พิษโควิด 5 แสนคนใกล้ตกงาน เสียงเตือนร้านอาหารถึง ศบค.

05 มิ.ย. 2564 | 10:00 น.

ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร เผยได้รับผลกระทบอย่างหนัก วอนรัฐเร่งช่วยเหลือ หวั่นเเรงงานธุรกิจร้านอาหารตกงาน 5 เเสนคน

“นายสรเทพ โรจน์พจนารัช” ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร กล่าวว่ายอมรับว่า สถานการณ์โควิดในขณะนี้ทำให้ธุรกิจร้านอาหารหลายรายเริ่มถอดใจ ทำให้ต้องปิดกิจการส่วนหนึ่งเพราะคิดว่าจะเก็บเงินไว้ก่อนรอให้สถานการณ์ดีขึ้นค่อยกลับมาเปิดใหม่เเละส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่ากระสุนหมดจริงๆ

"หลายคนเริ่มถอดใจส่วนหนึ่งคิดว่าหยุดก่อนเก็บเงินเอาไว้เผื่ออะไรดีขึ้น เพราะเราไม่ทราบ เเละไม่เห็นรัฐบาล คิดอะไร ทำอะไร เราไม่เห็นอนาคตเลยและรัฐบาลจะมีมาตรการออกมาไหม พอเกิดความไม่มั่นใจผู้ประกอบการส่วนหนึ่งก็ปิดร้านไว้ก่อนเพราะว่าเก็บเงินก้อนสุดท้ายเอาไว้ พอทุกคนได้วัคซีนครบปลายปีก็อาจจะกลับมาเปิดอีกครั้ง"

สำหรับธุรกิจร้านอาหารมีลูกจ้างจำนวนมหาศาลไม่ต่ำกว่า 2,000,000 คน เฉพาะธุรกิจประเภทอื่นที่มีแรงงานขับเคลื่อนอาจพบการตกงานมากกว่าธุรกิจร้านอาหารเพราะส่วนใหญ่ลูกจ้างและนายจ้างร้านอาหารมีความสัมพันธ์ที่ดีเหมือนคนในครอบครัว 

นายสรเทพ ยังเสนอให้รัฐบาลอนุญาตให้ธุรกิจร้านอาหารเปิดเเบบเต็มรูปเเบบเพื่อให้ดำเนินธุรกิจกิจต่อไปได้ ไม่เช่นนั้นจะมีผลกระทบกับเเรงงานจำนวนกว่า 500,000 คนอาจจะต้องตกงาน 

“14 มิถุนายนนี้ ให้ร้านอาหารเปิดเเละกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ เพราะจะทำให้สามารถรักษาจำนวนพนักงานที่จะตกงานในเร็วๆ ถ้ายังไม่ยอมให้เปิด ผมบอกเลยว่าผู้ประกอบการเริ่มคุยกันเองเเล้วว่า ต้องลดพนักงานด้วยการปลดออก คนจะตกงานในภาคธุรกิจร้านอาหารภายในวันที่15 มิถุนายนหรือสิ้นเดือนมิถุนายนนี้กว่า 500,000 คนเป็นอย่างน้อย เปิดให้ธุรกิจร้านอาหารประคองอยู่ได้เพื่อที่จะรักษาลูกจ้างเอาไว้อีกทั้งเพื่อมีกระแสเงินสดเพราะหลายคน หลายร้านอาหารมีปัญหาเรื่องซัพพลายเออร์ ไม่มีเงินจ่าย รวมทั้งค่าน้ำค่าไฟด้วย ถือเป็นการต่อลมหายใจให้อยู่ได้ ” ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารกล่าว

สถานการณ์โควิดส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า ทำให้ภาวะสังคมไทยในไตรมาส 1 ปี 2564 มีการว่างงานในไตรมาสแรกเพิ่มสูงขึ้น โดยมีคนว่างงาน จำนวน 760,000 คน คิดเป็น 1.96 % สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันยังส่งผลให้แนวโน้มการถูกเลิกจ้างในภาคธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และท่องเที่ยว เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ทำให้มีผลกระทบไปยังนักศึกษาที่จะจบใหม่อาจจะต้องตกงานสูงถึง 5 แสนคน

สำหรับชั่วโมงการทำงานรวม อยู่ที่ 40.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลง 1.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  สะท้อนการจ้างงานและการทำงานที่ไม่เต็มเวลา ทำให้แรงงานมีรายได้ลดลง 

ทางด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยข้อมูลหนี้ครัวเรือนไทยปี 2563 ทะลุ 14 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 18 ปี ตามสถิติที่มีการเก็บรวบรวมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยหนี้ครัวเรือนดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 89.3% เมื่อเทียบกับจีดีพีในปี 2563 นอกจากนี้แม้ยอดคงค้างหนี้เพิ่มแค่ 3.9% แต่หลังโควิดฟื้นตัส ยอดการกู้ยืมกลับมาเติบโตเพิ่มขึ้น ชี้ความสามารถชำระหนี้ถดถอย รวมทั้งการออมต่ำ โดยกังวลว่ากระทบวังวนปัญหาหนี้เพิ่มเร็วกว่ารายได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564 รัฐบาลเห็นชอบปรับเงื่อนไขโครงการจ้างงานเด็กจบใหม่โดยภาครัฐและเอกชน หรือ Co-Payment เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่ไม่สามารถเข้าโครงการได้และหลายคนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต้องออกจากงาน

จากเดิมที่ต้องเป็นนักศึกษาจบใหม่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม และจบการศึกษาปี 2562 เป็นไม่จำกัดว่าอยู่ในระบบประกันสังคมหรือไม่ และมีอายุไม่เกิน 25 ปี หากเกิน 25 ปี ต้องจบการศึกษาหลังปี 2562 และให้นายจ้าง จ่ายค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัด โดยรัฐบาลอุดหนุนเงินเดือน ไม่เกินร้อยละ 50 ต่อคนต่อเดือน พร้อมขยายเวลาโครงการจนถึง 31 ธ.ค. 64 เพื่อจ้างงานต่อเนื่องครบ 1 ปี