เศร้าใจ “เปิดเทอม” ผู้ปกครองกู้นอกระบบซื้อมือถือให้ “เรียนออนไลน์”

17 มิ.ย. 2564 | 12:59 น.
892

กสศ.สำรวจวิกฤติ “เปิดเทอม” พบต้องกู้เงินนอกระบบเพื่อซื้อมือถือให้ “เรียนออนไลน์” ผู้ปกครองจนเฉียบพลันเพราะตกงานจากพิษโควิด เด็กไม่มีเงินไปโรงเรียน

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) จัดเสวนาผออนไลน์ สำรวจพบวิกฤติ “เปิดเทอม” ท่ามกลางการระบาดของโควิด 19  พบสารพัดปัญหา ทั้งการผ่อนมือถือเพื่อให้ลูกหลาน “เรียนออนไลน์” พบว่า ผู้ปกครองหลายครอบครัวต้องยากจนเฉียบพลันเพราะตกงานจากพิษโควิด เด็กไม่มีเงินไปโรงเรียน

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กสศ. กล่าวว่า นอกจากกสศ.ดูแลนักเรียนยากจนพิเศษ เส้นรายได้ต่ำว่า 3,000 บาทลงมา วิกฤตโควิดทำให้เกิดปรากฎการณ์ความยากจนที่ซ้ำซ้อน ทั้งยากจนเฉียบพลัน  จนถาวร และเกือบจน  สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบเศรษฐกิจ ในปีการศึกษา 2564  

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กสศ.

เบื้องต้นเราพบว่าจะมีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาประมาณ 6,568 คน แต่อีกเดือนเศษจะเพิ่มเป็นหมื่นคนและคาดการณ์ว่าสิ้นปีการศึกษา 2564 จะมีเด็กหลุดจากระบบ 65,000 คน ถ้าหลุดจากระบบประถมศึกษาอาจจะไม่มากเพราะเป็นการศึกษาภาคบังคับราว 4% มัธยมศึกษาตอนต้นอยู่ที่ 19-20% มัธยมปลายอยู่ที่ 48 %  และในจำนวนนี้โอกาสเข้ามหาลัยได้เพียง 8-10%    

กสศ.อุดหนุนช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษอยู่ที่  ปีละ 3,000 บาท  ต้นทุนการศึกษานั้นมีค่าใช้จ่ายแฝง เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร  อยู่ประมาณ 2,058-6,034 บาท ทำให้การเรียนต่อเป็นไปไม่ได้ นโยบายการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวก็ใช้อัตราเดิมมา 10 กว่าปีไม่มีการปรับเพิ่มท่ามกลางสถานการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น รายได้ลด หนี้นอกระบบเพิ่ม  

ดังนั้นจะต้องเร่งแก้ปัญหาจริงจัง โดยการปรับเงินอุดหนุนรายหัว ค่าเล่าเรียน ค่าเสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียน ให้สอดรับกับค่าใช้จ่ายจริง  ตอนนี้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายจริงเกือบ 2-3 พัน ไม่เช่นนั้นในภาคเรียนที่สองจะเห็นการหลุดจากระบบมากกว่านี้ เด็กที่ใกล้เสี่ยงหลุดหรือหลุดแล้ว ทัศนคติ ความมุ่งมั่นทางการศึกษาน้อยมาก การดึงกลับมาเรียนหนังสือ ถ้าไม่ทำแบบประณีต สามารถเข้าถึงวิธีคิดหรือปัญหาจริง เทอมสองจะเห็นเด็กหลุดมากขึ้นและเป็นวิกฤติของประเทศอย่างแท้จริง  

เศร้าใจ “เปิดเทอม” ผู้ปกครองกู้นอกระบบซื้อมือถือให้ “เรียนออนไลน์”

และขอเสนอให้มีการประนอมหนี้การศึกษา เรียนฟรีแบบไม่มีค่าเทอม และการหาทางช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครอง ยกตัวอย่างโมเดลของจังหวัดพิษณุโลก และภูเก็ตเป็นการทำงานเชิงรุก บูรณาการเชื่อมโยงไปสู่การทำงานในพื้นที่ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบ

