ผลศึกษาของยูเอ็นชี้ โควิดฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกให้พัฒนาล่าช้าถึง 10 ปี

28 มี.ค. 2564 | 03:34 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มี.ค. 2564 | 13:37 น.

รายงานของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ชี้ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การพัฒนาของเศรษฐกิจโลกเกิดความล่าช้าถึง 10 ปี แนะนานาประเทศเร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้เผยแพร่รายงานเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (25 มี.ค.) บ่งชี้ให้เห็นว่า การแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 อาจทำให้ การพัฒนาเศรษฐกิจทั่วโลก ล่าช้าไปจากเป้าหมายเดิมถึง 10 ปี โดยองค์การระหว่างประเทศมากกว่า 60 แห่งซึ่งร่วมเขียนรายงานนี้ต่างเรียกร้องให้มีการระดมทุนเพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้ เศรษฐกิจโลก กลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว

นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการยูเอ็น

เนื้อหาของรายงานกล่าวโดยสรุป คือ

  • การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกประสบกับภาวะถดถอยครั้ง “เลวร้ายที่สุด” ในรอบ 90 ปี
  • ประชากรกลุ่มเปราะบางที่สุดจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด
  • คาดการณ์ว่าจะเกิดการสูญเสียงาน 114 ล้านตำแหน่งทั่วโลก
  • ประชากรโลกจะตกอยู่ในภาวะยากจนขั้นรุนแรงราว 120 ล้านคน

ซึ่งการป้องกันไม่ให้อีกหลายประเทศเผชิญการพัฒนาที่ล่าช้าไปอีก 10 ปีนั้น มีเพียงการเร่งดำเนินการอย่างทันท่วงทีเท่านั้น

อามีนา โมฮัมเหม็ด รองเลขาธิการยูเอ็น กล่าวว่า “โรคระบาดครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นถึงอันตรายจากการที่เราเพิกเฉยต่อการพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างประเทศต่างๆ ทั่วโลก โลกที่มีแต่ความแตกแยกนับเป็นหายนะสำหรับทุกคน”  

ดังนั้น การช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะถูกต้องตามหลักศีลธรรมเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของทุกคนด้วย

 

ผลศึกษาของยูเอ็นชี้ โควิดฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกให้พัฒนาล่าช้าถึง 10 ปี

รายงานยังชี้ให้เห็นว่า เงินทุนที่ใช้ในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจทั่วโลกนั้นสูงถึง 16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 497 ล้านล้านบาท) แล้วจนถึงขณะนี้ แต่ในจำนวนนี้ถูกนำไปใช้ในประเทศกำลังพัฒนาไม่ถึง 20% อีกทั้งในบรรดา 38 ประเทศที่เปิดตัววัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มีเพียง 9 ประเทศเท่านั้นที่อยู่นอกกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

ก่อนการระบาดของโควิด-19 จะอุบัติขึ้น ราวครึ่งหนึ่งของประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดและประเทศที่มีรายได้ต่ำอื่นๆ มีความเสี่ยงสูงหรือมีปัญหาด้านหนี้สินอยู่แล้ว ระดับหนี้สินของประเทศเหล่านี้ได้ทะยานขึ้นไปอีกหลังเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งสถานการณ์ในประเทศยากจนที่สุดในโลกเหล่านี้อาจมีส่วนทำให้การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573 ของยูเอ็น ต้องล่าช้าไปจากเป้าหมายเดิมถึง 10 ปี

รายงานแนะนำให้ประเทศต่างๆ ต่อต้าน “ลัทธิวัคซีนชาตินิยม” พร้อมจัดหาเงินกู้พิเศษให้ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด รวมทั้งจัดหาเงินทุนและออกนโยบายบรรเทาหนี้สินเพื่อช่วยประเทศเหล่านี้รับมือกับการแพร่ระบาดและผลกระทบในเชิงลบจากโควิด-19 ได้มากขึ้น

หลิว เจิ้นหมิน รองเลขาธิการยูเอ็นด้านกิจการเศรษฐกิจและสังคมกล่าวว่า ช่องว่างระหว่างประเทศร่ำรวยและยากจนจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น ขณะที่ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ ประกันสังคม ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

IMF คาดเศรษฐกิจโลกปีนี้ขยายตัว 5.5% อานิสงส์วัคซีนโควิด

อังค์ถัดเตือนรัฐบาลทั่วโลก อย่าผ่อนคันเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ผลสำรวจของ PwC เผย ซีอีโอ 3 ใน 4 คาดเศรษฐกิจโลกกลับมาโตปีนี้

“เฟด” ตรึงดอกเบี้ยต่ำถึงปี 66 พร้อมขยับคาดการณ์ GDP ปีนี้และปีหน้าเป็น 6.5% และ 3.3% ตามลำดับ

เปิดใจ “เจอโรม พาวเวลล์” เชื่อ เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่ง เศรษฐกิจโลกก็ฟื้น