“กรณ์” แนะรัฐรับมือจัดสรรวัคซีนโควิด ลุยเปิดประเทศ

12 มิ.ย. 2564 | 12:51 น.

การสัมมนาออนไลน์บน Clubhouse จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจและกรุงเทพธุรกิจ ในหัวข้อ CEO โซเซ “วัคซีนมาแบบนี้ ไทยจะเปิดประเทศอย่างไร” เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 โดย คุณ กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า เปิดเผยว่า ปัจจุบันการเข้าถึงวัคซีนเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป ยังไม่ต้องมาพูดในรายละเอียดกันมากนักซึ่งทราบมาสักพักแล้วว่าการฉีดวัคซีนคือหัวใจและกุญแจสู่โอกาสในการที่จะกลับไปสู่การใช้ชีวิตอย่างปกติโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจซึ่งเป็นสาเหตุที่มีแรงกดดันในการจัดสรรวัคซีนให้เพียงพอต่อประชากรได้อย่างไรทั้งนี้ในกรณีของการเปิดประเทศจังหวัดที่มีความตั้งใจที่จะเปิดประเทศคือภูเก็ตตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม -เมษายน 2564 รัฐเริ่มขอการจัดสรรวัคซีน เพื่อสามารถดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่อยู่ในจังหวัดภูเก็ต ให้ครบตามเป้าหมาย ก่อนที่จะมีการเปิดประเทศตามข้อตกลงที่มีกับรัฐบาลในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 คิดเป็น 70% ของประชากรชาวภูเก็ตแต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนวัคซีนที่มาถึงช้าและไม่ครบแต่ปัจจุบันรัฐเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ประมาณ 70% ของจำนวนวัคซีนโดยรวม ซึ่งที่ผ่านมาภูเก็ตสามารถที่จะฉีดวัคซีนได้วันละประมาณ 15,000 โดส ในศูนย์ฉีดวัคซีนทั้งหมด 5 ศูนย์ ส่วนของภาคประชาชนพร้อมที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวตามเงื่อนไขข้อตกลงที่ตกลงกันเอง แล้วตกลงกันไว้กับรัฐบาล ซึ่งเป็นความหวังสำคัญของผู้ประกอบการภูเก็ต ล่าสุดทางรัฐบาลออกมาเปลี่ยนเงื่อนไขให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจังหวัดภูเก็ตต้องกักตัวอยู่ในภูเก็ต 7 วัน แต่ปัจจุบันมีการขยายระยะเวลาให้นักท่องเที่ยวกักตัวเป็นเวลา 14 วัน

 

"ทั้งนี้รัฐต้องเร่งทำความเข้าใจและให้นโยบายชัดเจนเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถตัดสินใจวางแผนในการเดินทางมาเที่ยวที่ภูเก็ต ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวต้องการให้มีมาตรการชัดเจนเรื่องการเปิดให้บริการ ร้านอาหาร ผับ บาร์ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการเดือดร้อนกันถ้วนหน้า แล้วผมก็ไม่แน่ใจว่า ณ วันนี้ มีความพร้อมที่จะกลับมาให้บริการ ในจำนวนที่เพียงพอที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือไม่ ทั้งนี้ภาครัฐควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจนโดยทั่วกัน แต่รัฐบาลกลับปรับเงื่อนไขวงเงินสินเชื่อที่ตามพรก.ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ออกมาเมื่อปี2563 เพื่อช่วยผู้ประกอบการรายย่อย (SME) โดยเฉพาะร้านอาหารสามารถมีส่วนร่วมสินเชื่อดังกล่าวได้ ผมคิดว่าควรต้องเร่งพิจารณาคำขอจากผู้ประกอบการในภูเก็ตอย่างเร่งด่วน แต่ในกรณีนี้จังหวัดภูเก็ตกำลังเปิดแซนด์บ็อกซ์อ ซึ่งรัฐต้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหาให้นักท่องเที่ยวมีความพร้อมมากที่สุด  ทั้งนี้คงต้องรอดูว่าจะส่งผลต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวอย่างไร"

 

