"เยียวยาแรงงาน" หลังปิดแคมป์คนงานโควิด

26 มิ.ย. 2564 | 16:22 น.
1.3 k

รมว.เฮ้ง รับลูกนายก เผยมาตรการป้องกันเยียวยาแรงงาน หลังปิดแคมป์คนงานจังหวัดแดงเข้มคุมโควิดระบาด

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการเยียวยาช่วยเหลือแรงงานไทยและต่างด้าวจากกรณีที่รัฐสั่งปิดสถานที่พักคนงาน งดการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ที่มีการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” เป็นเวลา 1 เดือน ว่า ท่านนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว

 

จึงได้มีบัญชาให้กระทรวงแรงงานประสานการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยกรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความร่วมมือนายจ้างผู้ประกอบการห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่สีแดงเข้ม 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

 

ในส่วนของมาตรการรองรับของกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม จะจ่ายเยียวยาสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย เนื่องจากถูกปิดตามคำสั่ง ศบค.โดยจ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง ส่วนวิธีการจ่ายเงินจะหารือกับผู้ประกอบการ เบื้องต้นจะจ่ายทุก 5 วัน ส่วนแคมป์คนงานได้ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เข้าไปตรวจตราทำความเข้าใจกับนายจ้างผู้ประกอบการ

 

ส่วนแรงงานต่างด้าวหากเป็นแรงงานผิดกฎหมายก็จะนำเข้าสู่ระบบทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ จากรายงานข้อมูลจำนวนแคมป์คนงานเบื้องต้นพบว่าปัจจุบันในกรุงเทพมหานคร 575 แห่ง ลูกจ้าง 83,375 คน จังหวัดนนทบุรี 140 แห่ง ปทุมธานี 149 แห่ง และสมุทรปราการ 32 แห่ง ส่วนจังหวัดที่เหลือและจังหวัดชายแดนภาคใต้ รมว.แรงงาน ได้สั่งการให้หน่วยงานสังกัดในพื้นที่บูรณาการทำงานและประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดเพื่อดำเนินการตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดในแคมป์คนงานตามมาตรการ ศบค.

 

นายสุชาติ ยังกล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานจะประสานกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุก (swab) แก่แรงงานในแคมป์คนงาน 100 เปอร์เซ็น หากตรวจพบเชื้อจะต้องแยกตัวแรงงานเพื่อมาเข้าสู่การรักษาตามขั้นตอนของสาธารณสุข ส่วนผู้ที่ตรวจแล้วไม่พบเชื้อก็จะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (27 มิ.ย.64) จะเชิญสมาคมก่อสร้างเข้ามาชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ถึงแนวทางการปฏิบัติเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดอีกทางหนึ่งด้วย