เที่ยวเชิงอนุรักษ์ สะกิดทะเลไทยในยุคโควิด

07 มิ.ย. 2564 | 11:11 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มิ.ย. 2564 | 10:38 น.

จากความเชื่อมั่นของอาดิดาส เรื่องการถ่ายทอดความคิด และการปลูกฝังให้ความรู้แก่ผู้คนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีจิตสำนึกในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ถือเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทรได้อย่างยั่งยืน อาดิดาสจึงจัดกิจกรรม Run for the Oceans ต่อเนื่อง

ในปีนี้ อาดิดาส (ประเทศไทย) ได้จัดเสวนา “ล้อมวงสะกิดทะเลไทยในยุคโควิด” โดยมีเหล่าคนดังสายนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและผู้เชี่ยวชาญทางท้องทะเลมาแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องขยะทะเลที่่สนใจ ทั้งอเล็กซ์ เรนเดลล์ ทูตสันถวไมตรีจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม เปรม พฤกษ์ทยานนท์ เจ้าของเพจ ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป แนนซี่-นัยน์ภัคภูมิภักดิ์ นักท่องเที่ยวทะเลเชิงอนุรักษ์ และ ตุลยเทพ เอื้อวิทยา กัปตันทีม adidas Runners Bangkok

นอกเหนือจากเรื่องขยะทางทะเลแล้ว ยังได้เห็นถึงมุมมองที่น่าสนใจมากๆ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่เราทำกันได้ง่ายๆ ใครๆ ก็ทำได้และหนึ่งในเรื่องราวบนเวทีที่น่าคิดมากๆ คือ เรื่องของปัญหาขยะในแหล่งท่องเที่ยว ในขณะที่นักท่องเที่ยวไม่มี แต่กลับมีขยะเยอะกว่าช่วงที่มีนักท่องเที่ยว เป็นเพราะอะไร

 

 

เที่ยวเชิงอนุรักษ์ สะกิดทะเลไทยในยุคโควิด

เที่ยวเชิงอนุรักษ์ สะกิดทะเลไทยในยุคโควิด

 

“อเล็กซ์” เล่าว่า หลังการแพร่ระบาดโควิด -19 รอบแรกคลายลง เขาได้เดินทางไปที่แหล่งท่องเที่ยวทางภาคใต้ สิ่งที่ได้พบคือ ธรรมชาติที่สวยงามหลังจากการฟื้นฟูตัวเอง ทะเลสวย น้ำใส แต่...ขยะเยอะมาก มากกว่าตอนที่มีนักท่องเที่ยวเสียอีก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เรื่องนี้สันนิษฐานได้ว่า ในช่วงที่โรงแรม ร้านค้า สถานประกอบการต่างๆ เปิดให้บริการได้ปกติ ก็ต้องช่วยกันเก็บกวาดขยะจากทะเลที่มีพัดขึ้นบกมาทุกวัน เพื่อทำให้ชายหาดให้สะอาด สวยงาม เป็นที่ต้องตาต้องใจนักท่องเที่ยว

เที่ยวเชิงอนุรักษ์ สะกิดทะเลไทยในยุคโควิด

เที่ยวเชิงอนุรักษ์ สะกิดทะเลไทยในยุคโควิด

แต่ในยามนี้ กิจการต่างๆ ปิด นักท่องเที่ยวไม่มี คนที่ทำความสะอาดปัดกวาด จึงมีเพียงพี่ๆ จากกรมอุทยานแห่งชาติ คอยดูแลซึ่งไม่สามารถเอาชนะขยะจากทะเลที่พัดขึ้นบกทุกวันๆ ไม่รวมขยะจากบนบก ปริมาณขยะทะเลเฉลี่ย มีมากถึง 8-12 ล้านตันต่อปี ขยะที่อยู่บนบกวันนี้ สามารถลุกลามไปเป็นขยะทะเลได้ และขยะทะเลเหล่านั้นก็มีพลังทำลายล้าง ไม่เพียงแค่ลดความงดงามของท้องทะเล แต่ทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลพังทลายไปด้วย เมื่อมีขยะไปปกคลุมปะการังแค่ 2 วัน ปะการังก็ตายได้ ทั้งๆ ที่กว่าจะเติบโตขึ้นมาแต่ละเซ็น ต้องใช้เวลานานมากหรือการเสียชีวิตของ “น้องมาเรียม” พะยูนน้อย ก็ยังพบถุงพลาสติกในท้อง

เพราะฉะนั้น ก่อนที่ประเทศจะเปิด กลับมาท่องเที่ยวกันได้อีกครั้ง ก็น่าจะมีมาตรการดูแล ควบคุม ให้ดี เพื่อรักษาธรรมชาติที่ได้รับการฟื้นฟูแล้ว ยังคงความสวยงามต่อไป นอกจากมาตรการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ นักท่องเที่ยวคนไทย ก็สามารถเป็นนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้ง่ายๆ

เริ่มจากเป็นหูเป็นตาหากพบการกระทำที่ไม่ถูกต้อง หรือสร้างผลกระทบกับธรรมชาติ ในขณะที่ตัวเราเองก็ต้องไม่สร้างขยะ พกขวดน้ำส่วนตัว เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่รับผิดชอบสิ่งแวดล้อมซึ่งตอนนี้มีเยอะขึ้น ทั้งรองเท้า เสื้อผ้า รวมไปถึงผ้าอนามัย ที่ผู้หญิงต้องใช้เดือนๆ หนึ่งเยอะมากแล้วพลาสติกจากผ้าอนามัยก็ไม่สามารถแยกได้ ซึ่ง “แนนซี่” นักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ก็บอกเลยว่า ตอนนี้มีถ้วยอนามัย ที่นำมาใช้ซ้ำได้ สะอาด ปลอดภัย อายุการใช้งานยาว 5-10 ปี

ลองง่ายๆ เริ่มต้นที่ตัวเรา แล้วทุกคนจะได้เห็นเต่ามะเฟือง ลูกฉลาม ปะการังสวยๆ น้องพะยูนน่ารักๆ กลับมาสร้างชีวิตชีวาและเสน่ห์ให้ธรรมชาติ ทำให้เราได้แวะเวียนไปเที่ยวชมกันแบบไม่รู้เบื่อเลยทีเดียว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 16 ฉบับที่ 3,685 วันที่ 6 - 9 มิถุนายน พ.ศ. 2564