นายก สั่งกองทัพ ขยายห้องไอซียู 80 เตียง รองรับผู้ป่วยโควิด เหลือง-แดง

02 ก.ค. 2564 | 20:03 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ค. 2564 | 03:12 น.
800

“ทหารมีไว้ทำไม?” พลังฮึดก๊อกสอง ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เร่งสปีด สร้างรพ.สนาม ขยายเตียงดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิดระดับติดเชื้อและกลุ่มอาการหนักต้องเข้าไอซียู ”เหลือง-แดง”เพิ่ม 80 เตียง ใน 30วัน

2 ก.ค.64 - พล.ท.คงชีพ  ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ชัยชาญ  ช้างมงคล รมช.กลาโหม และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้เรียกประชุมด่วน หน่วยงาน กอ.รมน. หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม เหล่าทัพ และ ตำรวจ ผ่านระบบ VTC ณ ศาลาว่าการกลาโหม 

 

เพื่อเร่งสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข ศบค.เพื่อรับมือกับ ผู้ป่วยโควิด-19 สะสมที่มีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง  โดยได้หารือและพิจารณาร่วมกันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแพทย์ทหารสูงสุด ในการร่วมระดมปรับเกลี่ยบุคลากรทางการแพทย์ทหารออกไปช่วยเสริมโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ทางการแพทย์ 

 

นอกจากนี้ ได้มีการสั่งการให้เร่งขยายห้องผู้ป่วยไอซียู จำนวน 80 เตียง ในโรงพยาบาลทหารต่างๆในพื้นที่ กทม.โดยจะทยอยเปิดต่อเนื่องใน 30 วัน และขยายขีดความสามารถ พื้นที่ มทบ.11 สนับสนุนอาคารและสถานที่จัดทำ รพ. สนาม เพิ่มเติม 

 

โดยร่วมกับ รพ.ธนบุรีบำรุงเมือง จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ดูแลผู้ป่วยสีแดงและผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง จำนวน 178 เตียง ซึ่งได้เปิดบริการในวันที่ 2 กรกฎาคม และร่วมกับ รพ.พระมงกุฎฯ จัดตั้ง รพ.สนาม ดูแลผู้ป่วยสีเขียว เพิ่มเติม 176 เตียง โดยจะเร่งเปิดให้การบริการใน 4 กรกฎาคมนี้ 

พล.อ.ชัยชาญ ได้กำชับขอให้ทุกเหล่าทัพ เร่งให้การสนับสนุนขยายขีดความสามารถห้องผู้ป่วย ไอซียูและ รพ.สนาม ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สามารถรองรับผู้ป่วยสีแดงและสีเหลืองที่เพิ่มขึ้นโดยเร็ว 

 

นอกจากนี้ ยังขอให้สนับสนุนการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด เพื่อเสริมขีดความสามารถทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุขในการดูแลประชาชน ในช่วงวิกฤตสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ไปด้วยกัน โดยเฉพาะพื้นที่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้ง 4 จังหวัดชายแดนใต้  

 

ขณะเดียวกัน รมช. กลาโหมได้ เน้นย้ำ ให้เร่งฉีดวัคซีนให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด่านหน้า ในพื้นที่เสี่ยงสูงทั้งหมดโดยเร็ว หากได้รับการสนับสนุนวัคซีนเพิ่มเติมจากรัฐ
 

ความพยายามในการเข้ามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการดูแลรักษาผู้ป่วยของเหล่าทัพได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องโดยในช่วงวันที่ 20 มิถุนายน 2564 พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ได้มีข้อสั่งการกำชับดำเนินการเฝ้าตรวจลาดตระเวนแนวชายแดนทั้งทางบกและทางน้ำตลอด 24 ชั่วโมง 

 

ป้องกันการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายโดยไม่ผ่านการคัดกรอง ทั้งให้บูรณาการร่วมกับฝ่ายปกครองในพื้นที่ตั้งจุดคัดกรองบริเวณจุดผ่านแดน จุดตรวจสายตรวจ และสถานกักกันเพื่อเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไวรัสโควิด-19

 

พ.ท.หญิง นุชระวี แจ่มจำรัส ผู้ช่วยโฆษก ทบ. ชี้แจงเพิ่มเติมในตอนนั้นว่า ผบทบ.ได้มอบภารกิจ อีกส่วนให้เร่งดำเนินการคือ การจัดตั้ง รพ.สนาม โดย ทบ.ดำเนินตามนโยบายกระทรวงกลาโหม จัดตั้งเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อาการไม่รุนแรง หรือกักตัวเพื่อสังเกตอาการ เพื่อเป็นการช่วยลดภาระของโรงพยาบาลสาธารณสุข โดยใช้สถานที่ในหน่วยทหาร สิ่งอุปกรณ์ที่มี รวมถึงกำลังพล จำนวน 21 แห่ง สามารถรองรับได้ 3,350 เตียง 

 

โดยมีหน่วย กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1, มณฑลทหารบกที่ 11, กรมพลาธิการทหารบก, ศูนย์การทหารราบ, กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 15, กองพลทหารราบที่ 15, กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 5, กองพันเสนารักษ์ที่ 1 เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ให้เร่งจัดเตรียมโรงพยาบาลสนาม สนับสนุนโรงพยาบาลสังกัดกองทัพบกเพิ่มเติม ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯอีกจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสนามกองทัพบก (เกียกกาย) และโรงพยาบาลสนามกองทัพบก (กรมยุทธศึกษาทหารบก) ซึ่งบริหารจัดการโดย รพ.พระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลสนามในพื้นที่กองทัพภาค รวม 36 แห่ง สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 3,538 เตียง

 

การดำเนินการของทหารนับเป็นมาตรการเสริม ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรงเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนโรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลเอกชนมีจำนวนเตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้ออาการหนัก