สธ.ชงแนวทางแก้ขัด "ดูแลตัวเองที่บ้าน" สำหรับผู้ป่วยโควิดแบบไม่มีอาการ

28 มิ.ย. 2564 | 04:05 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มิ.ย. 2564 | 06:21 น.
672

ท่ามกลาง “วิกฤตเตียงเต็ม” อัตราการครองเตียงผู้ป่วยโควิดในกรุงเทพ-ปริมณฑลสูงถึง 90% สธ.ดำริแนวทาง Home Isolation ระหว่างรอเตียง ความหมายของแนวทางที่ว่านี้คืออย่างไร และใครที่เข้าข่ายดูแลตนเองที่บ้านได้บ้าง  

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยวานนี้ (27 มิ.ย.) ว่า สถานการณ์เตียงรองรับผู้ป่วยโควิด ทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑลยังไม่ดีขึ้น มี ผู้ติดเชื้อรอเตียงโรงพยาบาล อยู่ที่บ้านเป็นจำนวนมาก โดยขณะนี้ ผู้ที่แจ้งประสานขอเตียงเมื่อมีผลการตรวจยืนยันติด โควิด-19 ผ่าน สายด่วน 1668 ปรากฏว่า ยังหาเตียงไม่ได้และรอเตียงอยู่มีจำนวนราว 400-500 ราย

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

ดังนั้น ในวันนี้ (28 มิ.ย.) อาจจะมีการออกเรื่องแนวทางการดูแลตนเองที่บ้านของผู้ป่วยโควิดระหว่างรอเตียง (Home Isolation) เป็นการให้คำแนะนำในการดูแลตนเองระหว่างที่รอการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกราย ที่สามารถใช้แนวทางนี้

ในเบื้องต้น เจ้าหน้าที่จะต้องคัดกรองก่อนว่า ผู้ติดเชื้อสามารถดูแลตนเองที่บ้านระหว่างรอเตียงรพ.ได้ ไม่มีปัญหาเรื่องของการแยกกักตัว ก็จะให้อยู่ที่บ้านเพื่อรอเตียงก่อน หรือถ้าผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างแต่ยังไม่มีอาการ ก็อาจจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) กินที่บ้านด้วย หรือถ้าสบายดีไม่มีอาการอะไรเลยก็อาจจะให้กินยาฟ้าทะลายโจร

"กรณีผู้ติดเชื้อไม่มีอาการที่พิจารณาว่า สามารถรอเตียงอยู่ที่บ้านได้นั้น จะมีการแจกอุปกรณ์เครื่องมือในการติดตามอาการเบื้องต้น เช่น ปรอทวัดไข้กับอุปกรณ์วัดออกซิเจนในเลือด รวมถึงจะจัดทีมแพทย์พยาบาลติดต่อสอบถามอาการทุกวันในรูปแบบออนไลน์ หรือ เทเลเมดิซีน (บริการแพทย์ทางไกล) หรืออาจจะมีคนไปเยี่ยมบ้านในบางราย โดยประสานภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมติดตามดูแลผู้ป่วยด้วย ส่วนรายใดที่จำเป็นต้องรับเข้ารักษาทันทีก็จะประสานหาเตียงให้โดยเร็ว" 

อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า แนวทาง Home Isolation นั้น ในเบื้องต้นจะใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีปัญหาเรื่องเตียงก่อน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ขณะนี้ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ก็เริ่มจะมีปัญหาเรื่องเตียงเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาเป็นเพียงปลายทาง สิ่งสำคัญคือจะต้องลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้ได้ โดยจะต้องดำเนินการใน 3 เรื่อง ได้แก่

1.มาตรการรัฐบาลต้องเข้มพอ

2.ประชาชน ผู้ประกอบการ และทุกภาคส่วนต้องร่วมมือ ไม่ใช่ปิดแคมป์คนงาน แล้วก็แยกกันหนีออก ต่างจังหวัด

3.มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคต้องเข้มแข็งในทุกระดับ ทุกพื้นที่

ถ้าสามเรื่องนี้ดำเนินการได้ดี จำนวนผู้ติดเชื้อไม่มากขึ้นและมีเท่านี้จริงๆ ก็จะมีการปรับเรื่องเตียงไปตามสถานการณ์ เชื่อว่าสถานการณ์เตียงจะค่อยๆ ดีขึ้น

"แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่หน้างาน ต่างทำงานกันอย่างเต็มที่ ฝากถึงทุกคน มีข้อสงสัยได้ แต่อยากให้พูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ ทุกวันนี้มี Hate Speech จำนวนมาก ถ้าไม่ร่วมมือกันเลย มันจะไปต่อไม่ได้ รัฐบาลเอง ก็ต้องเปิดช่องให้ทุกคน ทุกฝ่ายมาคุยกัน และร่วมมือเป็นทีม ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เพราะมันจะไปไม่ได้" นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ กรมการแพทย์ได้ออกประกาศ ฉบับวันที่ 18 เม.ย.2564 เรื่อง แนวทางการพิจารณาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เหมาะสมสำหรับการแยกตัวที่บ้าน เพื่อเตรียมรองรับ สถานการณ์ในกรณีมีผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มจำนวนมากขึ้น สรุปเนื้อหาได้ ดังนี้ โรงพยาบาลอาจพิจารณาให้ผู้ติดเชื้อใช้ที่พักอาศัย เป็นสถานที่แยกตัว อาทิ บ้านเดี่ยว หอพักหรือคอนโดมิเนียม โดยได้รับความยินยอมจากเจ้าของสถานที่แล้ว มีการจัดเตรียม สถานที่เพื่อการแยกตัวอย่างเหมาะสม ให้เป็นไปตามคำแนะนำการปฏิบัติการแยกตัวที่บ้าน (ประกาศฉบับวันที่ 16 เม.ย.) หากผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ ผิดปกติใดๆ แนะนำให้แยกตัวต่อเนื่องจนครบ 1 เดือน

สำหรับ เกณฑ์พิจารณาผู้ติดเชื้อเพื่อการแยกตัวที่บ้าน มีดังนี้

1.เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ

2.มีอายุไม่เกิน 40 ปี

3.มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง

4.มีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน

5.ไม่มีภาวะอ้วน (น้ำหนักตัวมากกว่า 90 กก.)

6.ไม่มีโรคร่วม (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์)

7.ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง

สธ.ชงแนวทางแก้ขัด \"ดูแลตัวเองที่บ้าน\" สำหรับผู้ป่วยโควิดแบบไม่มีอาการ

ส่วน การดำเนินการของโรงพยาบาล มีดังนี้

1.ประเมินความเหมาะสมสำหรับการให้ผู้ติดเชื้อโควิด แยกกักตัวในสถานที่พักของตนเอง

2.ลงทะเบียนผู้ติดเชื้อที่เข้าเกณฑ์การแยกตัวที่บ้านในระบบของโรงพยาบาล 

3.ควรถ่ายภาพรังสีทรวงอก หากพบความผิดปกติ แนะนำ ให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

4.แนะนำการปฏิบัติตัว และจัดเตรียมปรอทวัดไข้ และ pulse oximeter ให้กับผู้ป่วยติดเชื้อ

5. ติดตาม ประเมินอาการผู้ติดเชื้อระหว่างการแยกตัวที่บ้าน ผ่านระบบสื่อสารต่าง ๆ อาทิ โทรศัพท์ติดตามอาการ สอบถามอาการไข้ ค่า oxygen saturation วันละ  2 ครั้ง (เช้า-เย็น) เป็นเวลา 14 วัน

6.จัดช่องทางติดต่อ ในกรณีผู้ติดเชื้อมีอาการเพิ่มขึ้น หรือมีภาวะฉุกเฉิน อาทิ มีไข้สูง หอบเหนื่อย หายใจลำบาก 

7. จัดระบบรับ-ส่งต่อผู้ป่วย ไปยังโรงพยาบาลในกรณีผู้ติดเชื้อจำเป็นต้องย้ายเข้ารับการรักษาต่อในโรงพยาบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง