DITP ชี้ช่องผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทย ขยายตลาด “สินค้าสำหรับทารก” เจาะตลาดอินเดีย

12 พ.ค. 2564 | 10:21 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ค. 2564 | 10:31 น.

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ชี้ช่องขยายตลาด “สินค้าสำหรับทารก” เจาะตลาดอินเดีย หลังพบความต้องการยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แนะผู้ผลิต ผู้ส่งออกศึกษาและวางแผนเข้าสู่ตลาด ด้าน “ทูตพาณิชย์มุมไบ”ระบุสินค้าไทยแข่งขันได้ หากราคาสู้สินค้าจากจีน เวียดนาม บังกลาเทศได้ และควรใช้ช่องทางออนไลน์ทำตลาด รวมทั้งพิจารณาเข้าไปลงทุนทำธุรกิจ เหตุมีโอกาสทำตลาดได้ดีกว่า

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ เดินหน้าหาโอกาสส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทยตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งล่าสุดได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ ถึงโอกาสในการขยายตลาดสินค้าสำหรับทารกของไทยเข้าสู่ประเทศอินเดีย เพราะเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโตสูง แม้จะเป็นช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้เป็นสินค้าจำเป็นและจำนวนทารกแรกเกิดไม่ได้มีจำนวนลดลง ทำให้มีความต้องการใช้สินค้าสำหรับทารก เด็กเล็ก ตั้งแต่อาหาร ขวดนม ภาชนะ เสื้อผ้าและรองเท้า น้ำยาซักผ้าแบบอ่อน และอุปกรณ์ทำความสะอาด จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทย ที่จะศึกษาและวางแผนในการขยายตลาดส่งออกไปยังอินเดียได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ มีข้อมูลจาก Data Bridge Market Research คาดว่าในปี 2570 ตลาดของสินค้าสำหรับเด็กทารก เด็กอ่อน จะมีมูลค่ารวมถึง 5,407 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะมีการแข่งขันที่เข้มข้นจากผู้ผลิตภายในประเทศที่ก้าวเข้ามาในตลาด ซึ่งเดิมมีผู้ผลิตต่างชาติครองตลาดอยู่ อาทิ Nestle , Procter & Gamble , Hindustan Unilever และ Johnson and Johnson โดยผู้ประกอบการจากต่างชาติจะเน้นสินค้าที่มีคุณภาพและพยายามสื่อสารเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจและค่านิยมที่จะซื้อสินค้าที่มีความสะอาด ปลอดภัย ไม่เกิดการระคายเคืองต่อให้แก่ลูกน้อยเนื่องจากใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ แม้ว่าอาจมีราคาแพงกว่าก็ตาม

ขณะเดียวกัน ได้มีการประเมินว่าตลาดสินค้าสำหรับทารกจะขยายตัวได้อีกมาก หากมีการส่งเสริมผ่านช่องทางออนไลน์ โดยพบว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ยอดขายในส่วนของผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กทารก เด็กเล็กเพิ่มขึ้นถึง 60% จากช่วงเดียวกันของปีงบประมาณที่แล้ว (เม.ย.62-มี.ค.63) ส่วนใหญ่ผู้ซื้อสินค้ามักเป็นคนทำงานที่มีรายได้ปานกลางและอาศัยอยู่ในเมืองหลักอย่าง Pune , Bhopal , Amritsar , Dehradun , Patna , Kochi and Delhi เป็นต้น ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการกักตุนสินค้าจำเป็นในช่วงล็อกดาวน์ โดยสินค้าที่กำลังได้รับความสนใจ ได้แก่ เบาะที่นอนและผ้าห่ม กระดาษชำระ กระดาษเปียก มุ้งสำหรับเด็ก และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง อาทิ เครื่องนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อโรค (Electric Sterilizer) และเครื่องวัด/ติดตามสุขภาพเด็กทารก รวมถึงเฟอร์นิเจอร์และของเล่นสำหรับเด็กอ่อน

DITP ชี้ช่องผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทย ขยายตลาด “สินค้าสำหรับทารก” เจาะตลาดอินเดีย

น.ส.สุพัตรา แสวงศรี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ กล่าวว่า แม้ว่าอัตราการเกิดของคนอินเดียจะลดลงเล็กน้อย แต่โครงสร้างประชากรของอินเดียสะท้อนว่ายังมีทารกเกิดขึ้นใหม่อีกประมาณปีละอย่างน้อย 20 ล้านคน โดยสินค้าสำหรับทารกถือเป็นสินค้าจำเป็นและต้องเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานและความปลอดภัยด้วย ในขณะที่อินเดียกำลังพยายามลดการพึ่งพาการนำเข้าจากจีน จึงเป็นโอกาสของสินค้าไทยที่จะเข้ามาเป็นทางเลือกในตลาดหากมีราคาที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับแข่งขันอย่างจีน เวียดนาม และบังกลาเทศ

DITP ชี้ช่องผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทย ขยายตลาด “สินค้าสำหรับทารก” เจาะตลาดอินเดีย

สำหรับช่องทางการขายผ่านตลาดกลางออนไลน์ พบว่ามี MyBabyCart.com จะเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมในการซื้อ-ขายสินค้า โดยมีผู้ประกอบการผู้หญิงจำนวนมากนำสินค้ามาวางขาย นอกเหนือจากแพลตฟอร์มตลาดกลางทั่วไป อาทิ Amazon, Flipkart, Snapdeal และ Browntape โดยพบว่าผลิตภัณฑ์ดูแลเด็ก/ทารกเป็นกลุ่มสินค้าที่มีอัตราขยายตัวรองจากเสื้อผ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับแพลตฟอร์ม ตลาดออนไลน์รายเล็กที่มีอยู่ในตลาดอินเดีย ได้แก่ BabysJoy.com, LittleShop.in, NewBabyClothes.com, Hoopos.com และ Bonsaii.in

DITP ชี้ช่องผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทย ขยายตลาด “สินค้าสำหรับทารก” เจาะตลาดอินเดีย

DITP ชี้ช่องผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทย ขยายตลาด “สินค้าสำหรับทารก” เจาะตลาดอินเดีย

ส่วนโอกาสของสินค้าไทย พบว่า มีศักยภาพในตลาดระดับบน ได้แก่ สินค้าแฟชั่น อาทิ เสื้อผ้าและรองเท้า ภาชนะบรรจุอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า และของเล่นที่เน้นความปลอดภัย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรศึกษารูปแบบ ลักษณะหีบห่อ และราคาจากเว็บไซต์ของผู้ผลิตและตลาดออนไลน์ดังกล่าวข้างต้น เพื่อวางแผนการผลิตให้มีความแตกต่างและมีราคาที่แข่งขันได้ ส่วนผู้ประกอบการที่มีความพร้อมควรพิจารณาออกไปลงทุนทำธุรกิจร้านค้าปลีกแบบแบรนด์เดียวในอินเดียเพื่อจำหน่ายสินค้าทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ รวมทั้งขยายสาขาด้วยกลไกแบบแฟรนไชส์ไปสู่เมืองรองที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นช่องทางการแนะนำและสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าใหม่ รวมทั้งลดจำนวนผู้ค้าในห่วงโซ่มูลค่าซึ่งจะช่วยให้สามารถควบคุมราคาให้ไม่สูงเกินไปด้วย รวมทั้งเตรียมความพร้อมสำหรับการบุกตลาดอินเดีย เมื่อสถานการณ์โควิด -19 คลี่คลายเพราะมีช่องว่างทางการตลาดที่สินค้าไทยสามารถไปเจาะตลาดอินเดียต่อไป

********************
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
11 พฤษภาคม 2564