ส่วนการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในจังหวัดอื่นๆของประเทศควรใช้เงื่อนไขเดียวกันกับจังหวัดภูเก็ต ขณะเดียวกันการส่งมอบวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติมอีก 1 ล้านโดส รวมทั้งเริ่มมีการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1.8 ล้านโดส ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนโควิดแล้ว กว่า 4 แสนโดสต่อวัน หรือฉีดไปแล้วประมาณ 1.2-1.3 แสนล้านโดส  แต่ขณะนี้เหลืออยู่เพียงประมาณ 5 แสนโดส ที่เพียงพอต่อการฉีดวัคซีนวันต่อวันเท่านั้นอีก ส่วนการรับจัดสรรวัคซีนล็อตที่ 2 เดิมมีกำหนดมาถึงไทยในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 แต่พบว่าทางแอสตร้าเซนเนก้าขอเลื่อนการส่งมอบวัคซีนออกไปเป็นวัน ที่ 16 มิถุนายน 2564 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ไทยสามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2564  ซึ่งทำให้รัฐต้องเร่งดำเนินการจัดหาวัคซีนโควิดเข้ามาอย่างต่อเนื่องและกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงโดยเร็ว ซึ่งจะต้องใช้เวลาจนถึงสิ้นปี จนกว่าจะเข้าสู่เป้าหมาย 70% ก่อนที่จะเปิดประเทศ  เราหวังว่าการเปิดประเทศจริง ๆ คงต้องรอถึงปี 2565 ไฮซีซั่นในแง่ของการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศในปีนี้ต้องรอไปก่อน ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมแน่นอน รวมทั้งการลงคะแนนของสภาที่อนุมัติ พรก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลต้องเลือกใช้อย่างมียุติศาสตร์เพื่อที่จะประคองสถานการณ์ให้โอกาสผู้ประกอบการสามารถกลับมาให้บริการได้ในช่วงต้นปี 2565 

 

“กรณ์” แนะรัฐรับมือจัดสรรวัคซีนโควิด ลุยเปิดประเทศ

 

นายกรณ์ กล่าวต่อว่า  ส่วนการช่วยเหลือทางการเงิน รัฐบาลต้องวางแผนให้ดีว่า พรก.เงินกู้รอบนี้จะใช้อย่างไร เมื่อเทียบกับการใช้พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่ใช้ในการเยียวยาประชาชนทั่วประเทศ ครั้งนี้คิดว่าอาจต้องวางแผนในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น  เช่น พรก.สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน ของธปท.ก็ชัดเจนในการปรับเงื่อนไข ซึ่งน่าที่จะได้รับความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ได้ดีกว่ารอบแรกในปี 2563  คราวนี้คงต้องพิสูจน์ว่าสุดท้ายแล้วผู้ประกอบโดยเฉพาะ SME สามารถที่จะเข้าถึงเงินในส่วนนี้ได้หรือไม่

 

 

"หากคนไทยเริ่มสัญจรภายในประเทศได้อย่างสะดวกหรือในระดับที่ปกติได้เมื่อไหร่นั้น ผมคิดว่าเป้าหมายแรกคือฉีดวัคซีนให้ประชากรในจำนวนมากเพียงพอและออกเงื่อนไขที่ชัดเจน สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วสามารถจะเริ่มเดินทางในจังหวัดต่างๆได้แม้มาจากพื้นที่สีแดง  ผมคิดว่ามันจะช่วยในเรื่องของเศรษฐกิจค่อนข้างมากทั้งในแง่ของพรก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ฉบับใหม่ของรัฐบาลที่ต้องช่วยเหลือให้กับผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันภาครัฐจะดำเนินการช่วยเหลือแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบธุรกิจสายการบินเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้ หากทำการบินส่งนักท่องเที่ยวที่ภูเก็ต เนื่องจากต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง และต้องรับความเสี่ยงหากทำการบินโดยไม่มีผู้โดยสารใช้บริการ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ"

 

 

