ห้องความดันลบ คือ อะไร "มูลนิธิชัยพัฒนา" มีคำตอบ

22 พ.ค. 2564 | 05:00 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ค. 2564 | 14:25 น.
7.1 k

"มูลนิธิชัยพัฒนา" คลายข้อสงสัย 3 ประการ ความหมาย-ความจำเป็น และบทบาทสำคัญของห้องความดันลบกับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19

จากกรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบในหลากหลายมิติ รวมถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยติดเชื้อโควิดด้วย โดย เฟซบุ๊ก มูลนิธิชัยพัฒนา ได้อธิบายเกี่ยวกับ ระบบแลกเปลี่ยนอากาศแรงดันลบแบบสมบูรณ์ รวมถึงความจำเป็น และบทบาทสำคัญในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งมีใจความ ดังนี้ 

ระบบแลกเปลี่ยนอากาศแรงดันลบแบบสมบูรณ์ คืออะไร

มีความจำเป็นอย่างไร 

ทำไมถึงมีบทบาทสำคัญในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19

คำตอบ คือ…ห้องที่ติดตั้งระบบแลกเปลี่ยนอากาศแรงดันลบแบบสมบูรณ์นี้ จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเปรียบเสมือนด่านหน้า เมื่อคุณหมอคุณพยาบาลปลอดภัย ผู้ป่วยก็จะปลอดภัย

ระบบแลกเปลี่ยนอากาศแรงดันลบแบบสมบูรณ์ จะนำ “อากาศสะอาด” หรือที่เรียกว่า “Fresh Air 100 %” เติมเข้าสู่ห้องผู้ป่วยตลอดเวลา อากาศในห้องผู้ป่วยที่มีเชื้อโรคจะถูกดูดออกจากห้องอย่างรวดเร็ว และไม่นำอากาศเดิมภายในห้องกลับมาใช้ซ้ำ

เครื่องระบายอากาศสมบูรณ์แบบนี้มีคุณสมบัติพิเศษ คือ แผ่นฟิลเตอร์สามารถกรองอากาศได้ละเอียดที่ 0.1 ไมครอน ขณะที่เชื้อไวรัสโควิดมีขนาดเฉลี่ย 0.125 ไมครอน อีกทั้งยังสามารถควบคุมความชื้นสัมพัทธ์เพื่อป้องกันเชื้อราและเชื้อโรคอื่นๆ ไม่ให้เจริญเติบโตในห้องผู้ป่วย และลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียภายในห้องผู้ป่วยได้ 98.3%

ระบบแลกเปลี่ยนอากาศแรงดันลบแบบสมบูรณ์นี้คิดค้นโดยคนไทย ได้มาตรฐานสากลขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO มีความปลอดภัยมาตรฐานศูนย์การควบคุมเชื้อโรค CDC USA และผ่านการทดสอบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และภาควิชาจุลชีววิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานงบประมาณจากกองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19ฯ จัดสร้าง “ระบบแลกเปลี่ยนอากาศแรงดันลบแบบสมบูรณ์ ( True Negative Pressure )แก่ 9 โรงพยาบาล ในทุกภูมิภาคของประเทศ ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิดครั้งแรก ประกอบด้วย

ภาคเหนือ-โรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก

ภาคตะวันออก-โรงพยาบาลชลบุรี

ภาคกลาง-โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า นนทบุรี / โรงพยาบาลชลประทาน กรุงเทพฯ / โรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพฯ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และ โรงพยาบาลปากช่องนานา จังหวัดนครราชสีมา

ภาคใต้-โรงพยาบาลยะลา และโรงพยาบาลท่าแพ จังหวัดสตูล

ปัจจุบันมีหลายโรงพยาบาลมีความต้องการติดตั้งระบบนี้ เพราะไม่เพียงแต่การรักษาผู้ป่วยโควิดเท่านั้น แต่ยังนำมาปรับใช้กับคนไข้โรคมะเร็ง คนไข้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง คนไข้ติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น วัณโรค ได้อีกด้วย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง