เรียกเก็บค่ารักษาโควิด-19 ต้องทำตามเกณฑ์ ฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำ-ปรับ

05 พ.ค. 2564 | 20:04 น.
2.1 k

อธิบดี สบส. แจง การเรียกเก็บค่ารักษาโรคโควิด 19 ของโรงพยาบาลเอกชน ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ครม.มีมติเห็นชอบ ทั้ง 3 ฉบับ ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติม เป็นสิทธิของผู้ป่วย และญาติที่จะเลือกรับบริการโดยชำระค่าใช้จ่ายเอง

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ระบบการดูแลประชาชน รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขได้ตระหนักดีว่า ในภาวะเช่นนี้การลดภาระให้กับประชาชนในเรื่องของค่ารักษาพยาบาลเป็นเรื่องสำคัญ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ประกาศว่า โรคโควิด 19 เป็นโรคฉุกเฉินและติดต่ออันตราย เป็นสภาวะฉุกเฉินที่ทุกคนในแผ่นดินไทย ต้องได้รับการรักษาพยาบาล ทั้งในภาครัฐ และเอกชน ซึ่งเป็นไปตามมติครม.ที่ประกาศเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 

ทั้ง 3 ฉบับ มีหลักเกณฑ์เงื่อนไขการเบิกจ่าย ดังนี้ ฉบับที่ 1 ประกาศใช้วันที่ 31 มีนาคม 2563 รายการยา ค่าห้อง ค่าเครื่องมือแพทย์ ค่าบุคลากร ครอบคลุมความจำเป็นในการดูแล ฉบับที่ 2 ประกาศใช้วันที่ 21 เมษายน 2563 ปรับเพิ่มรายการยาให้ครอบคลุม และฉบับที่ 3 ประกาศใช้วันที่ 27 เมษยน 2563 เพิ่มเติมให้ครอบคลุมในเรื่องรถรับส่งผู้ป่วย ค่าทำความสะอาดรถ และค่ารักษาอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน

สำหรับสถานพยาบาลเอกชน ให้ดำเนินการเรียกเก็บจาก สปสช.ตามบัญชีและอัตราแนบท้ายประกาศในส่วนสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติม ให้เป็นสิทธิของผู้ป่วย และญาติที่จะเลือกรับบริการโดยชำระค่าใช้จ่ายเอง โดยเมื่อผู้ป่วยเข้าไปรับการรักษาสถานพยาบาลจะต้องได้รับการดูแล 2 เรื่อง คือ ดูแลผู้ป่วยให้เกิดความปลอดภัย เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หากไม่ดำเนินตามประกาศ มีโทษในมาตรา 66 ซึ่งอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบสถานพยาบาลเอกชนฝ่าฝืนดำเนินการเรียกค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วย จำนวน 44 เรื่อง ผู้รับบริการ 74 ราย ขณะนี้ได้ดำเนินการไปตามกฎหมาย ซึ่งสถานพยาบาลได้คืนเงินผู้ป่วยทั้ง 74 รายแล้ว สำหรับเดือนเมษายนมีเรื่องคงค้างอยู่ระหว่างสอบสวน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง