ตลาดงานปรับตัว แรงงาน Outsource เพิ่มปริมาณ

04 ก.พ. 2564 | 11:25 น.
1.2 k

แมนพาวเวอร์กรุ๊ป คาดตลาดแรงงานปี 2564 ยังสะดุด จากสภาพเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ขณะที่ภาพมีการปรับตัว ทั้งลดต้นทุน และปรับรูปแบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่น มีการจ้างงานแบบระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงการจ้างงานแบบ Outsource จะได้เห็นมากขึ้น พร้อมเผย งานขายและการตลาด ยังเป็นอาชีพมาแรงแห่งปี

นางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า ภาพรวมทิศทางตลาดแรงงานปี 2564 ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว จากบางสายงานโตสวนกระแส บางสายงานความต้องการลดลงถึงคงที่ จากผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและโควิด-19 จึงยังไม่มีการขยายโครงสร้าง

สุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป

นอกจากนี้ องค์กรธุรกิจยังมีการปรับกลยุทธ์และออกแบบการทำงานใหม่เพื่อลดต้นทุนมากขึ้น รวมถึงมีการปรับโครงสร้างองค์กร และออกแบบกระบวนการทำงานใหม่ ส่งผลให้รูปแบบการจ้างงานมีความยืดหยุ่น จากการจ้างงานแบบประจำมาเป็นรูปแบบการจ้างงานระยะสั้นประเภทต่างๆ ทั้งการจ้างงานชั่วคราว การจ้างงานแบบสัญญาจ้าง และการจ้างงานในรูปแบบ Outsource จะเป็นที่นิยมแพร่หลาย ตอบโจทย์การขาดแคลนกำลังคนได้ตามความต้องการ
 

ตลาดแรงงาน ยังมีแนวโน้มการนำเทคโนโลยีในเข้ามาเสริมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในบางขั้นตอนการทำงาน และเชื่อมโยงแพลทฟอร์มของส่วนงานต่างๆ อาทิ พนักงานขายหน้าร้าน พนักงานบริการลูกค้า งานธุรการ พนักงานขนส่ง พนักงานฝ่ายการผลิต ส่งผลให้แรงงาน ต้องเพิ่มทักษะการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล

ส่วนกลุ่มคนทำงานในแต่ละองค์กร พบว่า จะมีความหลากหลายและมีกลุ่มคนทำงานหลายช่วงอายุ (Multi-Generational Pool of Workers) โดย Gen X กับ Y จะมีสัดส่วนมากที่สุด และในกลุ่ม Gen Z จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ซึ่งคนแต่ละรุ่นมีวิธีคิดและการทำงานที่แตกต่างกันไปตามประสบการณ์ และเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพนักงานที่จะต้องเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกัน 

อัตราส่วนจำนวนประชากรในกำลังแรงงานของไทย


อีกหนึ่งแนวโน้มที่จะเห็นในโลกของการทำงาน กลุ่มแรงงานจะเปลี่ยนแปลงไปสู่การสร้างทางเลือกเพื่อสร้างรายได้ เพิ่มขึ้น อาทิ กลุ่มคนทำงานประจำยังคงรักษาความมั่นคงในอาชีพ และจะมีการสร้างรายได้เสริมจากการรับงานอิสระประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสายงานหรือเป็นเรื่องที่ถนัด เช่น ทำขนม ทำอาหารขายออนไลน์ หรือการขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น  

10 อันดับสายงานที่ต้องการของแรงงาน

ส่วนกลุ่มแรงงานที่ทำงานอิสระจะรับทำงานที่หลากหลายมากขึ้น บางคนผันไปเป็นรายได้หลักและการสร้างความมั่นคงจากงานระยะสั้นหลายๆ งาน โดยสามารถบริหารจัดการและเลือกทำงานพร้อมๆ กันได้หลายอย่าง นอกจากนี้ กระบวนการเรียนรู้และการเสริมทักษะต่างๆ เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถในระดับบุคคลจะเป็นตัวเชื่อมโยงแรงงานและอาชีพต่างๆ ให้สามารถทำงานได้หลากหลายรูปแบบทั้งงานปัจจุบันและงานในอนาคตได้       

จากผลสำรวจจากกลุ่มลูกค้าของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย 10 อันดับสายงาน ที่ตลาดงานต้องการ (ภาพในตาราง) ดังนี้  

ตลาดงานปรับตัว แรงงาน Outsource เพิ่มปริมาณ

อันดับ 1 สายงานขายและการตลาด 23.10%  อันดับ 2 สายงานบัญชีและการเงิน 9.58% อันดับ 3 สายงานขนส่งและงานโลจิสติกส์ 9.50% อันดับ 4 สายงานวิศวกร 8.52% อันดับ 5 สายงานไอที 7.78% อันดับ 6  งานระยะสั้นต่างๆ 6.96% อันดับ 7 สายงานธุรการ 6.80% อันดับ 8 สายงานบริการลูกค้า 5.32% อันดับ 9 สายงานการผลิต 5.24% และอันดับ 10  สายงานบริการทางการแพทย์และสุขภาพ 3.28% ส่วน 10 อันดับสายงานที่ตลาดแรงงานต้องการ ดังนี้ อันดับ 1สายงานขายและการตลาด  29.70% อันดับ 2  สายงานวิศวกร 15.23% อันดับ 3 สายงานบริการลูกค้า  13.43% อันดับ 4 สายงานธุรการ 7.40% อันดับ 5  สายงานทรัพยากรบุคคล 7.37% อันดับ 6 สายงานไอที  5.9% อันดับ 7 สายงานบัญชีและการเงิน  5.66% อันดับ 8 สายงานขนส่งและงานโลจิสติกส์  5.51% อันดับ 9 งานระดับผู้บริหาร  3.51% และอันดับ 10  สายงานการผลิต  2.28%

