จี้รัฐชดเชยรายได้ให้ผู้ใช้แรงงาน-ผู้ประกอบการรายเล็ก ที่ถูกกทม.สั่งปิดกิจการชั่วคราว

26 เม.ย. 2564 | 06:14 น.
อัปเดตล่าสุด :26 เม.ย. 2564 | 13:30 น.

“อนุสรณ์ ธรรมใจ” แนะรัฐจัดสรรงบประมาณชดเชยรายได้ให้กับผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการในกิจการขนาดย่อม-ขนาดเล็กทั้งหมด ที่ถูกคำสั่งปิดกิจการชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ชี้หากไม่สามารถฉีดวัคซีนให้ได้ระดับ 5 แสนคน/วัน ก็ควรเลื่อนการเปิดประเทศไปก่อน

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าววานนี้ (25 เม.ย.) ถึง การออกคำสั่งให้ปิดกิจการ ของกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ เพื่อ ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า จะทำให้ผู้ใช้แรงงานรายวัน และกิจการขนาดเล็ก-ขนาดย่อม ได้รับผลกระทบอย่างมาก  จึงขอเสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณ ชดเชยรายได้ให้กับผู้ใช้แรงงาน และผู้ประกอบการในกิจการขนาดย่อมและขนาดเล็ก ทั้งหมดที่ถูกคำสั่งปิดกิจการโดยอำนาจรัฐ เช่นกรณีของกรุงเทพมหานคร มีการสั่งปิดกิจการ 31 ประเภท เป็นระยะเวลาถึง 14 วัน

 

อนุสรณ์ ธรรมใจ

ทั้งนี้ การปิดกิจการดังกล่าวมีความจำเป็นเนื่องจากยอดการติดเชื้อรายวันของไทยขึ้นไปสูงกว่าประเทศอังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง นอกจากนี้ ไทยยังสามารถฉีดวัคซีนได้ไม่ถึง 2% ของประชากร อยู่ในอันดับรั้งท้ายในระดับโลกและในภูมิภาคอาเซียนในแง่ของอัตราการฉีดวัคซีน

ดังนั้น รัฐควรให้แรงจูงใจทางด้านภาษีและการหักลดหย่อนภาษีให้กับบุคคลหรือเอกชนที่ได้ช่วยเหลือกิจการสาธารณสุขของประเทศเพื่อรับมือระบาดระลอกสามและระลอกสี่ และให้ Tax Credit กับเอกชนที่ช่วยจัดหาวัคซีนและฉีดวัคซีน โดยให้นำเงินงบประมาณในปี 2564-2565 ที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนมาใช้ตามข้อเสนอดังกล่าว หรือ ออกพันธบัตรระยะยาวกู้เงินมาสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว

และแม้จะมีมาตรการ lockdown บางส่วน ประเมินว่า ผู้ติดเชื้ออาจเพิ่มจำนวนขึ้นไปแตะระดับหนึ่งแสนคนในช่วงเดือนมิถุนายน และการระบาดน่าจะแตะระดับสูงสุดต้นเดือนพฤษภาคม โดยน่าจะมีการติดเชื้อถึงวันละ 3,000-4,500 คนต่อวันได้ แล้วอาจทยอยลดลงได้หากการควบคุมมีประสิทธิภาพและเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ 500,000 คนต่อวัน แต่หากไม่สามารถฉีดวัคซีนให้ได้ในระดับดังกล่าว นายอนุสรณ์แนะนำให้เลื่อนการเปิดประเทศไปก่อน

“ก่อนหน้านี้ เคยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสองอาจทรุดหนักถึงขั้นติดลบได้เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกจากการแพร่ระบาดระลอกสามและทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปีไม่น่าจะถึง 2% หากปล่อยให้มีคนติดเชื้อมากกว่าหนึ่งแสนคนขึ้นไป ถึงเปิดประเทศแต่จะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา การคาดการณ์ว่า นักท่องเที่ยวจากต่างชาติจะเข้ามาในประเทศไทยสามล้านคนเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้” นายอนุสรณ์ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวและว่า การประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้จะต้องทบทวนกันใหม่ หลังจากเห็นภาพที่ชัดเจนเรื่องประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการฉีดวัคซีนและการควบคุมการแพร่ระบาดระลอกสาม

นอกจากนี้ ยังเสนอว่าต้องเร่งฉีดวัคซีนพร้อมเตรียมการรับมือผู้ป่วยจำนวนมาก ทั้งการสร้างโรงพยาบาลภาคสนามเพิ่ม การเตรียมอุปกรณ์การทางการแพทย์และยารักษาโรคให้เพียงพอ การจัดการผลิตหน้ากากอนามัยและเจล ล้างมือและแอลกอฮอล์ให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยตนขอเสนอให้รัฐบาลสั่งการให้หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขและกองทัพจัดสร้างโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น เพื่อให้โรงพยาบาลหลักสามารถรองรับผู้ป่วยหนักในโรคร้ายอื่นๆได้อย่างเต็มที่ รัฐต้องสนับสนุนให้โรงงานเร่งผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อให้เพียงพอต่อความต้องการเพิ่มขึ้นในอนาคต 

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า การระบาดระลอกสามก่อปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้นอีกจากวิกฤติเลิกจ้างที่ดำรงอยู่แล้ว สถานการณ์เลิกจ้างอาจรุนแรงกว่าปีที่แล้ว หากภาคส่งออกไม่ขยายตัวตามเป้า ส่วนการคาดหวังนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากกว่า 3 ล้านคนในปีนี้มีความเป็นไปได้น้อยมาก แรงงานในภาคการท่องเที่ยว การบริการอาหาร กิจการบันเทิงและสันทนาการมีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างสูงสุด ฉะนั้น หากส่งออกไทยสามารถขยายตัวได้ในระดับมากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนต่อเนื่องจากการขยายตัวเป็นบวกในระดับสูงในเดือนมีนาคมจะช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงานในภาพรวมได้บ้าง

โดยสินค้าที่ขยายตัวสูง คือ กลุ่มอาหารและสินค้าเกษตร สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง ชุดป้องกันเชื้อ เป็นต้น กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า การจ้างงานในกิจการอุตสาหกรรมส่งออกเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นแต่ไม่สามารถช่วยทำให้การจ้างงานในบางภาคเศรษฐกิจดีขึ้นโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและธุรกิจบันเทิงกลางคืนเพราะเป็นตลาดแรงงานคนละส่วนกัน หากสถานการณ์การแพร่ระบาด covid-19 ในโลกยังยืดเยื้อรุนแรง บริษัทผลิตและจำหน่ายวัคซีนและยา อุปกรณ์ทางการแพทย์และบริการประกันสุขภาพจะยังคงมีการเติบโตสูงไปอีกหลายปี 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง