เฮ! รับรอง 4 สายพันธุ์กัญชาไทย เล็งต่อยอดรักษาโควิด-19

02 มิ.ย. 2564 | 15:11 น.
1.1 k

เปิด 8 ความคืบหน้าขับเคลื่อน“กัญชา” กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จดทะเบียนรับรอง 4 สายพันธุ์ไทยสำเร็จ “กรมการแพทย์”เล็งต่อยอดรักษาโควิด-19 ปักหมุด 7 จังหวัดอีสานศูนย์กลางกัญชาโลก จุดประกายพืชเศรษฐกิจ สร้างประโยชน์ให้ประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อบ่ายวันที่ 1 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน อาจารย์ประจำคณะเภสัชวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ เป็นประธานในการประชุมร่วมกับผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพทั้ง 12 แห่ง และหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง โดยมีสถาบันกัญชาทางการแพทย์เป็นเลขานุการการประชุม

การประชุมครั้งนี้ มีผลการดำเนินงานมีความก้าวหน้าไปมาก สามารถสรุปได้ดังนี้ 

1. นพ.ภูวเดช สุระโคตร ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกองกฎหมาย ผลักดันระเบียบให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รับจ้างผลิต สกัด กัญชา กัญชง ได้สำเร็จ โดยจะมีผลทันทีหลังปลัดกระทรวงสาธารณสุขลงนาม ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน และวิสาหกิจชุมชนได้มีผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชงเป็นของตนเอง 

2. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถจดทะเบียนรับรองกัญชาสายพันธุ์ไทย 4 สายพันธุ์ ได้สำเร็จ ได้แก่ ตะนาวศรีก้านขาว ตะนาวศรีก้านแดง หางเสือและ หางกระรอก

3. กรมการแพทย์ศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาขยายขอบเขตการใช้กัญชาให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ล่าสุดศึกษาวิจัยเบื้องต้นพบว่า กัญชาอาจมีผลช่วยลดการอักเสบของปอด และในอนาคตอาจนำมาใช้รักษาโรคโควิด-19 ได้ ซึ่งทางกรมการแพทย์กำลังเร่งศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน 

4. คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขาการใช้กัญชาทางการแพทย์ ปักหมุดการให้บริการในโรคที่กัญชารักษาได้ผลที่ชัดเจน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยากัญชาทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนปัจจุบัน พร้อมขับเคลื่อนร่วมกับโรงพยาบาลต่าง ๆ ในกระทรวงสาธารณสุขทันที ทั้งการดูแลผู้ป่วยประคับประคอง ลมชัก พาร์กินสัน นอนไม่หลับ และอาการปวดเรื้อรัง  

5. เขตสุขภาพที่ 8 พัฒนาโครงการ World Cannabis Hub ผลักดันให้เขตสุขภาพที่ 8 เป็นศูนย์กลางกัญชาโลก เชื่อมโยงวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการภาคเอกชน เป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่คุณค่า การผลิตผลิตภัณฑ์ และการท่องเที่ยว โดยมีภาครัฐสนับสนุน พร้อมเปิดให้ท่องเที่ยวภายในปีนี้ ในระหว่างนี้เร่งเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการให้พร้อมรับนักท่องเที่ยวด้วยมาตรการ New Normal ซึ่งจะมีการกำหนดแนวทางผู้มาท่องเที่ยวเหมือนกันทั้งเขตสุขภาพ 

6.เขตสุขภาพที่ 9 ได้พัฒนาแนวทางการค้นหาผู้ป่วยประคับประคองและประชาชนที่จำเป็นต้องรับการรักษาด้วยกัญชาทางการแพทย์ ให้มีโอกาสเข้าถึงและครอบคลุมอย่างปลอดภัยในชุมชนด้วย ระบบ 3 หมอและปฐมภูมิ มีระบบการลงทะเบียน จัดหายากัญชาให้ผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ไล่เรียง และวางแผนการปลูกกัญชาอย่างมีประสิทธิภาพ 

โดยอาศัยข้อมูลความต้องการและคาดการณ์สมดุลdemand/supply โดยการกำหนดความต้องการที่ปลายทางให้ชัดเจน เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทุกส่วนของกัญชา เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้เกษตรกร และประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง (โดยข้อมูลพื้นฐานของเขตสุขภาพที่ 9 ที่ผ่านมาใช้กัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันสูงที่สุดในทุกเขต)
 

7. กรมสุขภาพจิต เจ้าภาพด้านการสื่อสารและการสร้างความรอบรู้ด้านกัญชา เปิดช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายให้เข้าถึงประชาชน โดยที่ผ่านมาได้จัดทำการสื่อสารผ่านช่องทาง Facebook Live และ Clubhouse ซึ่งขณะนี้มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก พร้อมดำเนินการ Social listening เพื่อวางแผนให้เกิดการสื่อสารที่ตรงจุด และพัฒนาช่องทางที่ทำให้เข้าถึงประชาชนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว เช่น รายการโทรทัศน์ วิทยุ  

8. คณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับกองบริหารงานสาธารณสุข  พัฒนาระบบการรายงานการใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชา เพื่อลดภาระงานที่ซ้ำซ้อน ช่วยให้โรงพยาบาล คลินิกกัญชาทางการแพทย์ใช้งานได้สะดวก พร้อมนำระบบ Business intelligence มาเป็นข้อมูลในการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกัญชา สู่การเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่จะสร้างประโยชน์ให้ประชาชนอย่างแท้จริง