ไขข้อข้องใจ "วัคซีนไข้หวัดใหญ่"ป้องกันโควิดได้หรือไม่

09 ม.ค. 2564 | 05:30 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ม.ค. 2564 | 08:35 น.
1.1 k

แพทย์เฉลย "วัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันโควิดได้หรือไม่" พร้อมอธิบายความแตกต่างของทั้ง 2 โรคและวิธีป้องกัน

นายแพทย์วีระยุทธ บุญเกียรติเจริญ และ ทีมเภสัชกร โรงพยาบาลเปาโล รังสิต ได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับอาการโควิด-อาการไข้หวัดใหญ่ ความแตกต่างของทั้ง 2 อาการนี้ รวมไปถึงไขข้อข้องใจว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้นจะสามารถป้องกันโควิดได้หรือไม่ โดยเนื้อหาในบทความมีดังต่อไปนี้ 


-ไข้หวัดใหญ่กับโควิด-19 มาจากไวรัสตัวเดียวกันหรือไม่ ?


เชื้อก่อโรคไข้หวัดใหญ่กับโควิด-19 เป็นเชื้อคนละตัวกัน โดยเชื้อก่อโรคโควิด-19คือ Coronavirus (CoV) ส่วนเชื้อก่อโรคไข้หวัดใหญ่เป็นเชื้อ Influenza virus ซึ่งสายพันธุ์แตกต่างกันไปในแต่ละปี

 

 

-อาการของไข้หวัดใหญ่กับโควิด-19แตกต่างกันอย่างไร ?


อาการของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จะมีไข้สูง 38-40 องศาเซลเซียส ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อกล้ามเนื้อ ซึ่งแตกต่างจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพียงเล็กน้อย คือ ผู้ป่วยโควิด-19 อาจจะมีอาการหายใจลำบาก จมูกไม่ได้กลิ่น และความสามารถในการรับรสลดลง

 

 

-วิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่กับโควิด-19 แตกต่างกันอย่างไร ?


ไข้หวัดใหญ่ -โควิด-19


สวมหน้ากากอนามัย


ล้างมือด้วยสบู่ และแอลกอฮอล์บ่อยๆ


หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด


ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และลดความรุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่ ฉีดวัคซีนโควิด-19 (ในประเทศไทยยังไม่มี)


 


-ใครควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่บ้าง ?


1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป


2. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน


3. ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน


4. ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป


5. ผู้พิการทางสมองช่วยเหลือตนเองไม่ได้


6. โรคธาลัสซีเมีย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมถึงผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)

 


7. โรคอ้วน น้ำหนัก > 100 กก. หรือ BMI > 35 กก. ต่อ ตร.ม.

 

-การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่ ?

สรุปแล้วการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่สามารถป้องกันโควิด -19 ได้ เนื่องจากโรคติดเชื้อทั้ง 2 มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสคนละชนิดกัน แต่การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ 2 โรคนี้พร้อมกันได้ 


โดยมีการศึกษาในสหรัฐอเมริกา และจีนพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 60% จะมีการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอร่วมด้วย ซึ่งหากผู้ป่วยมีการติดเชื้อ 2 โรคนี้พร้อมกันจะเพิ่มความรุนแรงของโรค และโอกาสในการเสียชีวิตสูงถึง 29-55% 


ดังนั้นการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ 2 โรคนี้พร้อมกัน ลดความรุนแรงของโรค และลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้