0.9 ppm) ซึ่งไม่เกินค่ามาตรฐาน และบริเวณชุมชนใกล้เคียงโรงงาน 3 จุด ในรัศมี 1-2 กิโลเมตร ตรวจไม่พบทั้งสารสไตรีน และฟอร์มัลดีไฮด์

คพ. ได้ประสานข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพบรรยากาศรายวันให้กับศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดสมุทรปราการเพื่อการตัดสินใจยุติการอพยพออกจากพื้นที่ต่อไป และจะเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำและมลพิษจากสารเคมีที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โดยรอบ และใช้เป็นข้อมูลประกอบการแจ้งเตือนหากพบว่ามีค่ามลพิษสูงเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