“ค่าน้ำมันรถไปกลับ วันละประมาณ 40 บาท เดือนละ 800 บาท  ผู้ปกครองมีรายได้ 1,077 บาทต่อคนต่อเดือน จะไปรอดหรือครับ นี่เป็นปัญหาหนักมาก เด็กที่เพิ่มมากขึ้น 7-8 แสนคนที่ยากจน ถ้าเอาเส้นรายได้ 1,021 บาท   จะมีเด็กยากจนพิเศษ 9 แสนคน  ถ้าใช้เส้นแบ่ง 1,388 บาท จะเกิดเด็กยากจนและยากจนพิเศษ 1.9 ล้านคน  เด็กเพิ่มขึ้น 2-3เท่า แต่เราช้อนได้เพียง 10-15% เท่านั้น  ทั้งนี้กสศ.จะมีการประชุมบอร์ดเพื่อกำหนดทิศทางใน 3 ปีข้างหน้าในท่ามกลางวิกฤติโควิดที่ไม่ลดลง จะกำหนดบทบาทภารกิจอย่างไรเพื่อช่วยเหลือเยียวยา ครอบครัวเปราะบางยากจนให้ดียิ่งขึ้นให้ได้ ” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว 

ภูเก็ต เจอวิกฤติ จนเฉียบพลัน ส่งผลเด็กหายไปจากระบบ 10% เผยสอบติดรร.รัฐ แต่ไม่มีเงินจ่ายต้องถูกคัดชื่อออก

นางอัญชลี วานิช เทพบุตร นายกสมาคมสตรีสร้างสรรค์สังคมไทย โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เหตุการณ์จากโรคระบาดครั้งนี้หนักหนาสาหัสกว่าสึนามิมาก ผลกระทบต่อเนื่องมาถึงครัวเรือนและเด็กเยาวชน  ภูเก็ตเคยเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับต้นของโลก ปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติ ทำรายได้กว่า440,000 ล้านบาท  รายได้เฉลี่ยประชากรต่อหัวต่อคนต่อเดือนอยู่ที่ 33,000 บาท  

นางอัญชลี วานิช เทพบุตร นายกสมาคมสตรีสร้างสรรค์สังคมไทย

แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เก็บข้อมูลตัวเลข ชี้ว่ารายได้ต่อคนต่อเดือนของประชากรภูเก็ตเหลือเพียง 1,961 บาท ต่ำกว่าเกณณ์คนจนทั่วประเทศไทยของจปฐ. ซึ่งอยู่ที่ 3,000 บาท  สิ่งที่เกิดขึ้นหนักหนาสาหัส เรียกว่า จนเฉียบพลัน พ่อแม่ผู้ปกครองตกงานตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้วถึง  13-15% ขณะที่ประชากรแฝงกว่า 4 แสนคนพอเกิดโควิด  ตกงาน ต้องกลับภูมิลำเนากว่า 50,000 คน  ส่งผลตัวเลขกลับด้านอย่างมีนัยยะสำคัญ คือคนที่เคยเรียนกศน. เคยทำงานในโรงแรมส่งตัวเองเรียน หรือฝึกอาชีพเพิ่มเติม  

เศร้าใจ “เปิดเทอม” ผู้ปกครองกู้นอกระบบซื้อมือถือให้ “เรียนออนไลน์”

เมื่อถูกพักงาน อัตราคนเรียนต่อกศน.น้อยลง จากเดิมปี 2562 สมัคร 1,800 คน วันนี้ เหลือเพียง 170  คน   นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กหายไปจากระบบเมื่อวันเปิดเทอมที่ผ่านมา 10%   และยังมีกลุ่มที่มีโอกาสหลุดจากระบบในช่วงสิ้นภาคเรียนที่1 อีก ที่ยังต้องประเมินอีกครัง 

“หลายกรณีพ่อแม่จนเฉียบพลัน เคยเป็นพนักงานโรงแรม แต่รายได้เป็นศูนย์ ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม เด็กหลายคนสอบติดโรงเรียนรัฐ  ต้องวางเงิน 3,000 - 4,500 บาท เมื่อไม่มีต้องถูกลบชื่อออกให้เด็กคนอื่นๆเรียน หรือเด็กบางคนเคยเรียนรร.เอกชน รร.นานาชาติ แต่วันนี้ต้องลาออกเรียนรร.วัด  รร.รัฐ

เศร้าใจ “เปิดเทอม” ผู้ปกครองกู้นอกระบบซื้อมือถือให้ “เรียนออนไลน์”

ยิ่งไปกว่านั้น บางกรณียังค้างค่าเรียน ออกก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้วุฒิการศึกษา แม้ว่าจะขอทำสัญญาประนอมหนี้ ขอวุฒิการศึกษาเด็กก่อนก็ยังไม่ได้  บางโรงเรียนไม่ให้เด็กเข้าห้องสอบเพราะไม่ได้จ่ายค่าเทอม วิกฤติแบบนี้แล้วเราจะทิ้งเด็กได้อย่างไร ต้องให้เด็กเข้าเรียนก่อน  ที่ภูเก็ต ถ้าเปรียบเทียบสภาพคน วันนี้เป็นตายเท่ากัน เราต้องช่วยเคสระยะสั้น เฉพาะหน้าก่อน ช่วยเด็กที่กำลังจะจมน้ำให้ได้ ต้องมาช่วยเป็นการด่วน ไม่ใช่หลุดจากระบบแล้วเอื้อมมือช่วย  

พิษณุโลก-ภูเก็ต ประกาศจับมือกสศ.เป็นจังหวัดทดลองระดมทุกหน่วยรุกเฝ้าระวัง ป้องกันเด็กหลุด

นางอัญชลี กล่าวว่า สนับสนุนให้ปัญหาการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งสองสภาไม่ควรตัดงบประมาณ ไม่ใช่ที่ไม่ควรตัดก็ไปตัด แต่งบที่ควรตัดกลับยกมือกันพรึ่บ กสศ.จะเป็นองค์กรหน้าด่านที่ดีที่สุด มีข้อมูล คุ้นเคยกับเด็กยากจน มีเครือข่ายองค์กรภาคีในพื้นที่ มีมดงาน หลายองค์กรที่มาช่วยกัน ทั้งระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ มีจิตอาสา หัวใจเต็มร้อย  โดยภูเก็ตจะทำงานร่วมกับกสศ.เป็นแล็บทดลองแก้ปัญหาเรื่องนี้   นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรยื่นมือมาช่วยโดยเฉพาะเรื่องทุนสนับสนุนเพิ่มเติม อย่าให้เด็กเสียโอกาสทางการศึกษา  และควรมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan)ให้แก่รร.เอกชน เพื่อเติมลมหายใจ ไม่ต้องไปเคลียร์ลูกหนี้ เป็นการช่วยเด็กทางอ้อม  ทั้งหมดนี้ เพื่อเพิ่มแต้มต่อให้เด็กๆ ครอบครัวจนเฉียบพลัน และจนถาวร ผ่านพ้นวิกฤติปีการศึกษา 2564 ให้ได้ 

นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก

นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงกับประชาชน ปัญหาทางเศรษฐกิจและการศึกษามีผลเกี่ยวเนื่องกัน แต่ละครัวเรือนย่อมนึกถึงปากท้องก่อนเรื่องการเรียน  ต้องคิดเอาตัวรอดทำให้สุ่มเสี่ยงที่เด็กจะหลุดจากระบบการศึกษามากยิ่งขึ้นเพื่อไปหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว การเข้าสู่ตลาดแรงงานเร็วทำให้เป็นแรงงานค่าแรงถูกที่ไม่มีทักษะความรู้ จึงได้มีนโยบายให้จังหวัดทำงานเชิงรุก ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบแทนที่จะไปตามหาเด็กที่หลุดจากระบบไปแล้ว จะเป็นการยากที่ทำให้เขากลับเข้ามาในระบบอีก  

ทางจังหวัดได้ร่วมมือกับผู้ตรวจการแผ่นดิน พาเด็กก่อนที่จะหลุดจากระบบการศึกษาซึ่งพ่อแม่ตัดสินใจว่าจะไม่ส่งลูกเรียนต่อมาฝึกอาชีพเพื่อให้อย่างน้อยมีความรู้ ไม่ใช่แรงงานไร้ฝีมือ และยังเผื่อไปต่อยอดได้ในอนาคต อีกทั้งการทำงานร่วมกับ กสศ. สมาคมสุขปัญญา มูลนิธิพลเอก ดร.ศิริ ทิวะพันธุ์ ร่วมกันดูแลไม่ให้เด็กหลุดจากระบบหรือหลุดจากระบบอย่างมีคุณค่ามีการศึกษาติดตัวสามารถเอาตัวรอดได้  เป็นการร่วมมือของหลายภาคส่วน ที่เข้าใจเรื่องการศึกษาเชื่อมโยงผู้บริหารศึกษา เขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดเป็นการดูแลแบบครบวงจร

เศร้าใจ “เปิดเทอม” ผู้ปกครองกู้นอกระบบซื้อมือถือให้ “เรียนออนไลน์”

เพราะการทำงานเพียงลำพังฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะไม่เข้มแข็งพอ อาจมองภาพการช่วยเหลือไม่ครบวงจร หรือไม่มีกำลังพอดูแลจึงตั้งคณะทำงานประกอบด้วยทั้งท้องถิ่น ราชการ พมจ. เอกชน ภาคการศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา อดีตผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษา  ทุกส่วนจะมาพูดคุยเพื่อเห็นภาพการทำงานร่วมกันที่สามารถสนับสนุนส่งไม้ต่อให้กันได้ 

ชุมชนแออัดกทม. หนี้นอกระบบเพิ่ม  หลายครอบครัวกู้ผ่อนมือถือเรียนออนไลน์  แนวโน้มไม่มีค่าเดินทางไปรร.  

นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน หัวหน้าโครงการสนับสนุนองค์ความรู้และพัฒนาเครือข่ายครูและเด็กนอกระบบการศึกษาในกรุงเทพมหานครบนฐานภาคประชาสังคม กสศ. กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ในพื้นที่กทม. รุนแรงกว่าพื้นที่อื่น ๆ คนจนในพื้นที่เผชิญกับความยากลำบาก ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ แรงงานภาคบริการ มีแนวโน้มภาระหนี้สินนอกระบบเพิ่มสูงขึ้น  

เศร้าใจ “เปิดเทอม” ผู้ปกครองกู้นอกระบบซื้อมือถือให้ “เรียนออนไลน์”

โดยเฉพาะหนี้สินจากการศึกษา รายงานจากชุมชนพบว่า พ่อแม่ผู้ปกครองบางรายต้องไปกู้เงินนอกระบบเพื่อซื้อมือถือให้บุตรหลานเรียนออนไลน์ กลายเป็นหนี้ระยะยาวดอกเบี้ยสูง เกิดความตึงเครียดในครัวเรือน  หรือถ้าไปโรงเรียนได้ก็จะไม่มีเงินค่าเดินทาง แนวโน้มในอีกสองเดือนอาจนำไปสู่การหลุดจากระบบการศึกษาหลายหมื่นคน ซึ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูงขึ้น

นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน หัวหน้าโครงการสนับสนุนองค์ความรู้และพัฒนาเครือข่ายครูและเด็กนอกระบบฯ

นายอนรรฆ กล่าวว่า แนวทางแก้ปัญหานั้นจะต้องช่วยเหลือลงไปสองส่วน คือ

ส่วนแรกด้านครัวเรือนที่จะต้องเน้นความช่วยเหลือไปยังกลุ่มเป้าหมายชุมชนแออัด ไซต์งานก่อสร้าง หรือครัวเรือนนอกชุมชนก็มีความต้องการที่แตกต่างกัน ซึ่งจะต้องไปดูความต้องการว่าอยากให้ช่วยเหลือด้านใดบ้าง และระยะกลางจะต้องทำให้เกิดการจ้างงาน

ส่วนที่สองคือด้านการศึกษาทั้งการลดค่าใช้จ่ายภาคการศึกษา สนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง อุปกรณ์ ค่าเดินทาง ไปจนถึงการติดตามเฝ้าระวังเด็กที่จะหลุดจากระบบสร้างการป้องกันได้อย่างทันท่วงที ที่สำคัญคือต้องบูรณาการการทำงานจากแต่ละภาคส่วนมาร่วมแก้ปัญหาครั้งนี้

นักเศรษฐศาสตร์การศึกษาชี้ วัคซีนตัวแปรหลัก ลดความเหลื่อมล้ำ ฟื้นคืนทั้งเศรษฐกิจ การศึกษา  

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE พบว่ามีนักเรียนยากจนพิเศษ 1.17 ล้านคนหรือ 18% ของนักเรียนทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มยากจนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายการศึกษาสูงกว่ากลุ่มครอบครัวที่รวย 4 เท่า คือยิ่งจนยิ่งแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูง  ซึ่งในครอบครัวยากจนพิเศษ มีรายได้เฉลี่ย 1,077 บาทต่อเดือนต่อคน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสูงถึง 2,000-6,000 บาท ต่อปี  

  ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวว่า  ปัญหาเด็กนอกระบบไม่ใช่แค่ปัญหาการศึกษาแต่กระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจด้วย  โดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดคำนวณว่าหากประเทศไทยไม่มีเด็กหลุดจากระบบจะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 3%  ขณะที่อดีตนักเศรษฐศาสตร์จากยูเนสโก ประเมินว่าการที่ประเทศไทยแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาได้จะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากกว่า 228,000 ล้านบาทต่อปี  

รายงานธนาคารโลกล่าสุด ในเดือนมิถุนายน ระบุว่าการเข้าถึงวัคซีนเป็นตัวแปรสำคัญต่อสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศต่างๆ  เศรษฐกิจโลกขยายตัว 5.6% เร็วกว่าที่คาดไว้ 1.5% เพราะการมาของวัคซีน  ในขณะที่ประเทศยากจนกำลังพัฒนาเศรษฐกิจทรุดลง คนจนเพิ่มขึ้น  เศรษฐกิจโตเพียง 2.9% ต่ำสุดในรอบ 20 ปี จะมีมากกว่า 100 ล้านคนที่กลายเป็น กลุ่มยากจนสูงสุด หรือ extream poverty 

เศร้าใจ “เปิดเทอม” ผู้ปกครองกู้นอกระบบซื้อมือถือให้ “เรียนออนไลน์”

“ ดังนั้น ควรเร่งการฉีดวัคซีนในครู ในเด็กหากทำได้ และในภาพรวม ควรฉีดให้ได้ 90% เพื่อการฟื้นกลับคืนทั้งทางเศรษฐกิจ การศีกษา โดยเร็ว   เพราะจะทำให้สถานการณ์กลับเข้าสู่การฟื้นฟู  และยิ่งเปิดเรียนเร็วเท่าไหร่ยิ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจเท่านั้นโดย ผลกระทบจากการปิดเรียน 4 เดือน ส่งผลต่อจีดีพีไทย 9.12 แสนเหรียญสหรัฐ”

รศ.ดร.สังศิต ชี้รัฐบาลควรผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งกองทุนหมุนเวียนการศึกษา 50,000 ล้าน 

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ วุฒิสมาชิก ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา กล่าวว่า ข้อมูลจากธนาคารโลกชี้ว่า ปี 2562 คนยากจนในประเทศไทยมีจำนวน 3.7 ล้าน ปี 2563 พบมีคนยากจน 5.2 ล้านคน เพียงแค่ 1 ปี มีคนยากจนเพิ่มขึ้นถึง 1.5 ล้านคน  ปี 2564 คนยากจนอาจเพิ่มขึ้น 6.7 - 7 ล้านคน เพราะปัญหาเศรษฐกิจยังหนัก คนยากจนเพิ่มมากขึ้น คนเหล่านี้รัฐบาลต้องเข้ามาดูแล  ในบรรดาปัญหาทั้งหมดในประเทศไทยคิดว่าปัญหาการศึกษาเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด  

  รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ วุฒิสมาชิก

รศ.สังศิต กล่าวว่า เป็นโอกาส ที่รัฐบาลจะได้แสดงถึงความรับผิดรับชอบต่อประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น คิดว่าถ้าหากรัฐบาลมองเห็นว่าเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  การที่จะให้นักเรียนต้องหยุดเรียนเพราะขาดแคลนเงินทอง พ่อแม่ตกงาน ครอบครัวมีลูก 2-3 คน แต่มีมือถือเครื่องเดียวเรียนออนไลน์ก็ไม่ได้ จะเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคตต้องหาทางแก้ปัญหาโดยเร็ว

รัฐบาลควรทำเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ  ตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อการศึกษา สำหรับคนยากจนที่รัฐบาลมุ่งเป้าไปเลยว่าครอบครัวไหนยากจน เข้าไม่ถึงการศึกษาจริง เป็นเวลาที่ดีมากที่รัฐบาลจะสำรวจตัวเลขได้ออกมาชัดเจนว่า77 จังหวัดมีจำนวนครัวเรือนยากจนได้รับผลกระทบเท่าไหร่   เพื่อรัฐบาลจะได้พุ่งเป้าทำงานกับคนเหล่านี้และ ต้องสร้างพันธมิตรระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ผู้ว่าฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน สถานศึกษา ภาคประชาสังคม มาร่วมเป็นกรรมการช่วยดูแลในแต่ละจังหวัดของตัวเอง และรัฐบาลจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็น

เศร้าใจ “เปิดเทอม” ผู้ปกครองกู้นอกระบบซื้อมือถือให้ “เรียนออนไลน์”

เช่น ให้งบประมาณเดือนละ 5 หมื่นล้าน ตลอด 1 ปี รวมประมาณ 6 แสนล้านบาทต่อปี คาดว่าประมาณปี 2566 รัฐบาลจะคลี่คลายปัญหาดังกล่าวได้ เศรษฐกิจภาพรวมของโลกและประเทศไทยดีขึ้น 

“การจัดตั้งกองทุนเราดูแลแบบตรงเป้า ผมคิดว่าภาครัฐไม่ควรทำงานคนเดียว ต้องทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนเป็นจิตอาสาสำรวจความขาดแคลน   สำหรับเงิน 5 หมื่นล้านบาทต่อเดือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ของรัฐบาล ตัดงบก่อนสร้าง งบกองทัพ  รัฐบาลหาเงินได้แน่นอน แต่สิ่งที่รัฐบาลจะได้ประโยชน์ในระยะยาว คือจะคลี่คลายได้โดยเร็ว “