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าตลาดงานและแรงงาน ยังมีความสอดคล้องในสัดส่วนความต้องการของตลาดกับแรงงาน (ภาพในตาราง) อีกทั้ง ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่าสายงานขนส่งและโลจิสติกส์มีอัตราการเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาอยู่ 4.83%  ตามทิศทางธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ, ค้าขายออนไลน์ และธุรกิจเดลิเวอรี่  ทางด้านงานขายและการตลาดขึ้นอันดับ 1 มา 5 ปีต่อเนื่องกันซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความต้องการเติบโตทางธุรกิจให้ความสำคัญกับบุคลากรที่เป็นตัวกลางในการนำเสนอสินค้าและบริการ โดยเฉพาะสินค้าความงาม และสินค้าที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ ส่วนการตลาดเข้ามาวางกลยุทธ์ทั้งออนไลน์และออฟไลน์สู่การนำเสนอการสื่อสารเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์หรือบริการโปรโมชั่นและกิจกรรมทางการตลาดเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง

เปรียบเทีบมความค้องการตลาดแรงงานและแรงงาน

นอกจากนี้ ในกลุ่มงานระยะสั้นประเภทต่างๆ งานบริการทางการแพทย์และสุขภาพมีความต้องการแรงงานเป็นจำนวนมากและเป็นตลาดงานส่วนที่มีความสำคัญในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปีนี้ แต่งานในกลุ่มงานธุรการ งานบริการลูกค้าและงานการผลิตก็ยังคงมีความต้องการสูง เนื่องจากผู้ประกอบการในประเทศส่วนใหญ่ยังคงเป็นธุรกิจและอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมและกำลังเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนแปลง แม้งานเหมือนเดิมแต่ก็มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทั้งบางส่วนจนถึงหลายส่วน จึงทำให้แรงงานต้องพัฒนาทักษะที่มารองรับกับการทำงานกับเทคโนโลยีโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี ในกระบวนการทำงานและการผลิต เป็นต้น

 

พร้อมกันนี้ ยังเผยถึงอาชีพที่มาแรงในปี 2564 มี 10 อาชีพตามผลสำรวจ ประกอบด้วย อันดับหนึ่ง งานขายและการตลาด อันดับสอง งานบัญชีและการเงิน  อันดับที่สามงานขนส่งและโลจิสติกส์ อันดับสี่งานวิศวกร อันดับที่ห้า งานไอที อันดับที่หกงานระยะสั้นต่างๆ อันดับเจ็ดงานธุรการ  อันดับแปด งานบริการลูกค้า อันดับเก้างานการผลิตและ อันดับสิบ งานบริการทางการแพทย์และสุขภาพ

เจาะลึกอาชีพมาแรงแห่งปี

นอกจากนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยถึงกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สูงสุด 5 อันดับ ประกอบด้วย 1.ธุรกิจท่องเที่ยว รายได้ลดลง 73% 2.ธุรกิจบันเทิง รายได้ลดลด 59% 3.ธุรกิจรับจ้าง บริการ รายได้ลดลง 44% 4.ธุรกิจการผลิต รายได้ลดลง 42% 5.ธุรกิจอาหาร รายได้ลดลง 41% จากข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับแนวโน้มที่ภาคแรงงานต้องเตรียมพร้อมในการปรับเปลี่ยนรับการเปลี่ยนแปลงที่ได้รับผลกระทบ  อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าวิกฤตดังกล่าวจะปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานและธุรกิจต่างๆจะปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในตลาดงานและแรงงานในปีนี้ต่อไปจนถึงอนาคต การทำงานของแรงงานจะต้องตอบโจทย์ตลาดงาน มีทักษะที่มีความหลากหลาย พร้อมกับการพัฒนาตนเองด้วยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง อันจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นบนพื้นฐานของความสมดุลในชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว โดยแรงงานสามารถออกแบบความมั่นคงของชีวิตได้ตามสถานการณ์และบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป 

ดังนั้น หากทุกคนมีการเตรียมตัวและตั้งรับที่ดีโดยเฉพาะภาคแรงงาน แมนพาวเวอร์กรุ๊ปเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อไป แม้ในยามวิกฤตที่เกิดขึ้น หากภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมและแรงงานเรียนรู้การเปลี่ยนแปลง ปรับตัว ยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ เราจะสามารถค้นพบ “ทางเลือกสู่ทางรอดแรงงานไทยปี 64” เท่าทันยุคเปลี่ยนผ่านที่รวดเร็วได้ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

5 วิธีการทำงานอย่างแชมป์

Walk the Talk ผู้นำ "ทำตามที่พูด" บทเรียน โจ ไบเดน

7 วิธีคิด ดึงมนุษย์เงินเดือนออกจาก Comfort Zone

'เรียนรู้-อยู่รอด' 7 แนวคิด 'แจ๊ค หม่า'

Upskill-Reskill ก่อนกลายเป็น "ชนชั้นไร้ประโยชน์"