ส่วนอีกประเด็นปัญหาหนึ่งที่ผมมองไปสู่อนาคตพบว่าในช่วงที่ผ่านมาเราหมกมุ่นกันมากด้วยเหตุและผลในเรื่องของปริมาณวัคซีนที่มาแล้ววันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนครับว่าจะมาได้ทันท่วงทีหรือไม่ตามจำนวนเป้าหมายของรัฐบาลซึ่งเป้าหมายของรัฐบาลคือ 100 ล้านโดส แต่ขอแค่ 60 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ก็พออย่างน้อยคนไทยเกือบทุกคนก็ได้ 1 โดส แต่ที่กังวลก็คือจากที่ลงพื้นที่โดยเฉพาะต่างจังหวัดพบปะกับ พี่น้องประชาชน สัดส่วนประชาชนที่เขายังลังเลที่จะฉีดยังสูงมาก  คราวนี้ความท้าทายคือ สำหรับประชาชนที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีนโควิด รัฐจะดำเนินการให้ประชาชนกลุ่มนี้เข้ารับการฉีดวัคซีนได้อย่างไร  ทั้งนี้เมือเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมามีการรณรงค์ให้ผู้สูงอายุได้ลงทะเบียนในหมอพร้อมและพบว่ามีจังหวัดเดียว คือลำปาง ที่มีผู้ลงทะเบียนราว 2 แสนกว่าคน ส่วนจังหวัดอื่นๆมีเพียงไม่เกิน 30 จังหวัด ที่มีผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 1,000-2,000 คน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความจริงความตื่นตัวความกลัวที่ยังมีอยู่จริง ความไม่ไว้วางใจวัคซีนมันยังมีอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งเป็นประเด็นที่ท้าทายและเราต้องเตรียมวางแผนไว้แต่ตอนนี้ว่าจะมีมาตรการอย่างไรที่จะเชิญชวนประชาชนมีความรู้สึกคลายกังวลและเห็นความสำคัญในการฉีดวัคซีน

 

 

"ผมคิดว่าประเด็นที่สำคัญมากที่สุดคือการมองไปสู่อนาคตหลังโควิด ซึ่งเราพูดโดยทั่วไปว่า โพสต์โควิด นิวนอมอล แต่ว่าถ้าเราจำกัดความให้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ ผมอาจจะขอเรียกว่า วัคซีนอีโคโนมี เพราะว่าคือเศรษฐกิจหลังจากที่ทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีนแล้วซึ่งความหมายของ วัคซีนอีโคโนมี ของผมคือมันต้องเป็นเศรษฐกิจที่ในแง่มุมของคนไทยเนี่ยเป็นโอกาสของคนไทยทุกคนแล้วก็เป็นโอกาสที่เราจะปรับยุทธศาสตร์ของเราให้ตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนไปแม้แต่เรื่องของการท่องเที่ยวมันอาจจะเปลี่ยนไปความต้องการของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ผมเชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริง เพราะก่อนโควิดเรายอมรับว่ามีการตั้งประเด็นคำถามเกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยมาหลายปีว่า แนวทางการพัฒนาที่เน้นเรื่องตัวเลขแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เหมาะสมแล้วหรือยัง ควรที่จะมีการยกระดับเพิ่มคุณภาพหรือปรับเปลี่ยนประเภทของนักท่องเที่ยวหรือไม่ จำนวนอาจลดลงแต่ว่าแต่ละคนมาแล้วอยู่นานขึ้น แล้วใช้เงินมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสจริงๆที่เราต้องมาจริงจังกับการปรับยุทธศาสตร์และผมเองจริงๆต้องยอมรับว่าเสียดายปีที่ผ่านมาที่เราได้ทำเรื่องนี้น้อยเราควรที่จะรีแพ็คเกจตัวของสินค้าเพื่อที่จะขายในรูปแบบใหม่ยกตัวอย่างเราน่าที่จะคิดในเรื่องของ Concept work from Thailand เรื่องนี้เคยพูดกันมาในช่วงปีที่แล้วในช่วงที่ผมคิดว่าคนทั่วโลกเริ่มที่จะคุ้นเคยกับการทำงานที่บ้านการไม่เข้าไปทำงานที่ออฟฟิศ ผมมีเพื่อนหลายคนที่เป็นนักการเงิน ต่างประเทศตลอดช่วงปีที่ผ่านมาเขาก็ไม่อยู่ที่นี่แล้วก็สามารถที่จะทำงานของเขาได้ตามปกติจากประเทศไทยเราควรที่จะมีมาตรการที่จะส่งเสริมยกตัวอย่างเช่นเรื่องของการออกวีซ่า ออกวีซ่าระยะยาวให้กับเขาโดยสะดวกผ่านออนไลน์ อาจจะมีปัจจัยต่างๆที่จูงใจให้เขามาใช้ประเทศไทยเป็นฐาน ซึ่งมันจะมีผลข้างเคียง เราควรมียุทธศาสตร์ในการที่จะสร้างธุรกิจใหม่ๆอย่าง เช่น ธุรกิจที่อยู่ในข่ายธุรกิจสร้างสรรค์ที่เราก็สามารถที่จะใช้มาตรการ work from thailand นี้ดึงกลุ่มคนทางด้านนี้เนี่ยให้มาใช้ประเทศไทยเราเป็นฐานได้แล้วก็จะเป็นตัวช่วยที่จะสร้างอุตสาหกรรมและโอกาสใหม่ๆนี้ขึ้นมาให้กับคนไทย หรือเรื่องของเรนโบว์ อีโคโนมี  เน้นการจับกลุ่ม lgbt Q เป็นกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะช่วงโควิด ซึ่งไทยเป็นประเทศที่คนกลุ่มนี้มีความสบายใจที่จะมาเที่ยว ควรมียุทธศาสตร์และมาตรการชัดเจน รวมถึงการแสดงออกในการต้อนรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ขณะที่สังคมผู้สูงอายุ เป็นภาวะที่กำลังเกิดขึ้นพร้อมกันในหลายๆประเทศโดยเฉพาะประเทศร่ำรวยเราก็สามารถที่จะทำการตลาดในเรื่องนี้โดยเฉพาะสร้างระบบสาธารณูปโภคที่เราสามารถประชาสัมพันธ์ได้ว่าเหมาะสมให้ความปลอดภัยในการที่จะดูแลนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ เราไม่ได้อยากเอาตัวรอดไปวันๆทางด้านเศรษฐกิจ เราต้องการที่จะรอดอย่างยั่งยืนซึ่งมันเป็นโอกาสจริง ๆ ที่เราควรจะต้องมาปรับแล้วก็คิดในเชิงยุทธศาสตร์ใหม่ๆในเรื่องเหล่านี้"

 

ทั้งนี้ไทยต้องพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งพัฒนาทักษะแรงงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ในโลกของวัคซีนอีโคโนมีอาจจะต้องดำเนินการทั้งที่ในอดีตไม่เคยมีมาก่อน  ซึ่งการใช้เงินส่วนนี้ถือเป็นโอกาสจริงๆ ที่ไม่กระทบหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เหมือนในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากการมีหนี้หลายคนกังวล หากกู้หนี้เยอะ จะทำให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP เพิ่มขึ้นเป็น 60% แต่ในความเป็นจริงสัดส่วนหนี้ต่อ GDP เกิน 60%  อยู่แล้ว ซึ่งไม่ใช่ประเด็นสำคัญ  แต่สิ่งสำคัญคือโอกาสของประชาชนและกรเติบโตของ เศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 2-3% รวมทั้งความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นปัญหากับไทยในระยะยาว หากรัฐดำเนินการกู้เงินสามารถปรับปรุงคุณภาพสินค้าละวิธีการให้บริการในภาคอุตสาหกรรมบริการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของสามารถทำให้เศรษฐกิจโตได้ 4-5% ต่อปี ถือเป็นการใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ให้กับประเทศจริงๆ หากไทยจะดำเนินการแก้ไขปัญหาไปสู่จุดหมายนี้ได้คงต้องปรับระบบราชการให้สอดคล้องกับยุคสมัยอย่างแท้จริง และสิ่งที่เราขาดคือความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับความคิดและยุทธศาสตร์ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและหน่วยงานที่มีความสำคัญอย่างมากที่สุดกับประเทศ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง